ข่าว

ชง10ประเด็น‘ปฏิรูปสื่อ’มุ่งส่งเสริมจริยธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชง10ประเด็น‘ปฏิรูปสื่อ’มุ่งส่งเสริมจริยธรรม ลดสร้างความเกลียดชังเล็งตั้ง‘สภาวิชาชีพ’ ทปอ.หนุนเลือกนายกฯโดยตรง

              3ธ.ค.2557 นางเตือนใจ สินธุวณิก โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยนายบุญเลิศ คชายุทธเดช รองโฆษกกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ จะส่งให้กับคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ใน 10 ประเด็น คือ 1. รัฐธรรมนูญประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน พิมพ์ โฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆรวมถึงสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างทั่วถึง เสมอภาค

              2. เงื่อนไขในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน พิมพ์ โฆษณา และสื่อความหมาย ด้วยวิธีอื่นของประชาชนและสื่อมวลชน 3. สื่อมวลชนย่อมได้รับหลักประกันความเป็นอิสระ 4. การคุ้มครองเสรีภาพและส่งเสริมวิชาชีพและสวัสดิการ ของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อสารมวลชน 5. ส่งเสริมการจัดองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านจริยธรรม และกลไกกำกับกันเองของสื่อมวลชน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพความเป็นธรรม

              โฆษกกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ กล่าวว่า 6. คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรวิชาชีพสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่ จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ 7. แนวทางการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป 8. การส่งเสริมรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน 9. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ และ10. การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

              ด้านนายบุญเลิศ กล่าวถึงการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังว่า ทาง กมธ.คิดว่าควรจะต้องมีสภาวิชาชีพมากำกับดูแลสื่อด้วยกันเอง โดยเฉพาะการกำกับจริยธรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ ทั้งนี้การมีสภาวิชาชีพ ควรจะมีทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับจังหวัด นอกเหนือไปจากระดับชาติ อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพของสื่อแต่ละประเภทที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก คือการนำเสนอถ้อยคำ ภาพและอื่นๆ ที่สร้างให้เกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชน แบ่งแยกเป็นสีและข้าง ดังนั้นทาง กมธ. จึงเห็นว่าควรบัญญัติ การใช้เสรีภาพการสื่อสารนั้นๆ โดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง ส่วนจะนำไปบัญญัติไว้ในหมวดใด ระหว่างหมวดสิทธิและเสรีภาพ หรือหมวดความปรองดองก็แล้วแต่การตัดสินใจของคณะ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าเหมาะสม

              รองโฆษกกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ วิทยุและโทรทัศน์ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นสภาวิชาชีพจะมีอำนาจและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจาก สมาคมวิชาชีพซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลความประพฤติ จริยธรรม จรรยาบรรณรวมทั้งสวัสดิการของสื่อเสมือนเข้ามาดูแลศีลธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้จะเป็นหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพจากการครอบงำทั้งทางด้านของจากรัฐบาล ด้านการเมือง และที่เพิ่มเติมคือเจ้าของกิจการสื่อ ก็จะไม่สามารถบังคับการนำเสนอของสื่อได้

 

 ทปอ.หนุนเลือกนายกฯโดยตรง

             นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมด้วยนักวิชาการที่เป็นคณะทำงานศึกษาการปฏิรูปตามมติที่ประชุม ทปอ. ได้ยื่นข้อศึกษาและข้อเสนอแนะจากคณะทำงานทั้ง 6 ด้าน ต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิรูปประเทศและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ประธานสปช. กล่าวว่า ตนพร้อมนำข้อศึกษาและข้อเสนอแนะส่งต่อไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปทั้ง 18 ด้านตามที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ในกระบวนการพิจารณาข้อเสนอแนะที่จะส่งไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้ดำเนินการ และในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ตนและคณะทำงานจะแถลงถึงรายละเอียดขอข้อเสนอทุกประเด็นต่อสื่อมวลชน
    
             ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการศึกษาการปฏิรูปทั้ง 6 ด้าน ของทปอ. มีสาระสำคัญ คือ 1.การปฏิรูปการเมือง เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง โดยแยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติ ด้วยวิธีให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงแบบเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขณะที่ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง และมีที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่และการเลือกตั้งผ่านสาขาอาชีพ โดยจำนวนส.ส.ต้องมีความเหมาะสมกับฐานประชากรแต่ละพื้นที่


เสนอตั้ง"ศาลผู้บริโภค"
 
             นางสารี  อ๋องสมหวัง  ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงว่า กรรมาธิการฯเสนอ 7 ประเด็นบรรจุในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสนับสนุนให้เกิดศาลผู้บริโภคในศาลยุติธรรม ทำงานเชิงรุกในการพิจารณาคดีผู้บริโภค


ประเดิมเวทีฟังเสียงปชช.ที่สุพรรณ
    
              นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลหารือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ ใน 10 พื้นที่ ว่าจะมีการจัดเวทีแรกที่จ.สุพรรณบุรี ช่วงวันที่ 17 - 18 ม.ค. 2558 นี้ โดยมีข้อกำหนดเบื้องต้น คือ ผู้ร่วมเวทีจะมีจำนวน 200 คน มาจากวิธีการสุ่มเลือกทางหลักสถิติในกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 160 คน และอีก 40 คนจะเลือกผู้เข้าร่วมเวทีจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เยาวชน, สตรี, ผู้สูงอายุ, กลุ่มความเห็นทางการเมืองที่ไม่ถูกเลือก

              นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวในการจัดเวทีในพื้นที่ 77 จังหวัด ว่าจะเริ่มจัดเวทีในลักษณะ Public Hearing ได้ตั้งแต่เดือนม.ค. 58 นี้
    
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการจัดเวทีรับฟังเสียงของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ขณะนี้มีปัญหาเรื่องการเสนอของบประมาณจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีขั้นตอนและต้องใช้ระยะเวลาเสนอขอพอสมควร ดังนั้นจากกำหนดเดิมที่แต่ละเวทีจะเริ่มฟังเสียงได้ ช่วงธ.ค.57 ต้องเลื่อนไปเป็นม.ค. 58 โดยงบประมาณที่ใช้ดำเนินการรับฟังนั้นมาจากหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันพระปกเกล้า, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น


ส.พระปกเกล้าเสนอผลวิจัยต่อสนช-กมธ.ยกร่าง

               ที่อาคารรัฐสภา 2 สถาบันพระปกเกล้า จัดแถลงผลงานทางวิชาการเพื่อการปฏิรูปประเทศ ภายใต้โครงการสู่ทศวรรษที่เก้า : ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีการจัดสัมมนาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการนำข้อมูลข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ที่รวบรวมจากทุกภาคส่วนจัดทำเป็นผลวิจัย เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศอย่างยั่งยืน และหาทางออกจากความขัดแย้ง

               นางถวิลวดี  ในฐานะผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นำเสนอถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตเพื่อสร้างดุลอำนาจอย่างแท้จริง

               นางอรทัย ก๊กผล ผอ.วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า เสนอผลการวิจัยเรื่อง “ดุลอำนาจรัฐ ท้องถิ่น ประชาชน การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

               ขณะที่น.ส.ปัทมา สูบกำปัง นักวิชาการชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอผลงานวิชาการ หัวข้อ“การสร้างดุลยภาพในระบบโครงสร้างอำนาจรัฐ แนวทางปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร”ว่า การปฏิรูปโครงสร้างดังกล่าว เป็นการป้องกันปัญหาความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล จึงควรวางมาตรการคู่ขนานเสริม คือออกแบบระบบเลือกตั้งให้เกิดรัฐบาลผสม ขณะเดียวกันต้องให้แน่ใจว่า รัฐบาลผสมจะมีเอกภาพขั้นต่ำเพียงพอในการบังคับบัญชากลไกรัฐ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