
โลกการศึกษาของ 'อาจารย์ยักษ์'
26 ต.ค. 2557
คุยนอกกรอบ : โลกการศึกษาของ 'อาจารย์ยักษ์' : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์
หลังได้รับรางวัลรางวัลอิสรเมธี ประจำปี 2557 จาก พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ประธานมูลนิธิวิมุตตยาลัย ผู้ก่อตั้งรางวัลอิสรเมธี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ "SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม" ของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อกลางเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลจากพระ
รางวัลดังกล่าวได้รับจากการทำงานพัฒนาตามศาสตร์พระราชา กระทั่งก่อตั้ง "โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" (ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง) เพื่อถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวแก่คนทั่วไป เป็นระบบการศึกษาทางเลือกที่คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า นี่คือทางรอดของประเทศไทย
ทั้งนี้ การศึกษาไทยมี 3 ระบบ คือ 1.การศึกษาในระบบ มีขั้นพื้นฐาน อุดมศึกษา และอาชีวศึกษา 2.การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย 3.การศึกษาทางเลือก และปูทะเลย์ฯ จัดอยู่ในกลุ่มนี้
“บุญแรกผมได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์สังคม หลวงพ่อมาเองได้สอง เพราะหลวงพ่อจบปริญญาโทด้านการศึกษาเลยตั้งโรงเรียนและบ้านพร้อมกัน นี่เป็นครั้งที่สอง ผมมีความมั่นใจว่า งานของพระเจ้าแผ่นดินจะแพร่ไปช่วยเหลือคนยากได้เร็วขึ้น ทันกับเวลาที่กำลังจะเกิดหายนะขึ้นในแผ่นดิน”
ล่าสุดได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 250 คน (ด้านการศึกษา) ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ดร.วิวัฒน์บอกว่า ถูกขอร้องจากสภามหาวิทยาลัย เสนอชื่อเข้าไปทำหน้าที่ ตอนแรกปฏิเสธ เพราะคิดว่าไม่มีฝีมือ ทว่า ในที่สุดก็ตอบรับ แม้ทราบดีว่า คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยได้ แต่หวังว่าจะทำให้การศึกษาทางเลือกขยายตัวมากขึ้น
“เราฝันว่าจะมีโรงเรียนอย่างนี้เกิดขึ้นในชนบท บนดอย สอนการอนุรักษ์ป่าใน 8 หมื่นชุมชน ฝันว่าจะเกิดโรงเรียนทางเลือกหมื่นแห่ง...ผมสิ้นหวังในระบบ จึงออกมาทำเอง ใน สปช.ตั้งใจทำเรื่องเดียว เอาโรงเรียนทางเลือกให้เกิดสักหมื่นแห่งภายใน 9 ปี ให้มีหลักสูตรเหมาะกับพื้นที่นั้นๆ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กมีความสุข กตัญญูต่อแผ่นดินให้ได้...ผมฝันว่า จะมีโรงเรียนปูทะเลย์ หรือโรงเรียนแบบของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี โดยรัฐสนับสนุน รับรองคุณวุฒิว่าถูกต้อง สนับสนุนเงินเหมือนเอกชน หรืองานก่อสร้างด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญของการฟื้นฟูชาติ”
ปัจจุบันโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย เปิดสอนระดับประถม มัธยมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยระดับประถมและมัธยมได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ส่วนหลักสูตรปริญญาตรีและโท เป็นความร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ เปิดหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม (เอสอี) สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนปริญญาเอก อาจารย์ยักษ์อ้างถึง ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน บอกให้ใช้เกณฑ์ “กรอ.” (แปลว่า รับรองกันเอง) กล่าวคือ ต้องทำมาตรฐานให้สูง และว่า องคมนตรีของกษัตริย์จิกมีแห่งภูฏาน ได้ส่งลูกและหลานมาเรียนด้วย
“องคมนตรีท่านรับภาระการจัดการศึกษาของชาติ...ท่านได้ข้อมูลจากสื่อออนไลน์และแวะมาคุยกับผมว่า คอนเซ็ปต์เป็นไง ถ้าจะให้ลูกมาเรียนได้ไหม ก็ตกลงส่งมา ด้วยเงื่อนไขบอกว่า เขาผลิตอาหารไม่พอกิน ผลิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือซื้อจากอินเดีย สิ่งที่เขาฝันมีเรื่องเดียวคือ ทำอย่างไรจะกลับไปตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย สอนประชาชนให้ผลิตให้พอกินทั้งประเทศ”
แน่นอนว่า เป็นการทำเกษตรธรรมชาติ ซึ่งอาจารย์ยักษ์เรียกว่า “กสิกรรมธรรมชาติ” นักศึกษาจากภูฏาน 4 คน 2 คนเป็นบุตรขององคมนตรี อีก 2 คนเป็นหลาน ทั้งหมดมาศึกษาระดับปริญญาตรี โดยอยู่ประจำ เพิ่งเรียนได้ 1 ปี
หน่วยก้านเป็นอย่างไร?
