
อานิสงส์ฝายน้ำล้น "ลำภาชี" ช่วยชุบชีวิตชุมชนชายขอบ
ผลจากการขาดน้ำในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ทำให้ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านตามแนวชายแดนใน ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในพื้นที่ภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นสวนแปลงผัก สวนผลไม้ พืชไร่ จำพวกมันสำปะหลัง อ้อย ตลอดจนนาข้าว แต่หลังจ
"ฝายนี้ให้ประโยชน์ได้มาก ทั้ง หมู่ 2 หมู่ 5 และ หมู่ 1 บ้านสวนผึ้ง ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จากฝายแห่งนี้มากที่สุด การดำเนินชีวิตของชาวบ้านก็ดีขึ้น มีแหล่งน้ำสำหรับในการรดพืชผัก สวนผลไม้ พืชไร่ต่างๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ถือเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่ อย่างเหนือขึ้นไปข้างบนชาวบ้านจะทำสวนมะนาว ที่ผ่านมาบางรายได้เงินเป็นล้านในช่วงมะนาวแพง หรืออย่างบ้านหลังนี้เขาก็เก็บหอยเชอรี่ขายมีรายได้ 100 กว่าบาทเกือบทุกวัน" ขวัญชัย ขำปาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 (บ้านมะขาม) ต.ตะนาวศรี พร้อมชี้ไปยังบ้านพักอาศัยของชาวบ้านที่อยู่บริเวณเหนือฝาย
ขวัญชัยยอมรับว่าสัตว์น้ำที่เคยหายไปก็กลับมามีให้เห็นหลังมีฝายแห่งนี้ เมื่อก่อนตะพาบน้ำไม่มี แต่เดี๋ยวนี้กลับมีให้เห็นแล้วและก็มีมากด้วย เห็นได้จากชาวบ้านจับได้บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น หอย ปู ปลาต่างๆ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นอาหารอย่างดีสำหรับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมลำน้ำ นอกจากนี้พืชผัก ผลไม้หลายตัวก็ให้ผลผลิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
ด้าน วิเวช สุทธิประภา ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 ในฐานะเจ้าของโครงการกล่าวถึงความเป็นมาของฝายลำน้ำชีแห่งนี้ว่าเริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2547 หลังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบการสร้างฝายน้ำล้นในลำภาชี ซึ่งขณะนั้นได้สำรวจออกแบบไว้ 3 โครงการ ขณะนี้ได้สร้างไปแล้ว 2 โครงการ ฝายฯ ลำภาชีเป็นโครงการที่ 2 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2551 แต่ขณะนี้ยังไม่เต็มระบบ เพราะยังต้องสร้างประตูระบายน้ำขนาดเล็กที่ด้านท้ายของฝายทั้งสองฝั่ง เพื่อต่อเข้าไปยังพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร
"สำหรับตัวอาคารที่ก่อสร้างมีบานประตู 4 บาน สูง 3.70 เมตร ยาว 64.80 เมตร อัตราการระบาย 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ความจุของน้ำอยู่ที่ 7.6 แสนคิว ผลประโยชน์ที่ได้รับส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านท้ายของฝาย มีพื้นที่รวมประมาณ 3 พันไร่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการประมาณปี 2553 หลังจากนี้จะเร่งสำรวจและออกแบบให้จบก่อน ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 79 ล้านบาท"
ผู้อำนวยการคนเดิมย้ำด้วยว่า หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้งโครงการ จากนั้นก็จะส่งมอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ในการช่วยกันดูแลรักษา โดยกรมทรัพยากรน้ำจะมีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาหากมีปัญหาชำรุดเสียหายหรือใช้การไม่ได้ เนื่องจากต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้ามาแก้ปัญหา ส่วนถ้าเป็นความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ ทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก็สามารถดูแลได้
"ฝายแห่งนี้ ชาวบ้านชอบมาก เขาทำหนังสือขอบคุณมาให้เราด้วย เพราะสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้เขาได้หลายเรื่อง เช่น มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง ป้องกันน้ำท่วมได้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี มีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" วิเวชกล่าวอย่างภูมิใจ
ฝายน้ำล้นลำน้ำชี นับเป็นหนึ่งในหลายโครงการของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 ที่สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในการดำรงชีพนั่นเอง
"สุรัตน์ อัตตะ"