
เงินเดือน'ที่ปรึกษา'เท่ารองปธ.สปช.
25 ต.ค. 2557
'พรเพชร' นัด สนช.เลือก กมธ.ยกร่างรธน. 30 ต.ค. อัตราเงินเดือน 'ที่ปรึกษา' เท่ากับตำแหน่งรองปธ.สปช. 'กปปส.' ไม่ติดใจคนนอกร่วม กมธ.ยกร่างฯ
25 ต.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของประธานสภา และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ซึ่งลงนามโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
สำหรับระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดให้มี 1. ที่ปรึกษาประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 72,660 บาท 2. ที่ปรึกษารองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีจํานวนเท่าจํานวนรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 72,660 บาท 3. เลขานุการประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 49,210 บาท 4. เลขานุการรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีจํานวนเท่าจํานวนรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 49,210 บาท 5. ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 43,490 บาท 6. ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีจํานวนเท่าจํานวนรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 43,490 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ด้วย โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นคณะทํางานทางการเมือง ดังต่อไปนี้
(1) คณะทํางานทางการเมืองของประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (2) คณะทํางานทางการเมืองของรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ
คณะทำงานทางการเมืองให้มีตำแหน่ง จำนวน และอัตราค่าตอบแทน ประกอบด้วย 1. ที่ปรึกษา จำนวน 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท 2. นักวิชาการ จำนวน 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 18,000 บาท 3. เลขานุการ จำนวน 2 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท
นอกจากนี้ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละคนในตําแหน่ง จํานวน และอัตราค่าตอบแทน ดังต่อไปนี้ 1. ผู้เชี่ยวชาญประจําตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 24,000 บาท 2. ผู้ชํานาญการประจําตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท 3. ผู้ช่วยดําเนินงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท โดยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละคน ถ้ามีการแต่งตั้งครบจํานวน 5 อัตรา ในจํานวน 5 อัตราดังกล่าว ให้แต่งตั้งจากบุคคลที่สมัคร หรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อย่างน้อย 1 อัตรา
'พรเพชร' นัดประชุม สนช. 30 ต.ค. เลือกกมธ.ยกร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร ได้ทำหนังสือนัดประชุม สนช. ในวันที่ 30 ต.ค. โดยมีเรื่องด่วนจำนวน 13 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การกำหนดวัน และเวลาการประชุม สนช. 2. การพิจารณาเสนอสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สนช. จำนวน 5 คน และ 3. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 9 ฉบับ ที่ ครม.เสนอ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดเกี่ยวกับเพศ , ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 , ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน , ร่างพระราชบัญญัติการประมง , ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่มีความน่าสนใจ คือ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ มีสาระสำคัญตรงที่เป็นการกำหนดให้ผู้ใดที่กระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งไม่ใช่ภริยา หรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8 หมื่นบาท ถึง 4 แสนบาท
โดยการกระทำชำเราดังกล่าวหมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น และถ้าการกระทำความผิดเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1.4 แสนบาท ถึง 4 แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการบัญญัติว่าผู้ใดกระทำชำเราศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดกระทำอนาจารแก่ศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ ส่วนของศพ อัฐิ หรือเถ้าของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สปช.ส่อล้ม 5 คนนอกนั่งเก้าอี้ยกร่างฯ
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะโฆษกวิป สปช. ชั่วคราว กล่าวถึงกรณี สปช.คัดค้านการให้โควต้าคนนอก 5 คน ในสัดส่วนของ สปช.มาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การเสนอให้โควต้าคนนอก 5 คน เป็นเพียงแนวทางตามมติของวิป สปช. เพื่อเสนอให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาในวันที่ 27 ต.ค.เท่านั้น ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม สปช. ในส่วนวิป สปช. ชั่วคราว ก็ยังมีเสียงก้ำกึ่ง 11 - 8 เสียง โดย 11 เสียง นำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน อยากให้มีโควต้าคนนอกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่อีก 8 เสียง ไม่อยากให้มี อย่างไรก็ตาม เท่าที่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิก สปช.ขณะนี้ไม่อยากให้มีคนนอกมายกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการให้เป็นคนใน สปช.ทั้งหมดมายกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการประชุม สปช.ในวันที่ 27 ต.ค. จึงมีแนวโน้มสูงมากที่จะมีมติให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. มาจากคนใน สปช.ทั้งหมด 20 คน
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่ควรให้คนใน สปช.เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คนเนื่องจาก 1. เจตจำนงของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ต้องการให้ สปช.เป็นแม่งานร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง จึงให้โควต้า สปช.ถึง 20 คน มาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง คสช. ครม. สนช. หาก สปช.ต้องแบ่งโควต้าให้คนนอก 5 คน ก็เท่ากับว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ สปช.โดยตรงในการร่างรัฐธรรมนูญ 2. องค์ประกอบของ สปช.มีความหลากหลายอยู่แล้วในตัว มีคู่ขัดแย้งทั้ง นปช. กปปส. ใน สปช.อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำคู่ขัดแย้งมาอยู่ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 3. เชื่อว่า คสช. ครม. จะนำโควต้าคนนอกที่มีความรู้ ความสามารถ มาร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
"การประชุม สปช.ในวันที่ 27 ต.ค. จะมีการอภิปรายกันด้วยเหตุผล ไม่ได้มุ่งแพ้ชนะทางการเมือง ขณะนี้มี สปช.เสนอตัวเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 10 กว่าคนแล้ว โดยเฉพาะ สปช.สายการเมือง มีผู้เสนอตัวจำนวนมาก คาดว่า ไม่เกินวันที่ 28 ต.ค.น่าจะได้รายชื่อ สปช.ทั้ง 20 คน ที่จะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ"
'กปปส.' ไม่ติดใจคนนอกร่วมกมธ.ยกร่างฯ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ซึ่งในส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ยังถกเถียงกันว่าจะมีคนนอก 5 คนหรือไม่ ซึ่งเห็นว่า หากจะนำคนนอกเข้ามาด้วย ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างฯ เพราะคนนอกที่เป็นนักวิชาการก็มีความรู้ความสามารถด้านรัฐธรรมนูญ เช่น กลุ่มของนายบรรเจิด สิงคะเนติ หรือกลุ่มของนายอมร จันทรสมบูรณ์ หรือแม้แต่กลุ่มคนหัวสมัยใหม่ ก็น่าจะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญ มีความหลากหลาย ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศได้ แต่หากนำกลุ่มการเมืองที่มีประสบการณ์ก็จะขัดกับคุณสมบัติของกรรมาธิการยกร่างฯ
นายเอกนัฏ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามทาง กปสส.ไม่ติดใจ ว่ากรรมาธิการยกร่างฯ จะมาจากไหน แต่จะจับตามองการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะไปแนวทางไหนมากกว่าตัวบุคคล โดย กปปส.จะนำเสนอแนวทางการปฏิรูปต่อกรรมาธิการยกร่างฯ แม้ว่าขณะนี้จะไม่สามารถระดมความคิดเห็นของนักวิชาการแบบเปิดได้ เนื่องจากขัดกับกฎอัยการศึก แต่ กปปส.ก็จะมีการคุยกันในวงในเล็กๆ โดยจะรวบรวมงานด้านวิชาการ ความเห็นในช่วงที่ กปปส.ได้มีการจัดงานเสวนาระหว่างการชุมนุม มาสรุปเป็นแนวทางให้กับ สปช. เพื่อเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ต่อไป