“โอ้โฮ ลูกองคมนตรีสองคนทั้งหล่อและสวย ภาษาอังกฤษเนียน เนี้ยบ พี่สาวภาษาอังกฤษดีมาก หน้าตาดี มารยาทงาม กราบสวยกว่าเราอีก ส่วนผู้ชายก็รูปหล่อ ผมตั้งเป้าว่า ถ้าเขาอดทนและผ่านมาตรฐานพื้นฐานปีครึ่ง เนื้อหามี 4 ข้อ วัดสองข้อก่อนภายในปีครึ่ง พอผ่านเราจะเริ่มพาทำวิจัยเชิงปฏิบัติจริงในบ้านเขา คือต้องกลับไปสร้างศูนย์ฝึกจริงๆ ก่อนพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยต้องทำศูนย์ฝึกเล็กๆ ก่อน”
ไม่ได้ฝึกเพื่อเป็นเกษตรกร แต่ต้องการความรู้สำหรับตั้งโรงเรียน?
“ใช่ ฝึกเพื่อตั้งโรงเรียน ให้คนเขามีกิน เขาต้องฝึกทุกอย่าง วิชาบริหารโรงเรียน ผมจะให้ทุนปีละ 4-5 คน โรงเรียนที่จะตั้งควรมีสตาฟฟ์ 20 คน สำหรับไปอบรมให้คน 7 แสนคน ทำเกษตรให้พอกิน นี่คือเป้าขององคมนตรี”
ปัจจัยภูมิประเทศที่แตกต่างกัน สามารถนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้?
“ไม่มีปัญหาครับๆ ง่ายมาก ขอให้เข้าถึงหลักคิดของพระเจ้าอยู่หัว สามารถประยุกต์ใช้ทั้งบนเขา ชายทะเลได้หมด เพราะเราไปทำในพม่า บนดอยที่สูงชัน ซึ่งบอกว่าเก็บน้ำไม่ได้ ที่เขาบอกว่าไม่ได้ๆ เราก็พิสูจน์ อย่างมาบเอื้องคนก็บอกว่าไม่ได้ ผมพิสูจน์แล้วว่ามันทำได้”
เนื้อหา 4 ข้อ ที่ต้องถ่ายทอดให้นักศึกษาภูฏาน 3 ข้อแรกคือ ต้องมีความแม่นยำในการจัดการน้ำ ดิน ป่า เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี ป่าเป็นระบบนิเวศ ทำให้ผลิตอาหารอะไรก็ได้ แต่ต้องรู้รอบและรู้จริง เพราะเงื่อนไขคือ ความพอเพียง ข้อที่ 4 คือองค์ความรู้ในการจัดการ ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิตทั้งหมดต้องพึ่งตนเอง ไม่ใช่ซื้อจากบริษัทจนควบคุมอะไรไม่ได้เลย เราต้องสอนให้คัดพันธุ์เอง เก็บเอง สอนให้คัดพันธุ์ข้าว คัดพันธุ์ผักกินผล ผักกินใบ
