
เบื้องหลังความคิดดีๆ ของ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์
04 ม.ค. 2558
คุยนอกกรอบ : เบื้องหลังความคิดดีๆ ของ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ : โดย...มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
"ความไร้เดียงสาของเด็กในวันนี้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวที่จะเศร้าได้คิดว่า เราต้องมีหน้าที่ดูแลสมาชิกใหม่ให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีในสังคมให้ได้ และนั่นคือหน้าที่ของเราที่เหลืออยู่"
"ถ้าเราเชื่อตามหลักพุทธศาสนา ก่อนที่เขาจะจากไป ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเป็นความทรงจำที่ดีของเขาด้วยว่า การสูญเสียของเขาทำให้เกิดความช่วยเหลือของผู้คนทั่วโลก ที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือ หรือกำลังใจ ลงไปสู่พื้นที่เกิดเหตุในครั้งนั้น"
ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความมั่นคงภายในของ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องสูญเสียครอบครัวทั้งสี่ท่าน คือ คุณพ่อ คุณแม่ และน้องสาวอีก 2 คน ไปจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 10 ปีก่อน 26 ธันวาคม 2547 ทำให้เราผู้ฟังรับรู้ถึงพลังด้านบวกของอาจารย์ที่ความสูญเสียไม่อาจพรากกำลังใจของผู้อยู่ให้พัดไปกับสึนามิ แต่กลับเป็นพลังใต้ปีกที่ทำให้ผู้รอดชีวิตโบยบินไปข้างหน้า ฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างให้ได้กับลมหายใจที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า...
เรานัดกันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าย่านพระราม 9 ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจในร้านที่ดังกระหึ่ม ไม่สามารถทำให้ฉันละความสนใจจากการสนทนาในเรื่องราวที่ปลุกให้เราตื่นจากความฝันนี้ไปได้เลยแม้เพียงวินาทีเดียว...
เคยฝันถึงครอบครัวที่จากไปไหม
เคยฝันว่าเขาเป็นห่วงอยู่หนเดียว เขาคงไม่อยากให้เราทุกข์ เขาอยากให้เราก้าวข้ามความทุกข์ให้ได้ คือเป็นกึ่งฝันกึ่งตื่นที่เรารู้สึกเลยว่า คุณพ่อจับไหล่ให้กำลังใจเรา ตอนนอนอยู่ แล้วคุณแม่กับน้องยืนเรียงกัน แล้วเราก็ภาวนาบอกเขาว่า ให้เขาไปให้สบาย ไม่ต้องเป็นห่วง เราจะเข้มแข็ง เราจะอยู่ได้ เราจะรับผิดชอบกับสิ่งต่างๆ ให้ได้ ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณสักเดือนกว่าๆ หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนถึงวันเกิด และก่อนที่จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ หลังจากนั้นก็ไม่เคยฝันเห็นภาพแบบนั้นอีก แต่ที่ฝันเห็นอยู่ เมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ ฝันว่า เรายังคงมีชีวิตปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าเขาจากไป ยังรู้สึกว่าเขาอยู่ใกล้ๆ แล้วเรายังไปเที่ยวกัน ยังคงมีบทสนทนามีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ก็เป็นภาพที่ดีๆ ค่ะ
เหตุการณ์สึนามิ 10 ปีที่ผ่านไป
