
มอบรางวัล5หญิงเก่งต่อยอดงานวิจัย
18 พ.ย. 2557
ไลฟ์สไตล์ : มอบรางวัล 5 หญิงเก่งต่อยอดงานวิจัย
เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยและมอบทุนแก่นักวิจัยสตรีมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ล่าสุด บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เผยรายชื่อนักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นจนได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ประจำปี 2557 ที่ห้องมณียาบอลรูม ชั้นเอ็ม โรงแรมเรเนซองส์ วันก่อน
สำหรับปีนี้นักวิจัยที่ได้รับทุนทั้ง 3 สาขารวม 5 คน สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ ผศ.ดร.อรฤทัย ภิญญาคง จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต จากหลักสูตรวิศวกรรมและภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับผลงานวิจัยหัวข้อ "การวิเคราะห์จีโนมของแบคทีเรียย่อยสลายน้ำมันปิโตรเลียมที่คัดแยกใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมฐานแบคทีเรียสำหรับบำบัดสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" สาขาวัสดุศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.วันเพ็ญ เตชะบุญเกียรติ จากภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงการ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับผลงานวิจัยหัวข้อ "การออกแบบพอลิเมอร์ลอกแบบจำเพาะระดับโมเลกุลสำหรับชุดตรวจวินิจฉัย" สาขาวิทยาศาสตร์เคมี 1 คนคือ ผศ.ดร.พัชณิตา ธรมยงค์กิจ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัย "การพัฒนาสารประกอบไวแสงชนิดอินทรีย์สำหรับเซลล์สุริยะและตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดอาศัยแสง"
โดย ดร.ขวัญชนก พสุวัต เผยว่า โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ เกิดจากการสึกหรอของข้อต่างๆ ที่รับน้ำหนักและภาวะเสื่อมสภาพ จึงตั้งใจที่จะคิดค้นการพัฒนาเทคนิคใหม่ที่เรียกว่าวิธีการสร้างเนื้อเยื่อสามมิติจากแผ่นเซลล์หลายชั้น ซึ่งช่วยทำให้จำนวนเซลล์กระดูกอ่อนที่ดีมีปริมาณมากขึ้นและแผ่นเซลล์ที่ลอกออกมามีโปรตีนที่ช่วยทำให้แผ่นเซลล์เกาะติดกับเนื่อเยื่อเดิมได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.วันเพ็ญ เตชะบุญเกียรติ กล่าวว่า โรคฉี่หนูอาการอาจคล้ายคลึงกับไข้ติดเชื้อทั่วไป การตรวจเพื่อให้ทราบผลที่แน่นอนต้องใช้เวลานาน และอาจเกิดลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยพอลิเมอร์ลอกแบบจำเพาะแบคทีเรียก่อโรคฉี่หนู ที่คาดว่าจะประยุกต์ใช้เป็นชุดตรวงวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทันท่วงทีต่อการรักษา
ท้ายสุด สิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ในโอกาสครบ 12 ปีของโครงการฯ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้เตรียมขยายผลโครงการ "ฟอร์ วูเมน อิน ไซอันซ์" ไปสู่โครงการ "ฟอร์ ยูธ อิน ไซอันซ์" (เพื่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ในกลุ่มเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดจะเชิญนักวิจัยผู้ที่ได้รับทุนแต่ละปีไปร่วมสร้างความสนใจในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน เพื่อเป็นการร่วมสร้างบุคลากรสู่วงการวิทยาศาสตร์ที่กำลังเป็นที่ต้องการอยู่ในขณะนี้ให้กับประเทศไทยต่อไป