ข่าว

สมุทรโฆษ...

สมุทรโฆษ...

11 ก.ค. 2552

เมื่อวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมอ่านหนังสือเก่าเล่มหนึ่งมีชื่อดังที่จั่วหัวไว้ข้างบนนั่น

 สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมคำฉันท์ซึ่งมีผู้สันนิษฐานในระยะหลังนี้ว่า เป็นวรรณกรรมเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้น มีอายุกว่าๆ 500 ปีแล้ว

 หนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนโบราณเล่มนี้ “วรรณคดีสโมสร” สมัยรัชกาลที่ 6 ได้ยกย่องให้เป็น หนังสือคำฉันท์ที่ดีเยี่ยม เพราะสมบูรณ์พร้อมทั้งด้วยเนื้อหาอันเป็นข้อคิดคติธรรม และมีภาษาที่ไพเราะ เรียกว่างดงามทั้งด้านอรรถและพยัญชนะ ทำนองนั้น

 สมุทรโฆษคำฉันท์กล่าวถึงชีวิตการผจญภัยของกษัตริย์ที่ชื่อว่า พระสมุทรโฆษแห่งเมืองพรหมบุรี ซึ่งมีทั้งสงคราม ความรัก และการพลัดพราก อันเป็นเค้าเรื่องเดียวกันกับกษัตริย์องค์ที่ชื่อว่า พระมหาชนก ในทศชาติ

 ฉากที่อยากจะยกมาให้อ่านกันก็คือฉากสงครามที่เหล่าบรรดาพระยา ท้าวทั้งสิบตน รวมตัวกันก่อสงครามเข้ารบสู้กับพระสมุทรโฆษ เพื่อแย่งชิงนางพินทุมดี แล้วพ่ายแพ้ในที่สุด

 สภาพของกองทัพที่บังอาจต่อกรกับพระสมุทรโฆษผู้ “โฉมเฉกอินทรา ธิราชเจ้าไตรตรึงษ์” เป็นอย่างไร คำฉันท์ได้บรรยายเอาไว้มีความว่าดังนี้
 ช้างม้ารี้พลนาศก็กลาดศพประทะ

 เลือดเพียงดั่งสระทั่ว   ธรา
 เกิดเป็นภักษแก่กังสโกรญจครุฑกา
 บินมาวว่อนร่อน   ก็ร้อง
 ก้มกัดกินศพพฤทรยินสุข บ ต้อง
 พร้อมไพรีใดใด    บ พานฯ...

 “กังสโกรญจครุฑกา” แปลความได้ว่า ซากศพของผู้บังอาจต่อกรสู้รบกับพระสมุทรโฆษ รังก็มีแต่จะต้องตกเป็นภักษาหาร เป็นเหยื่อแก่ฝูงแร้งกาทั้งหลายเข้ากัดกินอย่างที่เห็น

 ทั้งนี้ก็เพราะด้วย
 “ต่อยุทธด้วยพระนฤบดี  บ มิรู้แรงพี -
 ริยพระผู้เดโชไชย   
 เฉกตักแตนแหนโหมไฟ  เต้นตกตายไป
 คในสิขานลลาญฯ”

 “สิขานล” หมายความว่า เปลวไฟ ก็หมายถึงว่าผู้ที่บังอาจ “ต่อยุทธด้วยพระนฤบดี” นั้นที่สุดแล้วก็จะมีสภาพที่ไม่ต่างไปจากฝูงแมลงบินเข้าสู่กองไฟ

 คัดมาให้อ่านกันก็เพื่อที่จะให้ใครบางคนบางกลุ่ม สังวรไว้ให้จงหนักครับ