ข่าว

'เชี่ยวชาญ-ช่ำชอง-โชกโชน'สีกากีจิตอาสาแดนใต้

'เชี่ยวชาญ-ช่ำชอง-โชกโชน'สีกากีจิตอาสาแดนใต้

17 ก.ย. 2557

'เชี่ยวชาญ-ช่ำชอง-โชกโชน' สีกากีจิตอาสาแดนใต้ : สัญฐิติ ขอจิตต์เมตต์

                "กำลังใจ"!!

                วลีสั้นๆ แต่มีความหมายอเนกอนันต์ โดยเฉพาะกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

                สอดรับกับสิ่งที่นายตำรวจจิตอาสา ผู้พลัดบ้านพลัดเมืองมาทำงานเพื่อชาติอย่าง "ร.ต.อ.ทันยา ชุมฝาง" หรือสารวัตรแทน รองสารวัตรงานการข่าว ชุดควบคุม ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 สังกัดภาค 2 จ.ขอนแก่นสาธยายให้ฟัง

                กลายเป็นแรงขับหนึ่งให้ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ต้องสะดุดกึก หลังเริ่มต้นพูดคุยกันในห้วงตะวันใกล้ลับขอบฟ้าวันนั้น

                "สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกผมอยากได้คือ ขวัญกำลังใจ ถ้าขาดสิ่งนี้ ทำงานลำบาก นี่คือภารกิจที่สำคัญที่ต้องบอกว่าสมัครใจลงมาทางใต้ เพราะยึดหลักเราต้องทำเพื่อชาติบ้านเมืองจริงๆ" 

                สารวัตรทันยา ปัจจุบันวัย 50 ปี บอกว่า ด้วยวัยขนาดนี้น่าจะหาทางลงหลักปักฐานอยู่แถวบ้านเกิด อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ที่เป็นต้นสังกัด และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากกว่าดิ้นรนลงมารับใช้ชาติที่ จ.นราธิวาส

                แม้ระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเศษที่อาสาลงมาปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ในตำแหน่งรองผู้บังคับการ ชุดควบคุม ตชด.จ.นราธิวาส ซึ่งฐานที่มั่นตั้งอยู่ในเขตกองอำนวยการถวายความปลอดภัย พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส  

                ด้วยสถานการณ์ไฟใต้ที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ไม่วายเว้น  ส่งผลให้ทางบ้านของ ร.ต.อ.ทันยา ซึ่งมีภรรยาที่ทำมาค้าขายกับลูกอีก 3 คนอยู่ไม่เป็นสุข เฉกเช่นครอบครัวแนวหน้ารายอื่นๆ

                "ครอบครัวเป็นห่วงมาก แต่ผมไม่กลัวตาย เฉยๆ ถือคติที่ว่า ถ้าตายก็ได้สิทธิ์ ได้กับลูกและครอบครัว ถ้าเรารอด จบภารกิจปั๊บก็ได้ทวีคูณ หน้าที่การงานก็ได้เลื่อนขั้นเร็วขึ้น เจริญก้าวหน้าขึ้น ทำตรงนี้เงินที่ได้ทั้งสวัสดิการอะไรต่างๆ เราก็สามารถส่งไปให้ทางบ้านมากขึ้น" สารวัตรแทนบอก

                พร้อมเล่าภารกิจดุจยืนบนเส้นด้ายเปื่อยๆ ว่า แต่ละวันถือว่าเสี่ยง เพราะต้องออกสนับสนุนหน่วยหลักในพื้นที่ คือภูธรจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นแม่ข่าย แล้วแต่ว่าเขาจะสั่งให้ไปไหนทำอะไร ทั้งพบปะชาวบ้าน ออกเป็นกำลังเสริม ภารกิจในแต่ละวันก็จะแตกต่างกันไป แต่ต้องบอกว่าทำงานทุกครั้งทุกที่พวกเราไม่ประมาท  เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าใครคือฝ่ายตรงข้าม แต่พวกเขารู้ จึงไม่อยากให้ทางบ้านเป็นห่วงมาก ก็จะโทรคุยบ่อยๆ หากห่วงมากทำให้ไม่สบายใจ ส่งผลกับการทำงานด้วย

                "ชีวิตรายวัน" ไม่ต่างจากหนุ่มใหญ่มาดเข้ม วัย 43 ปี อย่าง "พ.ต.ท.อดุลย์ สิริสิทธินันท์" ผู้บังคับการชุดดังกล่าว

                พ.ต.ท.อดุลย์ ตำแหน่งปกติคือ รอง ผกก.ตชด.24 อ.เมือง จ.อุดรธานี แม้ช่วงเจอะเจอกันครั้งแรกจะดูเคร่งขรึม จากภารกิจหน้าที่ส่วนหนึ่ง ทว่าเมื่อได้พูดคุยกันสักครู่ใหญ่ ก็ทำให้ดูเหมือนว่าภารกิจเพื่อชาติที่อาสาลงมา เริ่มคลายกลายเป็นความสุขมากกว่าความเครียดมากขึ้น

                นายตำรวจอาสารายนี้ย้ำว่า กำลังพลในสังกัดทั้งหมด 201 นาย ซึ่งมาจากทั้งอุดรธานี สุรินทร์ และอุบลราชธานี และอีกหลายที่ ถามว่าสมัครใจทั้งหมดหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่นะ ครึ่งต่อครึ่ง แต่สำหรับคนที่มาตามวาระเมื่อถึงเวลาต้องกลับ แต่หลายนายสมัครใจอยู่ต่อ เพราะด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง 

