ข่าว

ลมหายใจ "เพชฌฆาต"...เชาวเรศน์ จารุบุณย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5 โมง 21 นาที วันที่ 11 ธันวาคม 2545 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน หลังเสียงปืน 1 ชุด 10 นัด จากกระบอกปืนเอชเค เอ็มพี 5 แผดสนั่นแดนประหาร กระสุนขนาด 9 มม.ทะลวงหัวใจ น.ช.สุดใจ ชนะ หรือน้อย ผู้ต้องโทษประหารคดียาเสพติดจนสิ้นลมหายใจ การปฏิบัติหน้าที่ของ "เชาวเรศน์ จารุ

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการประหารชีวิตนักโทษครั้งแรกเมื่อปี 2478 ผ่านไป 68 ปี วันที่ 19 ตุลาคม 2546 รัฐบาลก็ประกาศยกเลิกการประหารชีวิตด้วยอาวุธปืนมาเป็นการประหารชีวิตด้วยยาแทน เชาวเรศน์ จึงกลายเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้าย และตำนานที่ยังมีลมหายใจของกรมราชทัณฑ์...หลังจากวางมือเขายังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ดูแลนักโทษต่างชาติ เรือนจำกลางบางขวาง ไม่นานก็เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ออกมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น เวลาว่างก็รวบรวมเอาประสบการณ์ต่างๆ มาถักร้อยเป็นเรื่องราวตีพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสัมผัส

 ปัจจุบัน เชาวเรศน์ อายุ 61 ปี เป็นหนุ่มใหญ่ที่สุภาพและรุ่มรวยอารมณ์ขัน แม้ว่าวันนี้เขาจะต่อสู้อยู่กับโรคร้ายอย่างมะเร็ง ท่ามกลางกำลังใจของลูกและภรรยาที่รอบข้าง ทุกๆ 10 วัน เขาจะเดินทางจากบ้านพักอันอบอุ่นย่านนนทบุรีมาโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อทำคีโมและให้แพทย์ตรวจดูอาการอย่างใกล้ชิด แม้การเดินทางไปกลับกินระยะทางค่อนข้างไกล และด้วยวัยกับสังขารที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย แต่ เชาวเรศน์ ก็มีกำลังใจหนักแน่นที่จะผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ ถึงกับเปรยด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและนุ่มนวล

 "ตอนนี้ยังแข็งแรงอยู่ ใจยังสู้ ก็แค่เดินทางไปมาโรงพยาบาลทุกๆ 10 วัน แบบเดือนหนึ่งนอนโรงพยาบาล 3 วัน อยู่บ้าน 10 วัน ควบคุมเรื่องอาหารการกินเล็กๆ น้อยๆ ตอนนี้กินอาหารมันๆ ไม่ได้ ไม่ต้องห่วง ยังคุย ยังเขียนหนังสือได้ตามปกติ ล่าสุดเขียนเรื่องผีไปอีกเรื่อง เดี๋ยวจะออกมาวางแผงอีกเรื่อง" เชาวเรศน์ กล่าวด้วยเสียงนุ่มนวลพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

 เชาวเรศน์ เริ่มต้นชีวิตราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2515 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้คุมมีหน้าที่ดูแลผู้ต้องขัง จู่โจม และตรวจค้น กระทั่งวันหนึ่งเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงมาไม่ทันนำนักโทษเข้าหลักประหาร ผู้บังคับบัญชาจึงให้เขามาทำหน้าที่แทน ตั้งแต่นำนักโทษออกจากห้องไปห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รับประทานอาหารมื้อสุดท้าย ก่อนจะเดินเข้าหลักประหาร จากนั้นก็เข้ามาทำหน้าที่ถาวร เลื่อนขึ้นเป็นคนตั้งศูนย์ปืน ซึ่งเขาเคยบอกไว้ครั้งหนึ่งว่า เครียดพอๆ กับการเป็นมือเพชฌฆาต

 "ศูนย์ปืนต้องเที่ยง ไม่อย่างนั้นนักโทษจะทรมาน"

 เชาวเรศน์ ทำหน้าที่พี่เลี้ยงนักโทษประหารและตั้งศูนย์ปืนอยู่ 12 ปี วันที่ 23 พฤศจิกายน 2527 เขาก็ก้าวเข้ามาเป็นเพชฌฆาตเต็มตัวต่อจาก "มุ่ย จุ้ยเจริญ"

