ข่าว

ยานสำรวจ‘ไฟลี’ลงจอดบนดาวหาง

ยานสำรวจ‘ไฟลี’ลงจอดบนดาวหาง

13 พ.ย. 2557

สำนักงานอวกาศแห่งยุโรปส่งยานสำรวจ ‘ไฟลี’ ลงจอดบนดาวหางสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 
               13 พ.ย.57 สำนักงานอวกาศแห่งยุโรป หรือ ESA ประสบความสำเร็จในการส่งยานสำรวจ "ไฟลี" (Philae) ไปลงจอดอย่างนุ่มนวลบนดาวหาง "67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก" เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังเดินทางจากโลกพร้อมกับยานอวกาศ "โรเซ็ตตา" ซึ่งเป็นย่านแม่ เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
 
               ESA ระบุว่า ได้รับสัญญาณการลงจอดบนพื้นผิวที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งบนดาวหางที่ตำแหน่งอากิลเกีย จากยานสำรวจไฟลี น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เมื่อเวลา 16.03 น. ตามเวลามาตรฐาน หรือราว 23.03 น. ซึ่งนับตั้งแต่แยกตัวออกจากยานแม่จนกระทั่งลงจอดบนดาวหาง ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 7 ชั่วงโมง เจ้าหน้าที่ของศูนย์ควบคุมในดาร์มสตัดท์ของเยอรมนี ได้เข้าสวมกอดกันและโห่ร้องด้วยความยินดี
 
               ปฏิบัติการของยานโรเซ็ตตาและยานลูกไฟลี่ ถูกส่งขึ้นไปติดตามดาวหาง ตั้งแต่ปี 2547 เป็นระยะทางมากกว่า 6.4 พันล้านกิโลเมตร เพื่อไขปริศนาการก่อกำเนิดของระบบสุริยะ เมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน ซึ่งถ้าทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ยานไฟลี่ก็จะบันทึกภาพภูมิทัศน์ของดาวหางและวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของดาวหางด้วย
 
               ในขณะที่ยังมีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบสถานะการลงจอดของยานต่อไปนั้น ก็พบว่า การลงจอดอย่างราบรื่นของยานบนพื้นผิวของดาวหางที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วนั้น เป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง และยังเป็นความภาคภูมิใจของสำนักกงานอวกาศของยุโรป ที่สามารถแซงหน้าคู่แข่งอย่างองค์การบริหารอวกาศและการบินของสหรัฐ หรือ นาซา ได้อีกด้วย
 
               ดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก ถูกพบครั้งแรก เมื่อปี 2512 และถูกตั้งชื่อตามผู้ค้นพบคือ คลิม ชูริวมอฟ และชเวทลานา เกราซิเมนโก มีรายงานว่า มีอุปสรรคเล็กน้อย ระหว่างการลงจอด เนื่องจากแรงดึงดูดของดาวหางอ่อนมาก ทำให้ทีมวิศวกรต้องหาทางออกเพื่อให้ยานไฟลี สามารถยึดติดกับดาวหางได้ โดยอาศัยการยิงฉมวก 2 ตัว ออกมาจากขา และใช้ตะปูที่อยู่กับขาทั้งในการยึดติดกับพื้นผิวดาวหาง นอกจากนี้ ในช่วงของการลงจอด ยานไฟลี่ อยู่ห่างจากโลกถึง 500 ล้านกิโลเมตร ทำให้ยากที่นักวิทยาศาสตร์จะทำอะไรได้ นอกจากเฝ้าดูการลงจอดเท่านั้น
 
 
 
 
 
--------------------------------------
 
 
(ภาพ : EPA ,AFP)