ข่าว

กางจุดแข็ง-จุดอ่อน‘สภากทม.‘นับหนึ่งก้าวใหญ่ปฏิรูป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กางจุดแข็ง-จุดอ่อน‘สภากทม.‘ นับหนึ่งก้าวใหญ่ปฏิรูปท้องถิ่น : ธนัชพงศ์ คงสายรายงาน

                เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนเต็มที่ ส.ก.ชุดสรรหา 30 คน กำลังถูกจับตามองการทำหน้าที่ในสภา กทม. แทนเก้าอี้ ส.ก.เลือกตั้งที่หมดวาระเมื่อ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา กลายเป็นส.ก.ชุดประวัติศาสตร์ที่ถูกคัดเลือกจากกรรมการกระทรวงมหาดไทย

                ทั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 86/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุว่า “จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยเรียบร้อย”

                จากเดิมที่ ส.ก.สายเลือกตั้งมีจำนวน 61 คน คสช.ได้หั่น ส.ก.ชุดใหม่เหลือ 30 คน แต่ด้วยระยะเวลาทำงานที่ไม่ชัดเจน การไม่ได้เป็นตัวแทนคนพื้นที่ หรือการสวมหมวก 2 ใบของ ส.ก.หลายคน หลายฝ่ายจึงกางตารางเปรียบเทียบ “ประสิทธิภาพ” ระหว่าง ส.เลือกตั้ง-แต่งตั้ง

                เมื่อพลิกดูบัญชีตำแหน่งงานของ 30 ส.ก. ถูกแบ่งเป็นสายทหาร 30 เปอร์เซ็นต์ ปกครองท้องถิ่น 30 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายกฎหมาย 30 เปอร์เซ็นต์ และทั่วไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์

                สัดส่วนที่ถูกกำหนดจาก คสช.ถูกแยกตามสายงานถนัดแบ่ง เป็น ส่งฝ่ายทหาร ตำรวจเข้ามาดูแลสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ในช่วงที่คงกฎอัยการศึก ส่งอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตปลัด กทม. อดีตรองปลัด กทม. มาดูเรื่องงานท้องถิ่น ส่งอัยการกับกฤษฎีกามาดูเรื่องการออกข้อบัญญัติของกทม. หรือส่งอดีตรองเลขาธิการป.ป.ช. อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน มาตรวจสอบ “ความโปร่งใส” ของฝ่ายบริหาร

                ด้วยตำแหน่ง “งานประจำ” คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “จุดอ่อน” ของ 30 ส.ก.เป็นเรื่องการรู้ปัญหาพื้นที่ ความคุ้นเคยของท้องถิ่น หรือความใกล้ชิดระหว่างประชาชนกับส.ก.โดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “จุดแข็ง” อีกด้านของ 30 ส.ก. เป็นเรื่อง “ประสบการณ์” กับ “แบ็กอัพ” ของแต่ละคน

                จึงเป็นที่มาของการ “ปิดจุดตาย” ข้อครหา ส.ก.รัฐประหารไม่ยึดโยงประชาชน ด้วยการผุดโรดแม็พ “สภาเสาชิงช้า” จัดสรรพื้นที่รับผิดชอบ 50 เขตในกรุงเทพฯ ส่งงาน ส.ก.ชุดใหม่รับผิดชอบ 6 กลุ่มเขต เขตละ 5 คน แบ่งเป็น 1.กรุงเทพกลาง 2.กรุงเทพใต้ 3.กรุงเทพเหนือ 4.กรุงเทพตะวันออก 5.กรุงธนเหนือ 6.กรุงธนใต้ โดยคัดแยกจากพื้นที่ที่ ส.ก.แต่ละคนอยู่ในภูมิลำเนานั้น หรือใกล้เคียง

                ยิ่งกว่านั้นสภา กทม.ได้เข้าเดินเกียร์หนึ่งจัดประชุมสมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เดินหน้าตามภารกิจตาม ส.ก.สายเลือกตั้ง หมุนนาฬิกาเริ่มประชุมใหม่จากเดิม 10 โมง เป็น 9 โมงตรง ยึดโครงสร้างทำงานระบบของสภา กทม. ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการสามัญประจำสภา 11 คณะ พร้อมจับมือฝ่ายบริหาร ตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่าย เพื่อเตรียมยกร่างข้อบัญญัติในสภา ก่อนเข้าวาระประชุมสมัยสามัญเดือนมกราคม 2558

                เป็นบททดสอบแรกที่สภา กทม.เข้ามาเร่งเครื่อง “อุดช่องว่าง” ตั้งแต่รับตำแหน่งยังไม่ครบหนึ่งเดือนเต็ม ในช่วงเดียวกับที่รายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้ง 11 ด้านออก มาเป็นที่เรียบร้อย