 "ผมจำได้แม่นเพราะวันที่ 22 พฤศจิกายน เป็นวันเกิดของผม พอข้ามมา 1 วันก็ต้องมาประหารคนครั้งแรก ผมยอมรับว่าตื่นเต้นมาก มันแตกต่างออกไป ไม่เหมือนทุกครั้งที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงและตั้งศูนย์ปืน ต้องทำใจอยู่นานพอดู คิดเสียว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ" เชาวเรศน์ เท้าความ

 สิ่งที่หนุ่มใหญ่ผู้นี้ถือปฏิบัติขณะทำหน้าที่เพชฌฆาตคือ ก่อนวันประหารเขาจะไม่รับรู้ว่านักโทษคนนั้นเป็นใคร มาจากไหน และทำอะไรผิดมา แต่จะตั้งใจทำหน้าที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดอาการไขว้เขวขณะลั่นไก เพื่อให้กระสุนเข้าตรงเป้าและสิ้นใจตายโดยเร็วที่สุด นักโทษจะได้ไม่ทรมาน สำหรับสิ่งที่สร้างความหนักใจให้คนทำหน้าที่ประหารคือ นักโทษเมื่อรู้กำหนดชีวิตตัวเองจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ โดยเฉพาะในคดียาเสพติดซึ่งมีสถิติประหารมากที่สุด ดังนั้นพี่เลี้ยงนักโทษจะต้องให้เขารับรู้ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน โดยใช้วิธีที่เรียกกันว่าเอาน้ำเย็นเข้าลูบ

 "ฟังเขาพร่ำบ่นเรื่องต่างๆ นานา ทั้งการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ ระบายความอัดอั้นตันใจ อย่าไปขัดใจเขา เอากระดาษปากกาให้เขาเขียนจดหมายสั่งเสียถึงลูกเมีย พยายามทำให้เขาสบายใจอย่าขัดขืน"

 ตลอด 30 กว่าปีในชีวิตข้าราชการกรมราชทัณฑ์ แถมยังเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน เชาวเรศน์ในวันนี้ยอมรับว่าช่วงแรกๆ ของการเป็นเพชฌฆาตลั่นไกสังหารนักโทษ เขาทุกข์ใจพอสมควร เพราะเป็นการยากมากที่คนธรรมดาคนหนึ่งจะเข่นฆ่าคนอีกคน ที่มีความรักชีวิตเหมือนกัน แต่ก็ต้องทำไปตามหน้าที่และคิดเสียว่า เขาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลก็ช่วยให้สบายใจขึ้น ขณะเดียวกันการคลุกคลีอยู่กับงานราชทัณฑ์และนักโทษหลากหลายชีวิตและต่างที่มา ทำให้มองเห็นเส้นทางชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนเป็นถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นอดีตนักการเมืองชื่อดังชนิดพูดชื่อออกไปทุกคนต้องร้องอ๋อ กลายเป็นสัจธรรมของชีวิตที่ว่าด้วยเรื่องกฎแห่งกรรม ใครทำผิดก็ต้องได้รับโทษ !?!

 ที่ผ่านมา เชาวเรศน์ มักเคยพบกับคำถามเดิมๆ อยู่เสมอๆ คือ มีพระอะไรดีที่ช่วยปกปักรักษาและคุ้มครองจากดวงวิญญาณนักโทษ คำตอบคือไม่มี ยกเว้นสิ่งที่เขาถือปฏิบัติเป็นประจำนั่นคือทุกครั้งที่ประหารนักโทษแล้ว เขากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการประหารจะไปทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งทำติดต่อกันเสมอมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ เวลาไปพบเจอกับผู้คนได้พูดคุยก็จะพยายามบอกให้พวกเขาได้ตระหนักถึงกรรมและการกระทำผิดกฎหมาย จะส่งผลอย่างไรในบทสุดท้ายของชีวิต

