'มงคลพิธี แต่งงานล้านนา'
29 ก.ย. 2557
'มงคลพิธี แต่งงานล้านนา' : ไลฟ์สไตล์
เหมันต์ฤดูกำลังจะมาเยือนอีกครั้ง คู่รักหนุ่มสาวที่กำลังจะจูงมือเข้าสู่พิธีวิวาห์ต่างพากันมองหารูปแบบงานแต่งงานอันน่าประทับใจ พรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ จ.เชียงใหม่ จึงจัดงานเวดดิ้งแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือและเป็นงานสุดท้ายของปีนี้ เพื่อให้คู่รักหนุ่มสาวได้มาสัมผัสบรรยากาศความรักและเลือกสรรความโรแมนติกที่เข้ากับชีวิตรัก รับชมการสาธิตงานแต่งงานแบบล้านนา (Lanna Traditional Wedding Demonstration) ในงาน “เยส ไอ ดู” ตั้งแต่วันที่ 26-28 กันยายนนี้ บริเวณลานกิจกรรมอาคารเอ พรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ จ.เชียงใหม่
อัครเดช นาคบัลลังก์ แห่งร้านสบันงา เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ และผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งกายสไตล์ล้านนามานานกว่า 30 ปี เล่าถึงแรงบันดาลใจในการยกขบวนสาธิตการแต่งงานแบบล้านนามาแสดงภายในงาน ว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อว่า พิธีแต่งงานแบบล้านนามีความเป็นมงคลช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ขึ้นได้ ทั้งจากแสดงออกถึงความรักใคร่เอ็นดูที่ญาติผู้ใหญ่มีต่อคู่บ่าวสาว และพิธีที่แสดงความปรองดองกันของญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งพิธีกรรมการฮ้องขวัญ การผูกข้อมือก็สร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ทั้งคู่แต่งงานและแขกที่มาร่วมงานทุกคนได้ ดังนั้นทางสบันงา ซึ่งคลุกคลีงานด้านวัฒนธรรมล้านนามานาน จึงลุกขึ้นมาเป็นผู้จัดงานแต่งงานแบบล้านนา โดยนำพิธีแต่งงานล้านนามาไล่เรียงให้เข้ากับยุคสมัย ให้เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงความขลังและความหมายของล้านนาไว้อย่างครบถ้วน
"เมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจจะอยู่คู่เคียง ในธรรมเนียมล้านนาพ่อแม่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสามารถเข้าไปเจรจาขอลูกชายลูกสาวกันได้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น จากนั้นจึงปรึกษากับปู่จารย์ มัคนายก เพื่อหาฤกษ์มงคลสำหรับวันดีหัวเรียงหมอน ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนคู่นอกพรรษา พิธีแต่งงานมักจะถูกจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว โดยฝ่ายเจ้าสาวรับหน้าที่เป็นผู้จัดหาเครื่องเรือนใหม่และเครื่องพลีกรรมในพิธี ก่อนถึงเวลาฤกษ์ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวต้องไปที่บ้านเจ้าบ่าวเพื่อนำ “ขันขอเขย” ไปแลกกับพานแบบเดียวกันที่ฝ่ายเจ้าบ่าวเตรียมไว้ เพื่อทำพิธีไขว้ผี อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกี่ยวดองเป็นญาติกัน จากนั้นขบวนขันหมากเจ้าบ่าวจึงค่อยเคลื่อนออกจากบ้าน เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวจะมีพิธีกั้นประตูเงิน-ประตูคำ(ทอง) คล้ายกันกับประเพณีทางภาคกลาง เมื่อได้ฤกษ์พิธีคู่บ่าวสาวจะออกมานั่งคู่กันที่หน้าพานบายศรีสู่ขวัญ จากนั้นปู่จารย์จะใช้น้ำส้มป่อยปัดเป่าเคราะห์ และเริ่มทำพิธีฮ้องขวัญ(เรียกขวัญ)เพื่อความเป็นมงคลและรุ่งเรือง เป็นการเรียกขวัญของทั้งคู่ให้มาอยู่กับตัว ให้มาอยู่เป็นคู่ดูแลกันและกันจนแก่เฒ่า" ผู้เชี่ยวชาญแจง