                “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯ กทม. ระบุถึงการทำงานกับ ส.ก.ชุดใหม่ ว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ ส.ก.ทุกคนแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนจะร่วมมือกับฝ่ายบริหารทำงานเพื่อประโยชน์คนกรุงเทพฯ ส่วนกรอบเวลาการทำงานของ ส.ก.ที่ไม่ชัดเจนจะไม่มีปัญหา และคิดว่าจะไม่กระทบต่อการทำงานร่วมกัน

                ขณะเดียวกันสภา กทม.ได้กำหนดแผนงานไว้ 3 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน วางระบบบริหารแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ผลรวดเร็ว ชัดเจน เช่น ปัญหาน้ำท่วม สิ่งแวดล้อม จัดระเบียบเมือง 2.ระยะกลาง โฟกัสไปที่การยกเครื่อง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ที่ล้าสมัย 3.ระยะยาว เป็นเรื่องที่สภา กทม.ยังรอภารกิจเพิ่มเติม เนื่องจากยังไม่รู้ปฏิทินทำงานที่ชัดเจน

                ทว่า ข้อจำกัดเรื่อง “กรอบเวลา” ตามวาระของ คสช. ยังเป็นสิ่งท้าทายสภาแห่งนี้ เพราะแน่นอนว่า อีกหลายเดือนข้างหน้าจะยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นไปจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายรัฐประกอบธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ช่วงเวลานี้จึงเป็น “โอกาสเดียว” ที่ 30 ส.ก.จะพิสูจน์ฝีมือการทำหน้าที่

                แต่อย่างน้อยการยกเลิกแต่งตั้งผู้ช่วย ส.ก. 5 คนต่อ ส.ก. 1 คน ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่างไปจากหน้าที่ของ ส.ก.ชุดเดิม ประหยัดงบที่ต้องใช้จ่ายเงินเดือนให้ผู้ช่วยเหล่านี้ 13.5 ล้านบาทต่อปี

                “เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ” ประธานสภา กทม. ยืนยันว่า การมีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแก้ปัญหา ส่วนตัวคิดว่า ดีกว่ามี ส.ก.ที่ต่างพรรค เพราะผลงานอยู่ที่ตัวคน คนดี คนเก่ง ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง โดยประสบการณ์ที่รับราชการ กทม.ตลอด 30 ปี มีความเข้าใจงาน กทม. และคุ้นเคยกับการทำงานของสภา กทม. จึงคิดว่าจะมีคุณสมบัติที่พอช่วยงานด้านนี้ได้

                “สำหรับแนวนโยบายที่จะทำ จะรับคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยว่าจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ เพราะส.ก.ชุดนี้มีที่มาแบบไม่ปกติคือมาจากคำสั่งประกาศของคสช. ที่ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับงานของกรุงเทพมหานคร” ประธานสภา กทม.ระบุ

                “พงศ์โพยม วาศภูติ” หนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น มองการทำหน้าที่ของ ส.ก.ว่า การแต่งตั้ง 30 ส.ก.ของ คสช.เป็นการแต่งตั้งเฉพาะกิจ เพราะทหารคงไม่อยากให้มีการเลือกตั้งในช่วงนี้ ที่ผ่านมา กทม.ก็มีการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวข้อง ทั้ง ส.ก. และส.ข.ที่มาจากพรรคการเมือง ทำให้ กทม.ต้องบริหารทั้งการเมือง และบริหารงานท้องถิ่นที่ค่อนข้างยาก

                “สิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นในต่างจังหวัดจากนี้ คงไม่ใช่สิ่งที่ กทม.เป็นอยู่ อาจต้องมีการออกแบบโครงสร้างของ กทม.ใหม่ มีคนพูดว่า อาจจะมีรูปแบบแบ่งเป็นเทศบาลมหานคร หรือมีผู้อำนวยการเขตมาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพื่อดูแลประชาชนโดยไม่ผ่านส.ก. หรือส.ข. แต่จะมีการหารือกับ สปช.ว่า กทม.จะเป็นรูปแบบเป็นอย่างไร”

                ทั้งนี้ เมื่อบวกกับร่างพิมพ์เขียวของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ฉบับแก้ไขที่ถูกส่งไปที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว 

                ทั้งหมดจึงเป็นการนับหนึ่งของสภา กทม.ก้าวใหญ่แห่งการปูทางสู่แผนปฏิรูปท้องถิ่น สานโจทย์ใหญ่ คสช. โจทย์ใหญ่ที่ถูกกำหนดไว้ ต้อง “เสียของ” ไม่ได้ !!!


..........................................

(หมายเหตุ : กางจุดแข็ง-จุดอ่อน‘สภากทม.‘ นับหนึ่งก้าวใหญ่ปฏิรูปท้องถิ่น   : ธนัชพงศ์ คงสายรายงาน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