
เปิดตัวแท็กซี่เพื่อคนพิการ-ผู้สูงอายุ
เปิดตัวแท็กซี่เพื่อคนพิการ-ผู้สูงอายุ มิติใหม่การเดินทาง : ธนัชพงศ์ คงสายรายงาน
กลายเป็น “นวัตกรรม” การขนส่งสาธารณะรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้นโยบาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมมือกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะวิสาหกิจ กทม. ได้เปิดโครงการ “รถบริการสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2555 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีรถให้บริการขนส่งมวลชนเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุที่เดินทางด้วยรถเข็น (วีลแชร์) ให้เป็นไปตามหลักสากล
ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อังกฤษ จีน ก็มีบริการ “แท็กซี่วีลแชร์” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ เพิ่มศักยภาพ “ความเท่าเทียม” กับประชาชนทุกเพศทุกวัย ที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเดินทาง
ล่าสุด กทม.ได้เปิดตัวรถแท็กซี่สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุเพิ่มเติมอีกจำนวน 20 คัน จากเดิมที่มีให้บริการครั้งแรกจำนวน 10 คัน โดยครั้งนี้ระบบรถที่ให้บริการซึ่งเป็น “รถตู้” สีเขียว-ขาวได้ถูกพัฒนาความปลอดภัยและความสะดวกให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้ใช้บริการมากขึ้น อาทิ เพิ่มความสูงของหลังคารถแท็กซี่เพื่อป้องกันศีรษะชนหรือกระแทกหลังคารถ หรือปรับปรุง “บาร์จับ” ให้เหมาะกับการใช้งาน
ส่วนอุปกรณ์และมาตรฐานภายในรถ ประกอบด้วย “ลิฟต์ไฮดรอลิก” ขึ้นลงพร้อมที่จับ หมุดยึดตัวรถพร้อมสายรัดความปลอดภัย และเข็มขัดนิรภัยสำหรับ “ผู้ใช้รถวีลแชร์” กล้องซีซีทีวีภายใน มิเตอร์คำนวณค่าบริการ เบาะเสริม 2 ที่นั่ง ระบบจีพีเอสติดตามรถ และขยายเวลาการให้บริการจากเดิมเวลา 09.00-18.00 น. เป็น 06.00-22.00 น.
ขณะที่ “พนักงานขับรถ” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการให้บริการ ได้ถูกตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเปิดฝึกอบรมการให้บริการสำหรับเป็นการเฉพาะเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง
ตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 มีสถิติจำนวนผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ ให้ความสนใจขอรับบริการรวมทั้งสิ้น 8,970 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการร้อยละ 76.5 และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 23.5 ซึ่งในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ใช้วีลแชร์ประมาณ 64,000 คน แบ่งเป็นผู้พิการ 16,000 คน และผู้สูงอายุ 48,000 คน
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบระบบการใช้งานพบว่า ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถวีลแชร์ในการเดินทาง เมื่อรถแท็กซี่มาถึงจุดรับจะมีระบบไฮโดรลิกสำหรับยกบริเวณด้านหลังรถ ภายในแท็กซี่แต่ละคันสามารถให้บริการผู้นั่งรถวีลแชร์ได้ 2 คัน พร้อมที่นั่งสำหรับผู้ติดตามอีก 2 คน ซึ่งในอนาคตบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่ให้ได้ถึง 100 คัน เพื่อเปิดโอกาสให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุให้ทั่วถึงกว่าเดิม
ส่วนการเรียกใช้บริการสามารถจองรถแท็กซี่ทางโทรศัพท์หมายเลข 1555 ล่วงหน้า 1 วัน โดยผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถวีลแชร์สามารถลงทะเบียนขอรับบริการได้ที่ www.thanakom.co.th โดยรถแท็กซี่จะให้บริการตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สถานีขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล ซึ่ง กทม.ได้ประสานสำนักงานเขต ศูนย์การค้า เพื่อขอใช้พื้นที่สำหรับจอดรถรับส่งไว้แล้ว ขณะที่ “อัตราค่าโดยสาร” จะคิดตามระยะทาง และบวกค่าเรียกใช้บริการ โดย กทม.จะสนับสนุนค่าโดยสารจำนวนครึ่งหนึ่งของราคาที่จ่ายจริง
“สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงโครงการนี้ว่า รถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถวีลแชร์รุ่นใหม่ได้พัฒนาขึ้นให้ดีกว่า 10 คันแรก โดยเฉพาะความสูงของหลังคารถให้สูงขึ้นได้อีก 34 เซนติเมตร สามารถป้องกันศีรษะชนและกระแทกได้ ที่ผ่านมาถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน ซึ่งรถบริการทั้งหมดนี้จะพร้อมให้บริการ 30 คัน โดยจะยังไม่คิดค่าบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 กันยายน 2558 จึงหวังว่าผู้พิการและผู้สูงอายุนั่งรถวีลแชร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ กทม.ได้ให้ความสำคัญ จะอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้