“อย่างการคัดพันธุ์ข้าว สวยขนาดไหน หอมขนาดไหน ไม่มีอะไรยากเลย (เน้นเสียง) ไม่ต้องจบปริญญาโท ปริญญาเอก แกะเปลือกดูว่า สีดี หุ่นดี ผิวดี ตาตี่ไหม ถ้าคุณชอบกินเม็ดอ้วนๆ ก็เลือกเม็ดป้อม อ้วน อย่าไปเชื่อมาตรฐานบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ให้ดูว่าเราชอบกินแบบนี้ก็คัดแบบนี้ ชอบเรียว ยาว ขาว หรือชอบอวบ...จมูกข้าวมีสองอัน เขาถึงเรียกตาตี่หรือตาโต ชอบความหอมแบบไหน ก็กัด ดูด ดมเอา” (หมายถึงดูจากข้าวสารที่แกะเปลือกออกแล้ว แต่จมูกข้าวต้องยังอยู่)
ลืมบอกไปว่า สถาบันแห่งนี้ให้เรียนฟรี ทุกระดับชั้น มีทั้งนักเรียนประจำและไปกลับ ส่วนนักศึกษาจากภูฏานทั้ง 4 คน มาอยู่ประจำกินนอนที่นี่ และเรียนฟรีเช่นกัน อาจารย์ยักษ์พูดด้วยน้ำเสียงยิ้มๆ ว่า
“เราตกกระไดพลอยโจนให้ทุนเรียนฟรีตั้งแต่ประถมถึงปริญญาเอก ทั้งที่เราค่อนข้างมีฐานะ (เว้นวรรคการพูด) ยากจนนะครับ แต่เห็นว่างานของพระเจ้าแผ่นดินไม่มีโรงเรียนไหนทุ่มเททำอย่างจริงจัง พอเราไปสร้างให้ดู (ในโรงเรียนในระบบ) พอผมหมดวาระเขาก็เลิกทำ...”
ส่วนงานในตำแหน่ง สปช. ซึ่งได้รับเลือกเป็นตัวแทนด้านการศึกษา ดร.วิวัฒน์ ประเมินตั้งแต่ต้นแล้วว่า ด้วยโครงสร้างของระบบที่เป็นอยู่ คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เขาจึงปฏิเสธการเป็นตัวแทนของหน่วยงานในตอนแรก
“เขาเจรจาจนเรารับปากว่า เอ้า ไปก็ไป แต่อย่าคาดหวังนะ เพราะประเมินแล้วว่าทำอะไรไม่ได้ แต่ด้วยสถานภาพจะทำให้การปฏิรูปภาคปฏิบัติเดินเร็วขั้น พอเป็น สปช.มีตำแหน่ง ปกติไปคุยกับเพื่อนซึ่งเป็นรัฐมนตรี ในฐานะเพื่อน พอไปในฐานะ สปช.ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ชวนคนง่ายขึ้น เอาก็เอา แต่อย่ามาคาดหวังนะ เพราะคิดว่าทำอะไรไม่ได้เท่าไร เรามีการปฏิรูปการศึกษาสองรอบแล้ว...หลักสี่อย่างที่ผมทำที่ปูทะเลย์ ผ่านการพิสูจน์จากภาครัฐมาแล้วตั้งสิบกว่าปี จนลูกเรียนจบหมดแล้ว...
