
ในความเรียวบางของสถาบันครอบครัว
ในความเรียวบางของสถาบันครอบครัว : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล
เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมครอบครัวถึงเป็นสถาบันหลักของคนไทยและคนเอเชียที่นับถือลัทธิขงจื้อ ทั้งนี้ก็เพราะคนไทย คนจีน คนลาว คนพม่า และอื่นๆ ในสมัยโบราณ ประกอบอาชีพทางการเกษตร และการทำไร่ไถนาปลูกผักนั้น ต้องอาศัยแรงงานในครัวเรือน กลวิธีที่จะทำให้คนในครอบครัวหรือคนในตระกูลอยู่รวมกัน และทำงานในไร่นาร่วมกันก็คือการผูกจิตใจของทุกคนไว้ด้วยการสร้างจารีตและขนบปฏิบัติของครอบครัว เช่น ความกตัญญู การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ การอุทิศตนให้ครอบครัว การดูแลควบคุมกันเองด้วยระบบอาวุโส การรักวงศ์ตระกูล เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ซึมซับในจิตใจและพฤติกรรมของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนกลายเป็นประเพณี หรือวัฒนธรรม ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตวิญญาณ
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศเกษตรกรรมเริ่มหันไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการมากที่สุดก็คือ แรงงานซึ่งอยู่ในท้องไร่ท้องนา ด้วยเงื่อนไขและโอกาสที่ดีกว่า ทำให้คนที่เคยตากแดดตากฝนทำงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน พากันเดินแถวเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีผลตอบแทนที่แน่นอนกว่า การทำงานที่เป็นระบบกว่า และชีวิตที่สะดวกสบายกว่า และนอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว แรงงานก็ยังเป็นที่ต้องการของภาคบริการด้วยเช่นกัน ซึ่งการหลั่งไหลเข้าทำงานในเมือง ทำให้เมืองเติบโตขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันชนบทก็หดตัวลง ภาพของครอบครัวใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวช่วยกันทำงานหายไป เหลือเพียงครอบครัวเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ในเมือง และต่างคนต่างก็คร่ำเคร่งทำงานของตน จนขาดสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเช่นอดีต จะพบกันบ้างก็อาจจะแค่ปีละครั้งสองครั้ง
ถ้าถามว่า อุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ทำลายความสำคัญของสถาบันครอบครัวใช่หรือไม่? ผมคิดว่า จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมหรือบริการ เป็นคำตอบเพียงบางส่วน ทั้งนี้เพราะแนวคิดในการที่จะลดบทบาทและความสำคัญของครอบครัวน่าจะมาจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในยุคสงครามเย็น ที่โลกเสรีต้องการจะแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยทำให้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต และระบบทุนนิยมก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการแข่งขัน ครอบครัวจึงไม่ได้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวคน เท่ากับตัวเลขการผลิตและผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน พร้อมๆ กับการลดบทบาทของครอบครัวลง สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือ ประเทศชาติ เช่น คนอเมริกันและตะวันตกมีความภาคภูมิใจในการที่ประเทศของตนเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก และหยิ่งทะนงในความเป็นพลเมืองของสหรัฐ และโสกเสรี
ทางฝ่ายค่ายสังคมนิยมเอง ก็มองว่า สถาบันครอบครัวเป็นปัญหาของการปฏิวัติสังคม ครอบครัวทำให้เกิดความคิดในแนวปัจเจกนิยม จึงจำเป็นต้องทลายความเป็นครอบครัวลง เพื่อให้พลเมืองของตน คิดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม มากกว่าส่วนตน และยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค เพื่อความแข็งแกร่งของค่ายตน
ประเทศไทยของเรานั้นดำเนินตามแนวทางเสรีนิยมและทุนนิยมมาโดยตลอด การเรียวลงของสถาบันครอบครัว จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ และไม่ว่าภาครัฐจะรู้หรือคำนึงถึงเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม ทุกอย่างก็เป็นไปตามกลไกของระบบเศรษฐกิจ เพียงแต่เราไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจในชาติ และความภูมิใจในความเป็นคนไทย ขึ้นมารองรับเพื่อให้ประชาชนยึดถือแทนสถาบันครอบครัว
ทุกวันนี้ เราแทบจะไม่เหลือสภาพของครอบครัวใหญ่ หรือการทำงานร่วมกันของสมาชิกของครอบครัวในท้องไร่ท้องนา และวันหนึ่งเมื่อถึงกาลหมดสิ้นของคนรุ่นเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ ภาพของสถาบันครอบครัวก็น่าจะบางเบายิ่งไปกว่านี้ และสังคมไทยที่ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว ก็จะกลายเป็นสังคมที่เปะปะ ไปกันคนละทางสองทาง