ข่าว

เทศกาลทอดกฐิน

เทศกาลทอดกฐิน

27 ต.ค. 2557

เทศกาลทอดกฐิน : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

 “เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา

รับกฐินภิญโณโมทนา

ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย”

                กฐินเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ดังที่ “สุนทรภู่” ได้ประพันธ์ไว้ใน “นิราศภูเขาทอง” ที่นำมาแสดงข้างต้น

                คำว่า กฐิน แปลว่า สะดึงหรือกรอบไม้ที่ใช้ขึงผ้าให้ตึงเพื่อสะดวกในการเย็บ ปัก การทำจีวรในสมัยก่อนนั้น ต้องนำผ้ามาเย็บต่อกันเป็นผืนเดียว จึงต้องใช้สะดึงขึงผ้าให้ตึง และจะต้องช่วยกันทำ ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุ  เช่น พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระมหากัสสปะ เป็นต้น ต้องลงมือเย็บจีวรกันเอง โดยชาวบ้านจัดหาน้ำดื่มมาถวาย

                การทอดกฐินเป็นการร่วมกันนำจีวร สบง สังฆาฏิ มาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยพุทธบัญญัติกำหนดเวลาไว้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกพรรษา คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งพระภิกษุแต่ละองค์จะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวในปีหนึ่ง

                ในการทอดกฐินนั้น เจ้าภาพต้องติดต่อกับทางวัดเพื่อจองกฐินตั้งแต่เริ่มเข้าพรรษา และกำหนดวันที่จะทอดกฐินไว้ล่วงหน้า เพื่อแจ้งให้ผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมทำบุญทราบล่วงหน้า เมื่อถึงวันทอดกฐินก็นำเครื่องกฐิน ประกอบด้วยไตรจีวร สำหรับองค์ครอง 1 ไตร และคู่สวด 2 องค์ องค์ละ 1 ไตร พร้อมเครื่องบริขารอื่นๆ ไปถวาย โดยประเพณีก็จะมีการทำอาหารเลี้ยงพระและผู้ที่ไปร่วมงาน  บางวัดก็จะมีมหรสพฉลองในคืนก่อนการทอดกฐิน

                ในวันงาน เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ เจ้าภาพก็จะนำผ้ากฐินมาตั้งหน้าพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางคณะสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ เมื่อพระภิกษุสงฆ์รับแล้ว เจ้าภาพก็จะนำผ้ากฐินไปถวายพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ พระเถระเมื่อรับผ้ากฐินมาแล้วก็จะพิจารณามอบแก่พระรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งรู้วินัยธรรม มีวัตรดี มีจีวรเก่า พระสงฆ์ที่ได้รับผ้ากฐิน ก็จะกล่าวคำถอนผ้าเก่าที่ครองอยู่และอธิษฐานรับผ้าใหม่ หลังจากนั้นก็จะมีธรรมเทศนาถึงประวัติความเป็นมาของการทอดกฐิน และอานิงสงส์ของการทอดกฐิน จากนั้น พระภิกษุที่รับผ้ากฐินจะตั้งนะโม 3 จบ กล่าวคำรับผ้ากฐินและอนุโมทนาต่อหน้าคณะสงฆ์ คณะสงฆ์พร้อมกันสาธุ เป็นอันเสร็จพิธี

                การทอดกฐินนับเป็นประเพณีที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นกิจกรรมทางสังคม ที่เสริมสร้างความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ และการรักษาวัฒนธรรม รวมทั้งคตินิยมและวิถีปฏิบัติอันดีงามของชุมชนในท้องถิ่นด้วย

                อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลทอดกฐินในแต่ละปี มักจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และนำมาซึ่งเรื่องราวที่น่าสลดใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากความประมาท ความคึกคะนอง และการดื่มสุรา ซึ่งไหนๆ ก็จะไปทำบุญกันแล้วก็

                ควรจะนำธรรมะของพระพุทธองค์มาปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะในเรื่องความไม่ประมาท ความมีสติ และการละเว้นสุราและเครื่องมึนเมา ก็จะทำให้อิ่มบุญ อิ่มสุข และปลอดภัย ในการทอดกฐิน อย่างเต็มที่

                ท้ายคอลัมน์วันนี้ ขอแนะนำหนังสือน่าอ่าน จากสำนักพิมพ์ นาคร เล่มแรก “รักด้วยเลือด” รวมเรื่องสั้นคัดสรรชิ้นเอกจากนักเขียนชั้นนำของญี่ปุ่น ผลงานแปลของ “อมราวดี” (ราคา 150 บาท) ราหูอมจันทร์ นิตยสารเรื่องสั้นรายฤดูกาล เล่มที่ 14 “เซฟเว่น กู๊กเวือด” (ราคา 270 บาท) และ “รื้อหิ้งพระหาเงินล้าน” ของ “เอก อัคคี” (ราคา 240 บาท)