ข่าว

ลงเรือแป๊ะ...อย่าเหาะเกินลงกา

ลงเรือแป๊ะ...อย่าเหาะเกินลงกา

01 ม.ค. 2558

ลงเรือแป๊ะ...อย่าเหาะเกินลงกา : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยสำนักข่าวเนชั่น

                   ขณะที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับมติของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง "ที่มาของนายกรัฐมนตรี" ที่กำหนดให้มาจากการเลือกของสภา โดยไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ ก็ทะลุกลางปล้องออกมาว่า ทั้งหมดนี้เป็นแค่การ "โยนหินถามทาง" ของคณะกรรมาธิการ
    
                   ก่อนหน้านี้ "วิษณุ" เคยปรามการออกมาเสนอความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นการร้อนวิชา พร้อมกับเอ่ยถึงคำ "เหาะเกินลงกา" โดยบอกว่า เป็นคำเก่าแก่ เด็กรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก ซึ่งหมายถึง เกิน เลย ล้น เว่อร์ โดยมีที่มาจากวรรณคดีไทยเรื่อง "รามเกียรติ์" ตอนที่นางสีดาถูกจับตัวไป พระรามจึงออกตาม แต่พระรามกลัวว่านางสีดาจะไม่รู้ จึงให้หนุมานเอาแหวนไปให้นางสีดา เมื่อเห็นแหวนจะจำได้ หนุมานจึงดีใจ เร่าร้อนวิชาตีลังกาเหาะเหินเดินอากาศ ปรากฏว่าเหาะจนเลยเมืองลงกา
    
                   อีกคำพูดที่ "วิษณุ" เคยนำมาใช้เปรียบเปรย คือ "ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ" ที่เขาหยิบยกขึ้นมาระหว่างบรรยายพิเศษในงานสัมมนาของ สนช.
    
                   ตามความหมาย "ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” หมายถึง เมื่อต้องอาศัยใครหรืออยู่ร่วมกับใคร ก็ต้องเกรงใจ ยอมตามใจเขา อย่าไปขัดแย้งกับเขา ต้องตามใจเขา
    
                   คำพูดของวิษณุในวันนั้น ที่ว่า “วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ลงจากเรือ ดังนั้นก็ต้องตามใจแป๊ะ” จึงสะท้อนความหมายได้เป็นอย่างดี
    
                   นักข่าวยังอุตส่าห์ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่า "แป๊ะคือใคร" ซึ่งก็ถูกสวนกลับทันควัน "มาถามผม แล้วผมจะไปรู้หรือ ต้องไปถามคนพูด"
    
                   ส่วน "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า คิดถ้อยคำมาเปรียบเทียบการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า เหมือน "แกงส้ม" หม้อเดียวที่มีพ่อครัวหลายคน ก็เป็นธรรมดาที่พ่อครัวเหล่านั้น ต้องบอกว่าสูตรของเขาอร่อย แต่ว่าจะแกงจริงอย่างไร ก็ต้องรอดูตอนสุดท้ายที่จะลงมติจริงๆ แก้ไขอะไรไม่ได้ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2558"
    
                   นอกจากนี้ "บวรศักดิ์" ยังบัญญัติศัพท์ว่า "ซูเปอร์ประธานาธิบดี" และ "เสือติดปีกที่ดำน้ำได้" มาเปรียบเทียบกับการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยชี้ว่าที่เป็น "ซูเปอร์ประธานาธิบดี" เพราะมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สามารถเสนองบประมาณต่อสภาได้ ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐยังทำไม่ได้เลย
    
                   กว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคลอดออกมา คงมีอีกหลาย "คำศัพท์" หลาย "สำนวน" มาเปรียบเทียบให้เข้าใจ ให้เห็นภาพ