ข่าว

จากอุโมงค์ใต้กำแพงเบอร์ลินสู่อุโมงค์ในกรุงเทพฯ

จากอุโมงค์ใต้กำแพงเบอร์ลินสู่อุโมงค์ในกรุงเทพฯ

12 พ.ย. 2557

จากอุโมงค์ใต้กำแพงเบอร์ลิน สู่อุโมงค์ในกรุงเทพฯ : เทพชัย หย่องรายงาน

                ราล์ฟ คาบิช ตัดสินใจว่าเขาต้องทำอะไรบางอย่างหลังจากเขาและครอบครัวเดินทางกลับจากเมืองกอร์ลิตซ์ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในเยอรมันตะวันออกติดกับชายแดนประเทศฮังการี ในราวเดือนพฤษภาคม 1964

                ในยุคนั้นถึงแม้เยอรมันถูกแยกออกเป็นสองส่วนแล้วก็ตาม แต่ชาวเยอรมันตะวันตกยังได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องในฝั่งตะวันออกได้ด้วยการใช้หนังสือเดินทางพิเศษ แต่ชายแดนสู่ตะวันตกถูกปิดตายสำหรับชาวบ้านฝั่งตะวันออก

                “ด้วยความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ไร้เสรีภาพ และเต็มไปด้วยการกดขี่ ญาติพี่น้องผมไม่มีทางมีชีวิตรอดได้เลยถ้ายังอยู่ในฝั่งตะวันออกต่อไป”  ราล์ฟยังจำความรู้สึกตัวเองขณะนั้นได้

                สิ่งแรกที่ราล์ฟทำหลังจากเดินทางกลับมาเบอร์ลินตะวันตกคือการหาใครก็ตามที่สามารถช่วยญาติพี่น้องของเขาได้ โชคชะตาพาให้ราล์ฟไปพบกับนักศึกษาคนหนึ่งที่เป็นแกนหลักในขบวนการช่วยเหลือชาวเยอรมันตะวันออกลี้ภัยมาฝั่งตะวันตก “ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร แต่ทันทีที่ผมเอ่ยปาก เขาตอบทันทีว่า ผมคิดว่าผมสามารถทำอะไรบางอย่างที่ช่วยคุณได้” ราล์ฟยังจำครั้งแรกของการพบปะกับนักศึกษากลุ่มนี้ได้

                ไม่กี่วันหลังจากนั้นราล์ฟก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักศึกษาประมาณ 20-25 คน ที่ร่วมกันสร้างวีรกรรมที่ถูกจารึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กำแพงเบอร์ลินมาจนถึงทุกวันนี้

                แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ราล์ฟและเพื่อนจะช่วยญาติๆ ให้ออกจากเบอร์ลินตะวันออกด้วยการหนีข้ามกำแพง มันสูงกว่าสามเมตร เป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กที่วิ่งตลอดแนวแบ่งเขตแดนเกือบ 160 กม. แถมยังกั้นด้วยรั้วลวดหนาวอีกชั้น และยังมีป้อมยามและยามรักษาการณ์ตลอดแนว   มีชาวเยอรมันตะวันออกนับสิบแล้วที่กลายเป็นศพขณะพยายามหนีข้ามกำแพง

                เพราะฉะนั้นราล์ฟและเพื่อนจึงต้องคิดค้นวิธีที่ฝั่งตะวันออกนึกไม่ถึง นั่นคือการหนีด้วยการลอดใต้กำแพง และทางเดียวก็คือการขุดอุโมงค์

                เกือบหกเดือนเต็มๆ ระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม 1964 นักศึกษาหนุ่มกว่า 20 คน ช่วยกันใช้เครื่องมือทุกอย่างขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงจากฝั่งเบอร์ลินตะวันตกไปสู่ฝั่งตะวันออก

                เป็นที่รู้กันดีว่าทุกความเคลื่อนไหวของชาวเบอร์ลินจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากตำรวจลับของรัฐบาลเยอรมันตะวันออกที่สร้างเครือข่ายการข่าวไว้ในทุกวงการ เพราะฉะนั้นราล์ฟและเพื่อนตระหนักดีว่าจะต้องทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นความลับมากที่สุด  แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

