
สับปะรดห้วยมุ่นออกผลคล้ายรูปหัวใจ
16 ต.ค. 2557
ฮือฮา! สับปะรดห้วยมุ่นออกผลคล้ายรูปหัวใจ พ่อค้าแห่ซื้อราคาสูงผลละ 100 บาท
16 ต.ค.57 ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่าที่บริเวณศาลากลางบ้านหมู่ 2 บ้านห้วยมุ่น ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวสวนต่างเร่งคัดเลือกสับปะรดเพื่อเตรียมส่งขายพ่อค้า แม่ค้าที่รับซื้อ สับปะรดห้วยมุ่นที่ออกผลผลิตนอกฤดูกาล โดยเฉพาะสับปะรดที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ คือ สับปะรดห้วยมุ่นที่ออกผลคล้ายรูปหัวใจ ซึ่งรับซื้อในราคาสูงถึงผลละ 80-100 บาท
เมื่อไปถึงพบว่าชาวสวนนำผลผลิตสับปะรดที่ตัดจากสวนรอส่งขายให้พ่อค้า แต่ที่สะดุดสายตาคือ สับปะรดที่มีลักษณะแบนกว้าง มีจุกหรือหน่อสีเขียวขนาดเล็กจำนวนมาก ถูกคัดแยกออกจากสับปะรดปกติทั่วไป
นางศศิณา จันทร์รุณ ชาวสวนสับปะรดห้วยมุ่น กล่าวว่า ปกติสับปะรดห้วยมุ่นจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ด้วยความนิยมจึงมีเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรส่งเสริม ให้ความรู้ จนปัจจุบันสับปะรดห้วยมุ่นเริ่มให้ผลผลิตนอกฤดูกาลได้แล้ว แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งนี้เพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงาน และส่งออก ทั้งนี้สับปะรดห้วยมุ่น
แต่ผลดีกลับกลายเป็นความประหลาดขอผลสับปะรดห้วยมุ่น ซึ่งปกติจะมีลักษณะมีผลลูกเรียวกลมรีและหัวจุกเดียวเท่านั้น แต่กลับมีสับปะรดที่ออกผลคล้ายรูปหัวใจจำนวนมาก เฉลี่ยไร่ละประมาณ 100 ลูก ลักษณะแบนกว้างประมาณ 1ฟุต หัวจุกหรือหน่อด้านบนประมาณ 30 หัว ผลของสับปะรดยิ่งโตก็ยิ่งแบนกว้างออกเรื่อยๆ คล้ายรูปหัวใจ สวยมากๆ
"เคยปล่อยให้ผลแก่จะมีสีเหลืองทอง แล้วตัดออกจากต้นสามารถรับประทานได้เหมือนสับปะรดปกติ ทั้งนี้สืบเนื่องมากจากความสมบูรณ์ของสภาพดินที่ปลูกอยู่บนภูเขา ไม่ใช้สารเคมี จึงทำให้ผลสับปะรดห้วยมุ่นให้ผลใหญ่เกินกว่าปกติ ชาวสวนเห็นแล้วเป็นเรื่องปกติ แต่พ่อค้าแม่ค้ามาเจอบอกว่า เป็นจักรพรรค หรือนางพญาสับปะรด นำคนนิยมนำผลอ่อน หรือที่ไม่แก่จัด นำไปไหว้ศาล ไหว้เจ้า จึงรับซื้อในราคาผลละ 80-100 บาท กลายเป็นเรื่องที่ดี สร้างรายได้ให้ชาวสวน"นางศศิณากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสับปะรดห้วยมุ่นของดีจากตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาและเป็นดินทรายเหมาะกับการปลูกสับปะรด และมีคุณลักษณะแตกต่างไปจากพันธุ์ดั้งเดิมโดยเฉพาะ รสชาติหวานอร่อย เนื้อหนานิ่ม ตาตื้น เนื้อมีสีเหลืองอมน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ ตาไม่ลึกทำให้มีส่วนของเนื้อมาก ผลค่อนข้างเล็ก รับประทานแล้วไม่ระคายคอ เฉพาะที่ตำบลห้วยมุ่น มีพื้นที่ปลูก 13,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 8,000 กิโลกรัม/ไร่ มีเกษตรกร ปลูก 550 ครัวเรือน