                "อย่าลืมว่าอยู่ใต้ต้องทำงานแบบลุยจริงๆ รบคือรบ ที่พ่วงมาคือรายได้ ค่าเสี่ยงภัย ที่สำคัญได้ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเมื่อถึงเวลาต้องกลับ ทำให้หลายนายมาอยู่แล้วไม่อยากกลับ" นายตำรวจใจแกร่งบอก

                การสนทนากลางป่าใหญ่วันนั้นคลี่คลายเป็นระยะ ก่อนระคนด้วยเสียงหัวเราะเฮฮาเป็นช่วงๆ

                เมื่อถูกถามถึงครอบครัวของหัวหน้าชุดนายนี้ ได้รับคำตอบว่า แม้จะมีภรรยาอยู่ที่ จ.เชียงราย แต่ด้วยความที่ไม่มีลูกด้วยกัน ทำให้ไม่มีภาระอะไรมากมาย

                "ผมมาที่นี่ตั้งแต่ 1 เมษายน 2557 รู้สึกดีใจที่ต้องลงมาทำงานแบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเหมือนคนอื่นบ้าง ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ คิดว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนผม มีโอกาสก็อยากมา เป็นลูกผู้ชายเมื่อรับใช้ชาติต้องทำให้ดีที่สุด ถือว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ทำหน้าที่เพื่อชาติ ในความคิดผมถ้าไม่ผ่านภาคสนามแบบทางใต้ ก็จะไม่ใช่ จะให้นั่งโต๊ะดูไม่เข้าท่านะ เมื่อได้มาจริงๆ ไม่รู้สึกกลัว ไม่เคยคิดเรื่องตาย ขอเพียงอย่าประมาทเป็นเด็ดขาด ส่วนเรื่องเครียดเป็นธรรมดา ลูกน้องผมถ้าเครียดมาก ผมส่งกลับอย่างเดียว"

                ไม่เพียงเท่านั้น "หัวหน้าอดุลย์" ยังบอกว่า อยากให้คนอื่นๆ ที่ไม่เคยลงมาปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลองมาหาประสบการณ์ดูบ้าง อย่างน้อยงานที่นี่ถึงแม้จะดูน่ากลัว แต่ทำงานหน้าเดียว เวลาพักก็ได้พักเต็มที่

                ในขณะที่ ร.ต.ท.อาคม แซ่ภู่ อายุ 56 ปี หัวหน้าชุดปฏิบัติการสนับสนุน ชุดควบคุม ตชด.จ.นราธิวาส ที่สร้างความครื้นเครงในวงสนทนาเปิดฉากการพูดคุยหลังตะวันคล้อย ด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาว อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

                ผู้หมวดที่อาสาสมัครมาอยู่ จ.นราธิวาส ถึง 4 ปีเต็มรายนี้ เริ่มต้นเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า มีภรรยาคนเดียว แต่มีลูก 2 คน คนโตทำงานแล้ว ส่วนคนเล็กเรียนอยู่

                "ผมคิดดีแล้วล่ะ อยู่ที่นี่ใกล้บ้าน เวลาจะกลับก็ไม่ไกลมาก คิดถึงเมียคิดถึงลูกแป๊บเดียวก็ถึง ผมไม่เคยคิดกลับฐานที่ตั้ง เพราะเป็นคนใต้ต้องรักคนใต้ แก้ปัญหาให้คนใต้ ถ้ากลัวผมเผ่นกลับนานแล้ว ส่วนเรื่องสวัสดิการถ้าเพิ่มให้ก็ดีนะ สิทธิที่ควรได้ ถ้าสวัสดิการดีทุกอย่างก็ดี งานก็เดิน และทุกวันนี้ผมไม่ลืมว่าควรทำตัวเสียสละ อดทน ดำรงตนอย่างมีเกียรติ" ร.ต.ท.อาคม ร่ายยาว

                ก่อนปิดฉากวงสนทนาในเชิงตอกย้ำปัญหาว่า เจ้าหน้าที่หลายนายที่ลงมาจากจังหวัดอื่นๆ ไม่เข้าใจภาษายาวี จึงทำให้มองว่าเป็นการส่งสัญญาณ "บอด" ที่น่ากลัว เชื่อว่าหากทุกหน่วยเพิ่มศักยภาพด้วยการอบรมภาษาให้ถี่ขึ้น จะทำให้การพูดคุยระหว่างกันมีสัญญาณที่ดีมากขึ้น 

                การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ บางครั้งจึงจำเป็นต้องได้นักจิตอาสาที่อยู่ในข่าย "เชี่ยวชาญ ช่ำชอง โชกโชน" ในหลากหลายด้านประกอบด้วย อย่างน้อยก็จะทำให้ความรู้สึกระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดำเนินไปในครรลองเดียวกัน และทั้งสองฝ่ายจำต้อง....

                "เข้าใจตรงกันนะ" !!

-------------------------

(หมายเหตุ : 'เชี่ยวชาญ-ช่ำชอง-โชกโชน' สีกากีจิตอาสาแดนใต้ : สัญฐิติ ขอจิตต์เมตต์)