                ปฏิบัติการนี้เริ่มจากการหาจุดที่จะเป็นปากอุโมงค์ ซึ่งโชคดีที่สามารถได้ร้านทำขนมปังเก่าร้านหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากกำแพงไม่มากนัก แต่ที่ยากคือการหาจุดที่จะเป็นปลายอุโมงค์ที่อยู่ฝั่งตะวันออก แต่ในที่สุดด้วยการประสานงานกับผู้ร่วมขบวนการในฝั่งตะวันออก ก็ได้บ้านเช่าหลังหนึ่งที่ดูแล้วน่าจะปลอดภัย

                ราล์ฟเล่าให้ฟังว่า การขุดอุโมงค์ต้องทำในเวลางกลางคืนเท่านั้น เพราะกลางวันทุกคนต้องไปเรียนและพบปะผู้คนตามปกติเพื่อไม่ให้เกิดความสงสัย ที่สำคัญตำรวจลับฝั่งตะวันออกจะเฝ้ามองด้วยกล้องส่องทางไกลมายังฝั่งตะวันตกตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวที่น่าสงสัย เวลาจะเข้าไปในบ้านก็ต้องแยกกันเข้าเป็นกลุ่มเล็กๆ ทีละสองสามคนเพื่อให้ดูเหมือนกับว่ากำลังเข้าบ้านเลี้ยงสังสรรค์กัน

                “อุโมงค์ที่เราขุดมีขนาดพอที่จะให้คนรอดผ่านได้ เพราะถ้าขุดใหญ่เกินไป เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาดินและทรายที่ขุดขึ้นมาไปทิ้งที่ไหน” ราล์ฟเล่าถึงปฏิบัติการ ซึ่งในระหว่างนั้น ดินและทรายจากการขุดอุโมงค์ต้องเอาไปเก็บไว้ในตู้ลิ้นชัก และเครื่องอบขนมปังเก่า

                หลังจากขุดลงไปลึกประมาณ 12 เมตรและเจอะน้ำ ทีมงานก็เริ่มขุดเส้นทางตรงลอดใต้กำแพงไปยังจุดเป้าหมายฝั่งตะวันออก ในที่สุดในกลางเดือนตุลาคมปฏิบัติการขุดอุโมงค์ความยาวทั้งสิ้น 145 เมตรก็สำเร็จ ราล์ฟและเพื่อนกำลังเข้าสู่ปฏิบัติการขั้นที่สอง ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง 

                ผู้ร่วมขบวนการในฝั่งตะวันออกเริ่มส่งสัญญาณไปยังผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นผู้ลี้ภัย ราล์ฟและทีมงานได้เตรียมรายชื่อของทุกคนไว้หมดแล้ว แต่การเคลื่อนไหวต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะตำรวจลับที่นั่นหูตาเป็นสับปะรด  

                บ้านเลขที่ 55 คือจุดนัดพบ เป็นจุดที่อุโมงค์จากฝั่งตะวันตกโผล่ขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางหลบหนี

                “ผู้ลี้ภัยทุกคนจะได้รับการนัดแนะเวลาเพื่อเดินทางไปที่จุดนัดพบ เมื่อถึงหน้าบ้านเลขที่ 55 ก็จะเคาะประตู พร้อมเอ่ยรหัสลับ คือคำว่า โตเกียว” ราล์ฟยังจำรายละเอียดทุกอย่างได้เป็นอย่างดี

                มีคำถามแน่นอนว่าทำไมต้องเป็นคำว่า “โตเกียว”  

                “ปีนั้นเป็นปีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก โดยจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว  เพราะฉะนั้นเราจึงเอาคำที่จำง่ายที่สุด เพราะอย่าลืมว่าในภาวะแบบนั้น ทุกคนจะอยู่ในภาวะกดดันและตื่นเต้น เราต้องเอารหัสลับที่ไม่ซับซ้อนเกินไป”  ราล์ฟเฉลย