“เราคุยกันในเครือข่ายซึ่งทำงานทุ่มเท 3 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง-เราเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่สุด งานพัฒนาคน ตั้งแต่เด็ก คนโต ยันระดับบริหาร ถ้าพัฒนาผิดทาง บ้านเมืองวิกฤติ เรามีหลักสูตร CMS (Crisis management and survivor camp) หรือการจัดการบริหารภายใต้วิกฤติ มีค่ายรองรับการอพยพเมื่อเกิดภัยพิบัติ สอง-โรคระบาด ภาวะข้าวยากหมากแพง คนรวย 10 เปอร์เซ็นต์ หนีได้ แต่ที่เหลือลำบากมาก สาม-ความขัดแย้งจะทำให้เกิดสงคราม
“สิ่งที่ฝันคือ 1.พัฒนาคน 2.การจัดการทรัพยากรทุกอย่างในลุ่มน้ำ พัฒนากันเป็นลุ่ม เช่น ลุ่มน้ำป่าสัก พระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเททำแต่ยังไม่เสร็จ ป่าสักน้ำ 5,000 ล้านคิว เก็บได้ไม่ถึง 1,000 ล้านคิว ที่เหลือทะลักเข้ามา ไม่มีใครฟังท่านเลย เราจัดทีมลุกขึ้นทำ... นักวิชาการแบ่งทั้งประเทศเป็น 25 ลุ่มน้ำ แล้วชาวนาแบบผมจะไปพูดสู้นักวิชาการได้ยังไง 25 ลุ่มน้ำใหญ่ไป ต้องแบ่งใหม่ ต้องดูลุ่มสาขา บางลุ่มใหญ่มาก ต้องคัดให้พอดี ผมคิดว่า 40-60 ลุ่ม”
นอกจากการพัฒนาคน การจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำแล้ว ประการสุดท้ายคือ การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ
“เรากำลังทำเศรษฐกิจปากท้อง เราไม่รังเกียจเงิน แต่มนุษย์จะอยู่รอดต้องมีกิน มีของใช้ ที่อยู่อาศัย และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี นี่คือความต้องการพื้นฐานของร่างกาย แต่คุณไม่ทำบุญเลยหรือ ความเจริญเราวัดกันที่บุญ คุณกตัญญูต่อพ่อแม่ไหม การทำทาน หากมนุษย์ไม่รู้จักให้ สังคมจะสามัคคีกันได้ยังไง”
------------------------
ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย
โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย (ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง) ก่อตั้งโดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตผู้อำนวยการกองประเมินผลงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้รับราชการใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากว่า 16 ปี
ดร.วิวัฒน์ ได้นิมนต์ หลวงพ่อสังคม ธนปัญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษา ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ที่ดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนปูทะเลย์ เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนและเยาวชน ผ่านการเรียนรู้และลงมือทำจริงตามศาสตร์พระราชา ที่พึ่งพาตัวเองได้ในปัจจัย 4 มีความพร้อมทั้งกายภาพ องค์ความรู้ มีเสบียงบุญและความสามัคคี อันเป็นปัจจัยที่จะสามารถฝ่าวิกฤติการณ์ต่างๆ และเป็นที่พึ่งของเพื่อนมนุษย์ยามวิกฤติ
จัดการเรียนการสอนแบบกลุ่ม และการทำโครงงาน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ ทักษะ ได้ด้วยตนเอง และเกิดการช่วยเหลือกันในสังคม
“มาบเอื้อง” เป็นชื่อหมู่บ้าน เริ่มจากการพัฒนาจากแปลงตัวอย่าง 1 ไร่ และพัฒนาขยายเป็น 50 ไร่ ทำเป็นศูนย์ฝึก และจัดหลักสูตรอบรมในปี 2541 ปี 2544 เริ่มหลักสูตรกินนอน หลังจากจัดอบรมให้แก่นักศึกษา นักบริหารระดับสูง ชาวนา จึงเห็นว่าหลักสูตรระยะสั้นยังไม่พอ ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็ก จึงตั้งโรงเรียนประถมปูทะเลย์ ถัดมาอีกหนึ่งปีก็เปิดระดับมัธยม และขยับเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท
“ปริญญาเอกเราฝันว่า จะเอามหาวิทยาลัยที่ผ่านการประเมินสูงสุดในโลกมาทำงานร่วมกับเรา ฝันนะๆ ฝันเอา ที่เขาเมืองไทยเขามาเยี่ยมแล้ว จำชื่อไม่ได้ เป็นมหาวิทยาลัยจากฟินแลนด์ เขาไปเยี่ยมโรงเรียนหลายแห่งและเยี่ยมเรา คลุกคลีกับเราสักพัก และตกลงจะส่งครู อาจารย์ของเขามาฝึกงานกับเรา ผมงงเลยนะ ผมฝันว่าจะส่งครูไปฝึกงานกับเขา แต่เขาขอส่งมาฝึกกับเรา แปลว่าจะเกิดความร่วมมือกัน”
ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นประถมและมัธยม (อยู่ประจำ) 22 คน นักศึกษาระดับปริญญาตรี 46 คน (อยู่ประจำ 6 คน) ปริญญาโทและปริญญาเอก 7 คน
------------------------
(คุยนอกกรอบ : โลกการศึกษาของ 'อาจารย์ยักษ์' : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์)