วันนี้ก็ยังจะบอกคำเดิมอยู่ว่า คนที่จากไปคือคนที่โชคดี เพราะสิบปีที่ผ่านมา คนที่ยังหายใจ ยังคงรับรู้สรรพสิ่งต่างๆ ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกจะต้องประสบกับเหตุแห่งทุกข์มากมาย และท้าทายกับการบำเพ็ญเพียรที่จะทำอย่างไรที่จะดับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ตัวอย่างเช่น เราเองก็นึกไม่ถึงว่า หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่จากน้ำมือมนุษย์ แต่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่นสึนามิ จะเป็นเหมือนก้าวหนึ่ง ที่เตือนสติให้เห็นว่า ชีวิตมันสั้นนัก ทุกอย่างมันรวดเร็ว แล้วเหตุการณ์อันนั้น ในด้านที่ไม่ใช่ความทุกข์ส่วนตัว มันมีอีกด้านหนึ่ง คือ ความประทับใจจากพลังร่วมของคนในสังคมไทยมากหน้าหลายตา ทั้งที่รู้จัก ทั้งที่ไม่รู้จัก ก็ยังมาร่วมให้กำลังใจ ฟันฝ่าไปด้วยกันให้ก้าวข้ามช่วงเวลาหฤโหด ก้าวข้ามช่วงเวลาของความสูญเสียไปด้วยกันได้
หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ อาจารย์ได้กลับไปที่นั่นบ้างไหมคะ
กลับไปค่ะ ในปีแรกกลับไปแบบส่วนตัว ไปกับคุณน้า คุณอา และหลาน และญาติอีกเล็กน้อย ประมาณหนึ่งคันรถ เพื่อจะไปขอบคุณคนในพื้นที่ที่เคยให้ความช่วยเหลือตอนที่เกิดเหตุการณ์ และเพื่อจะไปรำลึกที่วัดเล็กๆ ที่เคยนำศพคุณพ่อคุณแม่และน้องไปตั้งไว้ ก่อนที่จะส่งขึ้นเครื่องกลับ ได้กลับไปครั้งนั้นครั้งหนึ่ง
ครั้งนั้นเตือนสติมาก เพราะมีหลานเล็กๆ ซึ่งเขาโตขึ้นมา โดยที่เขาจำความแทบไม่ได้ว่า ในหนึ่งปีที่เราสูญเสีย เราเจ็บปวดขนาดไหน เราได้เรียนรู้เลยว่า บางทีใจของเรากับตาของเราที่เพ่งความสนใจ ทำให้เราก้าวข้ามความเจ็บปวดได้อย่างมหัศจรรย์ ของชีวิต คือเวลาที่หลานไม่รู้ เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง แล้วเขาคือจุดความสนใจของครอบครัว ทำให้เราไม่มีจังหวะเวลาที่จะฟูมฟาย ไม่งั้นเขาจะงงว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วความไร้เดียงสาของเด็กในวันนี้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวที่จะเศร้าได้คิดว่า เราต้องมีหน้าที่ดูแลสมาชิกใหม่ให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีในสังคมให้ได้ และนั่นคือหน้าที่ของเราที่เหลืออยู่
กับอีกครั้งหนึ่งที่ได้กลับไป เมื่อปีที่แล้ว ได้ลงไปทางภูเก็ตกับคุณน้าและครอบครัว เพื่อไปพักผ่อน แล้วขอเขาไปเยี่ยมชมในพื้นที่ เชื่อไหมว่า คนที่รู้ กับคนที่ไม่รู้ คนที่มีภาพเก่าในอดีตฝังใจ กับคนที่ไม่ได้ประสบเหตุการณ์ตรงนั้น ในพื้นที่เดียวกัน มองต่างกัน ตอนนั้นหลานคนหนึ่งอายุ 12 ปี อีกคนอายุ 14 ปี เขาลงไปก่อนที่ดิฉันจะลงไป 3 วัน พอวันที่ดิฉันลงไป เขาก็บอกว่า จะพาไปกินอาหารร้านอร่อยมากเลย เขาก็บอกเส้นทาง เราก็ขับรถกันไป เพราะคุณพ่อคุณแม่เขาไปทานมาก่อน แล้วคุณพ่อเขากลับไปกรุงเทพฯ แล้วดิฉันก็เข้าไปทำหน้าที่แทน กับคุณแม่และคุณน้า คือคุณยายเขา
สิ่งแรกที่ตัวเองได้เข้าไปในร้าน กับเมนูที่หลานบอกว่าอร่อยมาก คือ จั๊กจั่นทอดกระเทียมพริกไทย ดิฉันผงะ เพราะภาพเก่าในอดีต เราอยู่ตรงจุดนั้น เราผ่านมาตรงจุดนั้น ในวันแรกที่ตัวเองเดินทางลงไปที่ภูเก็ต แล้วต้องผ่านไปเส้นเขาหลัก ใน จ.