ข่าว

หนึ่งเขตหนึ่งวรรณกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนึ่งเขตหนึ่งวรรณกรรม : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

                จากการที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ประจำปี พ.ศ.2556 นั้น มีพันธกิจที่กรุงเทพมหานครยังต้องดำเนินการต่อไป คือ การส่งเสริมการอ่านวรรณกรรมในชุมชนต่างๆ ของ กทม. อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ และการศึกษาค้นคว้าถึงสภาพของสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนใน กทม. ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ทั้งในด้านการรับสุนทรียรสในผลงานการประพันธ์ การได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม โบราณคดี คุณธรรม และคตินิยมทางสังคม ของคนไทยในอดีต ที่นักเขียนได้สอดใส่ไว้ในวรรณกรรม


                กรุงเทพมหานคร โดย ปราณี สัตยประกอบ ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. จึงร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการ “เท่ เหนือ ไทย” โดยมี ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมที่เหมาะสมกับเขตต่างๆ ทั้ง 50 เขต ใน กทม. แล้วกระตุ้นให้ประชาชนในแต่ละเขตเกิดความสนใจอ่านวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเขตของตน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาแล้ว อาทิ

                เขตดินแดง นวนิยายเรื่อง “ฟ้ากระจ่างดาว” ของ “กิ่งฉัตร” เนื่องจากพระเอกเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติด และสำนักงาน ป.ป.ส.ตั้งอยู่ในเขตดินแดง

                เขตดุสิต สารคดีเรื่อง “ไกลบ้าน” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงส่งถึงพระราชธิดา ณ พระตำหนักสายสุทธานภดล, สารคดีเรื่อง “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  พระปิยมเหสีในราชกาลที่ 5” ของ ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์ และ “ชีวิตในวัง” เรื่องเล่าของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์

                เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สารคดีเรื่อง “กุหลาบแห่งแผ่นดิน” ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เนื่องจาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์

                เขตพญาไท นวนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต เนื่องจากบ้านของพล พัชราภรณ์ อยู่ถนนพญาไท

                เขตพระนคร นวนิยายเรื่อง “ร่มฉัตร” ของ “ทมยันตี” ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตในพระบรมมหาราชวัง, นวนิยายเรื่อง “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ของ วินทร์ เลียววารินทร์ ซึ่งสะท้อนภาพเหตุการณ์ทางการเมืองบนถนนราชดำเนิน, เรื่องเล่า “เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก” ของ ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ แสดงภาพชีวิตของคนไทยในอดีต, นวนิยายเรื่อง “เด็กชายมะลิวัลย์” ของ ประภัสสร เสวิกุล บอกเล่าชีวิตของคนย่านเสาชิงช้าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, นวนิยาย “จากฝันสู่นิรันดร” ของ “แก้วเก้า” ซึ่งใช้ฉากแถวสำราญราษฎร์, นวนิยายเรื่อง “เวลาในขวดแก้ว” ของ ประภัสสร เสวิกุล กล่าวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 6 ตุลาคม 2519, นวนิยายเรื่อง “กลิ่นสีและกาวแป้ง” ของพิษณุ ศุภ. เล่าถึงชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร, นวนิยายเรื่อง “จดหมายถึงดวงดาว” ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เนื่องจากน้องสาวของพระเอกเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่แสดงภาพชีวิตในพระบรมมหาราชวัง

                เขตราชเทวี นวนิยายเรื่อง “ชาวกรง” ของ กฤษณา อโศกสิน ที่ใช้ฉากย่านมักกะสัน

                เขตวังทองหลาง พระราชนิพนธ์เรื่อง “เรื่องทองแดง” เนื่องจากทองแดงเกิดที่เขตวังทองหลาง

                เขตสัมพันธวงศ์ นวนิยายเรื่อง “ลอดลายมังกร” ของ ประภัสสร เสวิกุล เนื่องจากอาเหลียงเริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยที่เยาวราช, นวนิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” ของ “โบตั๋น” ซึ่งใช้ฉากชุมชนชาวจีนย่านสำเพ็ง

                เขตพระโขนง สารคดีเรื่อง “เปิดตำนานแม่นาคพระโขนง” ของ เอนก นาวิกมูล และ นวนิยายเรื่อง “ฟ้าสางที่กลางใจ” ของ “นราวดี” ที่ตัวละครอาศัยอยู่ย่านตลาดพระโขนง
   
                เขตวัฒนา นวนิยายเรื่อง “ขอหมอนใบนั้น ที่เธอฝันยามหนุน” ของ ประภัสสร เสวิกุล ที่บ้านพ่อของล่องจุ้น พระเอกของเรื่องอยู่ที่นั่น

                ครับ นั่นเป็นข้อมูลเบื้องต้นของบางเขตและวรรณกรรมบางเรื่อง ในโครงการ “หนึ่งเขต หนึ่งวรรณกรรม” ของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการที่จะเห็นคน กทม. อ่านหนังสือกันอย่างจริงจัง
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