“เมื่อประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะมีผู้พิการจากชาติต่างๆ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น กทม.จะพัฒนาศักยภาพโครงการให้สามารถรองรับความต้องการ ซึ่งในอนาคต กทม.อาจจะขยายเป็นรถบัสสำหรับผู้พิการต่อไป” ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ
“จุณทิชา ช่วงอรุณ” รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า จำนวนรถบริการผู้พิการและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมานี้ ได้พัฒนาความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม อาทิ เพดานหลังคารถสูงขึ้น ทำให้ผู้พิการที่มีรูปร่างใหญ่ไม่ต้องก้มศีรษะหลบเพดานเหมือนรถรุ่นเดิม เพิ่มราวจับกันตกด้านข้างอีก 1 ด้าน ทำให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุได้รับความปลอดภัย แต่ไม่ได้หมายความว่ารถรุ่นเดิมจะไม่ดี เพราะเป็นรถที่มีมาตรฐานระดับสากลอยู่แล้ว เนื่องจากเรื่องความปลอดภัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้กำชับเพื่อให้ความสำคัญกับตัวรถที่ให้บริการตั้งแต่โครงการเกิดขึ้น
ส่วนพนักงานขับรถได้ตรวจสอบประวัติ จัดฝึกอบรมการให้บริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง และได้มาตรฐานสำหรับการดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถวีลแชร์ ซึ่งอยากเรียกว่าเจ้าหน้าที่ “จิตอาสา” มากกว่า เพราะเป็นมากกว่าคนขับรถธรรมดาที่ได้รับการอบรมให้เข้าใจถึงการมีจิตอาสา และเป็นเกียรติที่ได้มาทำงานสาธารณะเพื่อสังคม
“ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 กันยายน 2558 ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายมอบเป็นของขวัญให้แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ ใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นอาจจะเก็บในอัตราเดียวกับแท็กซี่มิเตอร์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของโครงการที่จะเริ่มใช้รถรุ่นใหม่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จะเปิดให้บริการสำหรับรับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วย” รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ระบุ
“พัชรินทร์ ภัทรธารี” ผู้สูงอายุวัย 72 ปี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นเรื่องที่ดีที่ กทม.ให้ความสำคัญกับผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้ แต่เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นคิดว่าการเดินทางน่าจะสะดวกและสบายกว่าเดิม แต่เป็นห่วงว่าการขึ้นลงรถจะมีความลำบาก รวมถึงจำนวนรถที่ให้บริการยังมีน้อยเกินไป เพราะถนนในกรุงเทพฯ มีเป็นร้อยเส้นทาง แต่จำนวนผู้พิการและผู้สูงอายุก็มีมากขึ้น จึงอยากให้ กทม.ได้เพิ่มจำนวนรถ หรือสร้างจุดจอดรถแท็กซี่ลักษณะนี้ตามเขตต่างๆ เป็นการเฉพาะอย่างถาวร นอกเหนือจากการใช้โทรศัพท์เพื่อเรียกใช้บริการ
“อยากให้มีสถานีจอดรถแท็กซี่แบบนี้ประจำทุกเขต เพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้ว่า มีจุดจอดรถรอให้บริการอยู่พื้นที่ใด หรือมีการระบุเวลาชัดเจนในการรอรถ เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุเตรียมพร้อมในการเดินทางได้”
คุณยายท่านนี้ยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้อยากให้ กทม.ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะหากหมดช่วงเวลาที่ใช้บริการฟรี อาจจะเป็นปัญหาให้ผู้ใช้บริการในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงหรือไม่ เพราะหากค่าใช้บริการสูง เงินที่ผู้พิการและผู้สูงอายุได้ประจำแต่ละเดือนจะหายไปด้วยหรือไม่ ดังนั้น กทม.อาจจะสนับสนุนให้ใช้บริการฟรีในช่วงเสาร์หรืออาทิตย์ เพื่อช่วยดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกันอยากให้ กทม.เน้นเรื่องความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการระหว่างการเดินทาง โดยมีการแสดงตัวพนักงานขับรถ สีรถ หรือทะเบียบรถอย่างชัดเจนเช่นกัน
ทั้งหมดจึงเป็นภาพรวมของโครงการในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา กับการพัฒนาระบบให้บริการ และเสียงสะท้อนของประชาชน ที่สุดแล้วหากหน่วยงานเจ้าภาพและผู้ใช้บริการสามารถกำหนดจุดร่วมกันได้ โครงการนี้ย่อมประสบความสำเร็จในการเพิ่ม “โอกาส” ดีๆ ต่อการดูแลคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง