ข่าว

5หน่วยตำรวจเสริม‘กองทัพ’ต้านก่อการร้ายสากล2015

5หน่วยตำรวจเสริม‘กองทัพ’ต้านก่อการร้ายสากล2015

04 ม.ค. 2558

5หน่วยตำรวจเสริม ‘กองทัพ’ ต้านก่อการร้ายสากล 2015 : บายไลน์...ปฏิญญา เอี่ยมตาล โต๊ะรายงานพิเศษ

 
                จากเหตุการณ์คนร้ายติดอาวุธบุกจับตัวประกันกว่า 20 คน ในร้านช็อกโกแลตใจกลางนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย...นานกว่า 16 ชั่วโมง เป็นเหตุให้ตัวประกันเสียชีวิต 2 คน ขณะตำรวจเข้าชาร์จผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา...
 
                เป็น ”กรณีศึกษา” ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานความมั่นคงต้องหยิบยกมาทบทวนการทำหน้าที่ “การต่อต้านการก่อการร้ายสากล” ว่า ชุดปฏิบัติมีศักยภาพการทำหน้าที่ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้มากน้อยแค่ไหน...สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมได้หรือไม่...ลดภาวะการสูญเสียได้มากน้อยเพียงใด...เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนทุกพื้นที่หากตกเป็นเหยื่อภัยร้ายในสถานการณ์เดียวกันโดยไม่รู้ตัว
 
                ไม่เพียงแต่ ”ตำรวจ” เท่านั้นที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันการก่อการร้ายข้ามชาติ...มีมติเห็นชอบลงนามการให้สัตยาบันในอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายสากล องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบค้ายาเสพติดของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา
 
                “ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล” หรือ ศตก. สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) เป็นหน่วยงานระดับนโยบายรับผิดชอบภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายโดยตรง มี 4 หน่วยหลักร่วมปฏิบัติ คือ 1.กองทัพบก (ทบ.) กองพันปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยเฉพาะกิจ 90 เดิม (ฉก.90) 2.กองทัพเรือ (ทร.) หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยซีล) 3.กองทัพอากาศ (ทอ.) กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน 4.ตำรวจ..หน่วยอรินราช 26 (ดูแลพื้นที่ กทม.) หน่วยนเรศวร 261 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนและชุดคอมมานโดกองปราบปราม
 
                “กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย” กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ เป็นหน่วยงานหลักกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากลและการต่อต้านการก่อการร้ายในเมือง อารักขารักษาความปลอดภัยบุคคลและสถานที่สำคัญ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยร้าย การป้องกันประเทศที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มชนอันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย สนับสนุนตำรวจท้องที่ปราบปรามอาชญากรรม ป้องกันการก่อวินาศกรรมใน กทม.และปริมณฑล
 
                พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูตร รอง ผบช.น.อธิบายว่า ชุดต่อต้านการก่อการร้ายสากลนครบาลคือ “หน่วยอรินทราช 26” เป็นหน่วยที่เชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษขั้นสูง เรียกว่า Special Weapons And Tactics หรือหน่วย S.W.A.T. มีขีดความสามารถปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายสากล การช่วยเหลือแย่งชิงตัวประกัน การเข้าชาร์จจับกุมตามแนวบริหารวิกฤติการณ์ (Crisis Management) เป็นหน่วยระดับกองร้อยมีอาวุธหนักเบาครบมือ ทั้งปืนยิงแห ปืนไฟฟ้า ปืนพก ปืนลูกซอง ปืนกลเบา ปืนไรเฟิล ระเบิดมือ ผ่านการฝึกหลักสูตรพิเศษจากกองทัพอย่างโชกโชน เช่น ทำลายจู่โจมใต้น้ำ (SEAL) ลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก การจู่โจมทางอากาศ ต่อต้านการก่อการร้ายสากล (COUNTER TERRORIST) การถอดทำลายวัตถุระเบิด (EOD) ฯลฯ ใช้เวลาฝึกหลักสูตรละ 18 สัปดาห์...ที่ผ่านมาน้อยคนนักที่ผ่านการเป็น "อรินทราช" ต้องอึดและทนได้ในทุกสภาวะ
 
                ด้านหัวหน้าชุดต่อต้านการก่อการร้าย สตช. เผยหลักปฏิบัติช่วยตัวประกันว่า สิ่งสำคัญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบวางแผนอย่างแยบยล ดูว่าคนร้ายมีกี่คน วิธีการเป็นอย่างไร ตัวประกันตกอยู่ในสภาพใด อยู่ในสถานที่ไหนสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ถูกคนร้ายควบคุมตัวด้วยวิธีการใด และการประมวลภาพทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดในองค์ประกอบการช่วยเหลือตัวประกันให้ปลอดภัยได้ยึดหลักปฏิบัติจากเบาไปหาหนักไม่ขัดต่อกฎหมาย เริ่มจากการเจรจา ดูข้อเรียกร้องโดยใช้เทคนิคยุทธวิธีที่ฝึกมาให้ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ปลอดภัยมากที่สุดไม่ให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายไม่ต้องการฆ่าผู้ร้ายต้องการจับเป็นมากกว่า
 