 "ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เพชฌฆาต ไม่เสียใจเลย ทุกอย่างถูกกำหนดมา ผมทำตามหน้าที่ ครั้งหนึ่งเป็นความท้าทายว่าเราทำได้ ถ้าเราไม่ทำใครจะทำ ถ้าคนเห็นใจเราเขาก็คิดว่าเราเสียสละ อุตส่าห์ทำหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ ถึงตอนนี้ผมได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว" เชาวเรศน์ หยุดพูดเมื่อถามว่าการทำหน้าที่เพชฌฆาตกลัวสิ่งไหนมากที่สุด ก่อนจะให้คำตอบอย่างคาดไม่ถึง

 "อืม (คิดอยู่นาน) เคยกลัวอยู่เรื่องหนึ่งนะ คือ ผมมีลูกสาว พอมีผู้ชายมาจีบ ถ้าเขารู้ว่าผมเป็นเพชฌฆาตเขาจะรู้สึกยังไง" เพชฌฆาตอารมณ์ดีกล่าวพลางหัวเราะร่วน

 วันนี้เพชฌฆาตผู้เป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างแข็งแกร่งอย่างที่ผู้ป่วยคนหนึ่งพึงจะมีและเป็นได้ เขาอยากจะฝากบอกไปถึงคนรุ่นหลังถึงเรื่องการทำความดี เพื่อหลีกเลี่ยงดินแดนกำแพงกรรมและแดนประหาร แม้วันนี้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ไม่มีเสียงปืนให้สั่นประสาทและบีบหัวใจให้เต้นระรัวเหมือนในอดีต แต่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตไม่ได้แตกต่างออกไปเลยนั่นคือ...ความตาย   

 ปูมชีวิต 'เพชฌฆาต' คนสุดท้าย

 เชาวเรศน์ จารุบุณย์ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2491 จบการศึกษาชั้น ม.6 จากโรงเรียนวัดราชาธิราช สมรสมีบุตรธิดารวม 3 คน รับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2515 ตลอด 18 ปีที่ทำหน้าที่เพชฌฆาต ทำหน้าที่ประหารชีวิตนักโทษทั้งสิ้น 55 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักโทษหญิงเพียง 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดให้โทษ รองมาเป็นคดีฆ่าและข่มขืน ปี 2551 เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เรือนจำกลางบางขวาง

 สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้คือ ก่อนหน้าจะมารับราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์ เชาวเรศน์เคยเป็นนักดนตรีตระเวนเล่นกีตาร์ตามแคมป์ทหารอเมริกันใน จ.อุบลราชธานี มีความถนัดเพลงสากลมากที่สุด จนกระทั่งเมื่อเข้ามาทำหน้าที่เพชฌฆาตแล้วก็ยังเล่นกีตาร์ให้วงดนตรีของกรมราชทัณฑ์ นั่นอาจทำให้ชีวิตของเขาละมุนละไมมากกว่าเพชฌฆาตคนอื่นๆ ในทำเนียบมือประหารก็ได้

 ทำเนียบเพชฌฆาต
 
 รายชื่อเพชฌฆาตตั้งแต่ปี 2478-2546
 1.นายทิพย์ มียศ เป็นเพชฌฆาตคนแรกปี ประหารนักโทษ 44 ราย
 2.นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง ประหารนักโทษ 47 ราย
 3.นายเพี้ยน คนแรงดี ประหารนักโทษ 44 ราย
 4.นายมุ่ย จุ้ยเจริญ ประหารนักโทษ 48 ราย
 5.ส.ต.ต.ประถม เครือเพ่ง ประหารนักโทษ 36 ราย
 6.นายเรียบ เทียบสระคู ประหารนักโทษ 1 ราย
 7.จ.ท.ธิญโญ จันทร์โอทาน ประหารนักโทษ 32 ราย
 8.นายสนั่น บุญลอย ประหารนักโทษ 1 ราย 
 9.นายประยุทธ สนั่น ประหารนักโทษ 2 ราย
 10.นายพิทักษ์ เนื่องสิทธะ ประหารนักโทษ 5 ราย
 11.นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์ ประหารนักโทษ 55 ราย 

 ปัจจุบันสถิตินักโทษรอประหารด้วยการฉีดยา ในการควบคุมของเรือนจำกลางบางขวางมีทั้งสิ้น 827 ราย เป็นนักโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด และอยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ 48 ราย ในจำนวนนี้มีนักโทษหญิงอยู่ 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีค้ายาเสพติด ส่วนที่เหลือเป็นผู้ต้องขังคดีฆ่าคนตาย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