ข่าว

‘เหยียดเชื้อชาติ’อีกคำเตือน‘ทอมแอนด์เจอร์รี’

‘เหยียดเชื้อชาติ’อีกคำเตือน‘ทอมแอนด์เจอร์รี’

04 ต.ค. 2557

เวิลด์วาไรตี้ : ‘เหยียดเชื้อชาติ’ อีกคำเตือนสำหรับ ‘ทอม แอนด์ เจอร์รี’

 
                 "ทอม แอนด์ เจอร์รี" การ์ตูนยอดนิยมสำหรับคุณหนูๆ ทั่วโลกแม้อายุอานามร่วม 70 ปีแล้ว นับจากออกอากาศครั้งแรกในปี 2483 แต่ก็ยังจุดคำถามถึงความเหมาะสมจากผู้ใหญ่ผู้ห่วงใยยุคใหม่อยู่เรื่อยๆ ว่าบางฉากบางเรื่องที่เคยรับกันได้หรือมองผ่านไปในอดีต เป็นเรื่องไม่เหมาะสมเสียแล้วในเวลานี้ อาทิ ฉากรุนแรงเจ็บตัว หรือการตัดฉากที่มีตัวการ์ตูนสูบบุหรี่ออกไป ล่าสุด ไพรม์ อินสแตนท์ วิดีโอ บริการดาวน์โหลดวิดีโอของอเมซอน ไม่ยอมละข้ามอีกหนึ่งอันตรายที่ซ่อนอยู่ในการ์ตูนคลาสสิก จนตัดสินใจใส่คำเตือนกำกับว่า ทอม แอนด์ เจอร์รี มีอคติทางเชื้อชาติที่ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมอเมริกัน และเป็นเรื่องที่ผิดทั้งในสมัยนั้นและในสมัยนี้
 
                 คำเตือนน่าจะหมายถึงสาวใช้ผิวคล้ำร่างท้วม นามว่า "แมมมี ทู ชูส์" ที่ปรากฏโฉมเพียงครั้งเดียว และเป็นที่เห็นพ้องและวิจารณ์กันมานานแล้วว่า ตัวละครตัวนี้ เป็นคติเหยียดเชื้อชาติในภาพของสาวใช้ครอบครัวคนผิวขาว ทำให้เธอถูกตัดต่อใหม่บ้าง หรือถูกสาวใช้ผิวขาวมาแย่งบทไปในเวอร์ชั่นหลังของทอมแอนด์เจอร์รี และปรากฏตัวครั้งหลังสุดในปี 2495
 
                 ตัวการ์ตูน แมมมี ทู ชูส์ ได้อิทธิพลจากดาราผิวสีเจ้าของรางวัลออสการ์ แฮทตี แมคโดนัลด์ เจ้าของบท "แมมมี" ในภาพยนตร์คลาสสิก "กอน วิธ เดอะ วินด์ "
 
                 มีความเห็นเป็นสองทาง ฝ่ายหนึ่งมองว่า นี่คือรูปแบบใหม่ของการเซ็นเซอร์และเป็นการอ่านประวัติศาสตร์แบบย้อนหลัง คำเตือนของอเมซอนเป็นการตีความการสื่อสารของการ์ตูนอายุ 40 ปีอย่างผิดๆ และไม่ควรนำค่านิยมปัจจุบันไปตัดสินอดีต
 
                 แต่อีกฝ่ายที่เข้าใจการกระทำของอเมซอน ก็มองว่า การตีกรอบการ์ตูนให้อยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่า แมมมี ทู ชูส์ เป็นตัวละครไม่เหมาะ เธอถูกนำเสนอภาพเป็นสาวใช้หัวช้า การมีอยู่ของเธอก็เพื่อทำงานบ้านเท่านั้น ภาพลักษณ์เช่นนี้ไม่เหมาะอีกแล้วในสมัยปัจจุบัน และนี่ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ เป็นแค่การบอกกล่าวว่าครั้งหนึ่ง ผู้คนเคยคิดแบบไหนมาก่อนจะเปลี่ยนแปลง
 
                 ที่สำคัญ งานนี้มีเด็กเป็นเดิมพัน พวกเขาเรียนรู้ตัวตนและเข้าใจโลกผ่านวัฒนธรรมป๊อป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้เด็กได้รับภาพลักษณ์เชิงบวกของคน ไม่ใช่เชิงลบอย่างแมมมี ที่ให้ภาพเหมารวมของผู้หญิงผิวสี