ข่าว

นักเรียนตีกัน:ปัญหาของเด็กหรือระบบการศึกษา?

นักเรียนตีกัน:ปัญหาของเด็กหรือระบบการศึกษา?

26 ก.ย. 2557

นักเรียนตีกัน: ปัญหาของเด็กหรือระบบการศึกษา? : จันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

                มีคนถามผมว่า ที่ประเทศอื่นมีนักเรียนตีกันหรือเปล่า ผมตอบว่า เท่าที่ทราบก็มีแต่ในเมืองไทย ที่นี่ที่เดียว ผมเข้าใจว่า การยกพวกตีกันของนักเรียนไทยมีขึ้นเมื่อประมาณ 50-60 กว่าปีก่อน สาเหตุประการสำคัญในเวลานั้น มาจากการแข่งขันกีฬาประเภท ฟุตบอลแพ้ กองเชียร์ไม่แพ้ ก็เลยเกิดการแซวกันไปแซวกันมาแล้วก็กลายเป็นการทะเลาะวิวาทกัน และอีกประการหนึ่งมาจากการเขม่นกันของนักเรียนวัยรุ่นชายต่างโรงเรียน ซึ่งมักมาจากเรื่องแข่งกันจีบนักเรียนหญิง หรือการล้ำถิ่นกัน แต่ในยุคนั้น การตีกันก็ยังอยู่ในวงจำกัด และไม่ค่อยมีการใช้เครื่องทุ่นแรง เช่นปืนหรือระเบิด


                การตีรันฟันแทงแบบถึงเลือดถึงเนื้อน่าจะเริ่มในยุคของ แดง ไบร์เลย์ ในช่วงก่อน พ.ศ.2501 แต่ก็เป็นเรื่องของแก๊งวัยรุ่น และหนึ่งในกลุ่มนั้นที่โด่งดังมากคือ ปุ๊ ระเบิดขวด ที่ขว้างระเบิดขวดใส่ฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็เป็นนักเรียนสายอาชีวะ แม้จะหมดยุคของแก๊งวัยรุ่นแล้ว แต่นักเรียนรุ่นหลังๆ ก็ยังมีการตีกับนักเรียนต่างสถาบันอย่างไม่เลิกรา จนบางสถาบันกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่แทบจะอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้

                เราคงต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า การศึกษาของไทยนั้น มุ่งให้เด็กเข้าไปสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นสำคัญ ดังนั้น เด็กจึงถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เรียนเก่ง กับกลุ่มที่เรียนไม่เก่ง เมื่อประกอบกับแนวคิดที่ให้นักเรียนเรียนแบบเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ ผลก็คือ ทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งขาดแรงผลักดันในการพัฒนาการเรียนของตนเอง และส่วนหนึ่งไม่สามารถที่จะเข้าเรียนต่อสายวิชาชีพหรือวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ บางส่วนจึงต้องเข้ามาอยู่ในสายอาชีวะด้วยความจำใจ ซึ่งต่างกับการศึกษาในหลายประเทศ ที่แบ่งการศึกษาหลังภาคบังคับออกเป็น 2 สาย คือ สายวิชาชีพ และสายอาชีพอย่างชัดเจน โดยให้นักเรียนเลือกเรียนตามความสมัครใจ ทั้งสองสายวิชามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และเมื่อเรียนไปแล้วพบว่าตนเองมีความถนัดในอีกสายหนึ่งมากกว่าก็อาจจะเปลี่ยนเส้นทางการศึกษาได้ การเรียนของนักเรียนในต่างประเทศจึงเป็นการเรียนเพื่อสนองตอบความต้องการของตนเองเป็นหลัก เป็นการเรียนที่รู้จุดหมายปลายทาง และเป็นการเรียนเพื่ออนาคต มิใช่การเรียนแบบเท้งเต้ง ล่องลอยไปวันๆ โดยบางคนก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเรียนไปทำไม จบไปแล้วจะทำมาหากินอะไร และสถานภาพทางสังคมของนัก
                เรียนอาชีวะก็ถูกมองว่าต่ำกว่าคนที่เรียนในสายวิชาชีพหรือวิชาการ

                ความรักเพื่อน รักศักดิ์ศรี รักสถาบัน การต้องการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น และความเลือดร้อน เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น แต่ถ้าขาดจุดหมายที่ชัดเจนในชีวิต และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของความรู้และการศึกษา ก็อาจใช้พลังที่มีอยู่ไปในทางที่ผิดได้

                อย่างไรก็ตาม ความผิดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดเฉพาะตัวของเด็กนักเรียนเพียงบางคน ซึ่งไม่ควรจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิด หรือสถาบันการศึกษานั้นๆ แต่ควรจะลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

                และการปฏิเสธนักเรียนที่มีลายสักหรือเจาะหูเข้าเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาก็คงไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหานี้ แต่ควรจะหันไปพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนให้นักเรียนเกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่กำลังเรียนอยู่นั้นมีความน่าสนใจ ให้ความรู้ที่เขาต้องการเรียนได้จริง และเปลี่ยนความรู้สึกของพวกเขาให้หันมาแข่งขันกันในเรื่องที่มีสาระประโยชน์สมกับความสามารถที่มีอยู่ และเมื่อจบออกไปแล้วยังมองเห็นได้ถึงช่องทางของการงานที่มีความก้าวหน้ารองรับ ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนความรู้สึกของนักเรียนแต่ละคนได้ ย่อมจะช่วยให้ประเทศชาติได้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพขึ้นด้วย