พังงา ก็ต้องผ่านหาดเล็กๆ หาดหนึ่งจำไม่ได้แล้ว และเราเห็นศพที่ถูกพันผ้าเต็มไปหมด เป็นร้อย ยังคงจำได้ว่า มันคือมุมเดียวกันกับที่ตั้งของเพิงร้านอาหารเล็กๆ ที่อยู่ริมทะเล แต่เด็กเขาไม่รู้ โลกของเขาสดใส โลกของเขาคือ ไปดูพระอาทิตย์ตกดิน ไปกินจั๊กจั่นทะเล และอาหารทะเลอื่นๆ กัน ซึ่งมันเป็นเวลาเดียวกับที่รถเคยมารับดิฉันตรงนั้น แล้วก็ผ่านตรงนั้นตอนพลบค่ำ ก็เป็นภาพที่เรารำลึกได้ ตอนนั่งอยู่บนชั้นสองของรถอยู่คนเดียว ขณะที่รถแล่นผ่านภูเก็ตเพื่อไปจังหวัดอื่น ก็เกิดจิตว่าง พอเห็นก็แวบเข้ามา แล้วมันสามารถที่จะกระตุ้นความรู้สึกเก่าๆ ความรู้สึกเศร้าที่เกิดขึ้น แต่พอเรามีตัวละครใหม่ ตัวประกอบใหม่ มีชีวิตใหม่ เด็กซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต มันทำให้ความสนใจในเราพุ่งไปที่ตัวเขา เราก็ทำอย่างไรให้เราสนุก และอร่อยกับอาหารที่อยู่ตรงข้างหน้า ซึ่งจุดนั้นคือจุดที่เขานำศพไม่มีญาติมาวางไว้ แล้วตอนนี้คือจุดที่ตั้งร้านอาหาร
อีกจุดหนึ่งที่ขับรถไปคือ บริเวณเขาหลัก จ.พังงา ตรงนั้นมีโอกาสเข้าไป สิ่งที่เห็นคือ สภาพของเมืองที่ฟื้นแบบไร้ระเบียบ มีความหลากหลายที่ผสมผเสกัน สะท้อนความเป็นปึกแผ่น ความเป็นเอกภาพที่จะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้หลังจากภัยธรรมชาติมาเตือน มันคงมีพลังค่อนข้างน้อย เพราะที่เห็นก็เช่น ชายทะเล เจ้าของที่ดินบางคนที่เขาต้องการทำเป็นที่ราบ ก็ขยายพื้นที่ออกไปติดทะเลมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย หากเกิดสึนามิอีก แต่หลายแห่งก็ยังเป็นบังกะโลสไตล์ธรรมชาติอยู่ แต่บางที่ก็กลายเป็นอาคารดีไซน์หรู และด้านหน้าของเขาก็เผชิญกับทะเลโดยตรง
เมื่อเราไปเห็นธรรมชาติที่นั่น ก็เกิดความรู้สึกว่า ปล่อยให้ธรรมชาติที่นั่นเป็นไปอย่างธรรมชาติ แล้วเราก็อย่าไปคาดหวังอะไรกับเขามาก นอกจากทำความเข้าใจว่า นั่นคือ ชีวิตของเขา ที่เขาเลือก เขากำหนด ถ้าเราไปคาดหวัง เราอาจจะรู้สึกเจ็บปวดว่ามันไม่เป็นไปอย่างที่เราอยากเห็น
ตอนนั้นก็บ่นกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน เพื่อนบอกอย่าเครียด แต่เราไม่ได้เครียด เพราะความสูญเสีย แต่เครียดเพราะคาดหวังว่า มันจะเกิดระบบในการจัดระเบียบสถานที่นั้นใหม่ คือเราไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องเก็บที่ตรงนั้นเป็นอนุสรณ์ แต่หมายถึงว่า มันควรจะถูกพัฒนาแบบเป็นระบบ แบบสังคมอารยะด้วยกัน
----------------------------
ทุกอย่างที่อยู่ข้างหน้าคือ 'ครู'
ปีใหม่แล้ว ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ มีกำลังใจมาฝากท่านผู้อ่านด้วย เพราะการก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ว่าจะทำอะไร ย่อมมีอุปสรรคเสมอ แต่อาจารย์มีวิธีคิดที่ทำให้เรามองเห็นอีกด้านเสมอ มาฟังกันว่า อะไรที่หล่อหลอมให้อาจารย์มีวิธีคิดที่กว้างไกลเช่นนี้ ...
"คือไม่ได้คิดว่าตัวเองจิตดี หรืออย่างไร เราก็มีรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนคนทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่ตัวเองถูกสอนคือ เมื่อเราล้มแล้ว เราจะต้องพยายามระวังตัว ให้การล้มครั้งต่อไปเจ็บน้อยลง มีระบบพยุงตัว หรือระบบป้องกันที่ดียิ่งขึ้น ให้ทุกอย่างเป็นบทเรียน ก็คือ ให้ทุกอย่างที่อยู่ตรงข้างหน้าคือครู สำหรับการดำรงชีวิต"
----------------------------
(คุยนอกกรอบ : เบื้องหลังความคิดดีๆ ของ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ : โดย...มนสิกุล โอวาทเภสัชช์)