                สองคืนเต็มๆ ที่ชาวเยอรมันตะวันออก 50 คน ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ ค่อยๆ ทยอยกันลอดใต้อุโมงค์ไปสู่เสรีภาพฝั่งตะวันตก ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามแผนหมด แต่ในคืนที่สามเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น

                ตำรวจลับของเยอรมันตะวันออกค้นพบแผนการหลบหนี และบุกเข้าไปในบ้านเลขที่ 55 ขณะที่ผู้ลี้ภัยกลุ่มสุดท้ายกำลังหย่อนตัวลงไปในอุโมงค์ เกิดการต่อสู้กันขึ้น นักศึกษาคนหนึ่งยิงใส่ตำรวจเยอรมันตะวันออก

                “ตำรวจคนนั้นได้รับบาดเจ็บ แต่วันรุ่งขึ้นรัฐบาลเยอรมันตะวันออกประโคมข่าวว่าเพราะถูกนักศึกษายิงเสียชีวิต แต่การสอบสวนภายหลังพบว่าเขาตายเพราะลูกหลงจากตำรวจด้วยกันเอง” ราล์ฟเล่าถึงนาทีตื่นเต้น

                ราล์ฟทราบภายหลังว่า ที่ตำรวจลับล่วงรู้ถึงปฏิบัติการนี้ก็เพราะมีสายลับแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมขบวนการนี้ด้วย

                เหตุการณ์ในคืนนั้นทำให้ปฏิบัติการของราล์ฟและเพื่อนต้องปิดฉากลง   “แต่ยังดีที่เราได้ช่วยญาติๆ และเพื่อนๆ 57 คน ให้ได้พบกับเสรีภาพ” ราล์ฟพูดถึงจำนวนคนที่ช่วยออกมาได้

                ถึงแม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาแล้วถึง 50 ปี แต่คนเยอรมันก็ไม่เคยลืมวีรกรรมอันกล้าหาญของเด็กหนุ่มกลุ่มนั้น ถึงแม้จะไม่เหลือเค้าโครงเดิม บ้านเลขที่ 55 ก็ยังได้รับการรักษาไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคนรุ่นหลัง 

                ทุกวันนี้ ปฏิบัติการ “อุโมงค์ 57” ก็ยังเป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์ใช้เรียกขบวนการของราล์ฟและเพื่อน และยังเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการกลางแจ้งเกี่ยวกับความโหดร้ายของกำแพงเบอร์ลิน

                ไม่น่าเชื่อว่าหลังเหตุการณ์นั้น 38 ปี ราล์ฟยังต้องมาขุดอุโมงค์อีกครั้ง   แต่คราวนี้เป็นอุโมงค์ในกรุงเทพฯ และไม่ใช่เพื่อการหลบหนี แต่เพื่อเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดิน

                “เมื่อมองย้อนกลับไป ผมถือว่าการขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงเบอร์ลินเป็นการฝึกงาน” ราล์ฟเล่าติดตลก    

                ราล์ฟใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ สองปีระหว่าง 2002-2004 ในฐานะวิศวกรโยธาดูแลฝ่ายปฏิบัติของบริษัทซีเมนส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทที่สร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าเขาจะรู้จักเส้นทางรถไฟใต้ดินของบ้านเรามากกว่าคนไทยทั่วไป

                ราล์ฟ ซึ่งปัจจุบันอายุ 72 ปี และครอบครัวยังกลับมาเที่ยวเมืองไทยเป็นระยะๆ เขาหลัก จ.พังงา เป็นสถานที่เที่ยวที่ราล์ฟโปรดปรานมากที่สุด

                เขาไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายที่ต้องเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้วให้ทุกคนที่สนใจฟัง เพราะราล์ฟเชื่อว่ามันจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความเลวร้ายของสงครามและการปกครองประเทศแบบเผด็จการ เพื่อที่ความเลวร้ายแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

---------------------------------------------

(หมายเหตุ : จากอุโมงค์ใต้กำแพงเบอร์ลิน สู่อุโมงค์ในกรุงเทพฯ  : เทพชัย หย่องรายงาน)