                ส่วนผู้ปฏิบัติชุดจู่โจมนายหนึ่งเล่าว่า สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาและครูฝึกเน้นย้ำตลอดในการทำหน้าที่ คือ ต้องมีสติและยื้อเวลาให้มากที่สุด แม้เวลาจะผ่านข้ามวันข้ามคืนก็ต้องทำ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่หากมีแนวโน้มตัวประกันจะได้รับอันตรายก็ต้องคิดหาวิธีการใหม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้น เช่น กรณีคนร้ายใช้ความรุนแรงกับตัวประกัน ยิงตัวประกันทีละคน เจ้าหน้าที่ก็ต้องยิงเพื่อจะหยุดตรงนี้ไม่มีใครกำหนดได้ เราต้องเจรจาอย่างมืออาชีพ ต้องเข้าใจมุมของคนร้าย สร้างความไว้ใจ ต้องโน้มน้าวเพื่อให้คนร้ายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ได้
 
                ขณะที่แหล่งข่าวความมั่นคงของ สตช. เปิดเผยว่า กรณีเกิดการก่อการร้ายสากลในไทย “ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล” จะเป็นตัวหลักในการควบคุมสั่งการ โดยมอบหมายให้หน่วยตำรวจหรือทหารเป็นแม่งาน ซึ่งแล้วแต่กรณีพิจารณาจากพื้นที่ที่เกิดเหตุ เช่น เหตุเกิดใน กทม.จะให้หน่วยอรินทราช 26 เป็นแม่งาน ถ้าเหตุเกิดในต่างจังหวัดใช้หน่วยนเรศวร 261 เป็นหลัก ถ้ามีเหตุเกิดทางน้ำทางทะเล ทหารเรือจะเป็นแม่งาน โดยกำลังตำรวจทหารเป็นผู้สนับสนุน
 
                ทุกกรณีที่เกิดเหตุรุนแรง ตำรวจท้องที่จะเข้าเก็บข้อมูลเบื้องต้น ก่อนรายงานให้หน่วยเหนือประเมินว่า เป็นการก่อการร้ายสากลหรือไม่ โดยดูจากข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง หากต้องการให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ตรงนี้ฟันธงได้เลยว่า เป็นการก่อการร้ายสากล และต้องจัดชุดเจรจาเข้าไปพูดคุยต่อรอง ซึ่งชุดเจรจาจะผ่านการฝึกทักษะและภาษาอังกฤษมาอย่างดี ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ให้ความสำคัญในส่วนนี้ สั่งการให้ทุกหน่วยที่มีหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายสากลติวเข้มภาษาให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับเปิดประตูอาเซียนในปีนี้
 
                นอกจาก ”หน่วยอรินทราช 26“ ดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ กทม.แล้ว มาทำความรู้จักตำรวจหน่วยสำคัญใน "สตช." ทำหน้าที่หลักในเรื่องนี้อีก 4 หน่วย คือ 1.“หน่วยนเรศวร 261” เป็นหน่วยรบตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มีประสิทธิภาพสูงสุดรองรับได้ทุกสถานการณ์ มีขีดความสามารถในการยุทธเคลื่อนที่การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และปฏิบัติการพิเศษตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหารและไม่ใช่ทหารในสงครามพิเศษ แก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบการก่อการร้ายทุกรูปแบบด้วยการปฏิบัติการปกปิด รับผิดชอบการปฏิบัติทั่วประเทศ เชี่ยวชาญจู่โจมทางอากาศโรยตัวจากที่สูงภารกิจชิงตัวประกัน
 
                2.“ชุดคอมมานโดกองปราบปราม" เป็นหน่วยกำลัง จู่โจมระงับเหตุฉุกเฉินหรือการปราบจลาจล การก่อวินาศกรรม การจับกุมคนร้ายที่มีจำนวนมากตลอดจนเหตุความไม่สงบอื่นๆ เป็นชุดปฏิบัติการที่น่าเกรงขาม เป็นชุดเคลื่อนที่เร็วมีความสามารถในการต่อสู้ป้องกันตัวสูงพร้อมเข้าสนับสนุนการทำงานตำรวจท้องที่ทันทีที่มีการร้องขอ
 
                3.ชุดปฏิบัติการพิเศษ “สยบไพรี” กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) หน้าที่หลักปราบปรามยาเสพติดข้ามชาติและขบวนการยาเสพติดรายใหญ่ ต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผ่านการฝึกอย่างช่ำชองจากศูนย์สงครามพิเศษ ทบ.นาวิกโยธิน ทหารเรือ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน และหน่วยรบพิเศษต่างประเทศ DEA ของหน่วยงานยาเสพติดสหรัฐอเมริกา
 
                4."ชุดปราบไพรีอริศัตรูพ่าย" หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรภาค 1 รับผิดชอบ 9 จังหวัดภาคกลาง เป็นชุดชำนาญด้านอากาศยานตรวจการไร้นักบินแบบขึ้นลงทางดิ่ง (UAV) และการชิงตัวประกันในอาคารสูงเป็นพิเศษ ผ่านการฝึกวางแผนช่วยเหลือตัวประกันอย่างดี แต่ละชุดมีกำลัง 8 นาย มีเป้าหมายภารกิจพิเศษคดีก่อการร้ายสากลและคดีสำคัญอื่นๆ
 
                การเตรียมพร้อม ”สรรพกำลังชุดจู่โจมพิเศษต่อต้านการก่อการร้ายสากล” 5 หน่วยของ สตช.รับเหตุรุนแรงฉุกเฉินต่างๆ ทั้งเรื่องอาชญากรรมและการก่อการร้ายข้ามชาติ โดยทุกภารกิจต้องใช้ความรอบคอบชำนาญการเป็นพิเศษ เพราะคนร้ายปัจจุบันไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีการตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยอาวุธที่ทันสมัย
 
                ดังนั้น หัวใจสำคัญคือ ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องฝึกฝนทบทวนความรู้ทักษะสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจากความประมาทในการทำงานทุกวินาที จึงจำเป็นต้องฝึกซ้อมทบทวนการปฏิบัติตลอดเวลา