ข่าว

ผวา!‘มหาอุทกภัย’5ปัจจัยส่อง‘น้ำท่วม57’

ผวา!‘มหาอุทกภัย’5ปัจจัยส่อง‘น้ำท่วม57’

13 ก.ย. 2557

ผวา!‘มหาอุทกภัย’5ปัจจัยส่อง‘น้ำท่วม57’ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

                หลังเกิดมหาอุทกภัย 2554 น้ำท่วมใหญ่สุดรอบ 50 ปี ทุกครั้งที่เกิดภัยน้ำท่วม คนไทยต่างผวาหวาดกลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่...


                 ย้อนไป 3 ปีที่แล้ว มวลน้ำหลั่งไหลลงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 กว่าจะคลี่คลายก็ผ่านไปถึง 7 เดือน จนถึงเดือนมกราคม 2555 มีเหยื่อน้ำท่วมเกือบ 13 ล้านคน จาก 65 จังหวัด ประเมินมูลค่าเสียหายสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นภัยน้ำท่วมสร้างความเสียหายมากสุดของไทย 

                 สำหรับปี 2557 นั้น ข่าวน้ำท่วมเริ่มแพร่กระจายมาช่วงต้นเดือนกันยายน ลุ่มน้ำยมมีน้ำก้อนใหญ่สะสม จนกระทั่งกรมชลประทานประกาศแจ้งเตือน 7 จังหวัดแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ อุทัยธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ให้ชาวบ้านเตรียมรับมือน้ำท่วม จนกระทั่งวันที่ 5 กันยายน ชาวสุโขทัยเจอวิกฤติน้ำท่วมหลายพื้นที่ ประกาศเขตภัยพิบัติ 5 อำเภอ กระแสน้ำยมกัดเซาะตลิ่งพังเสียหาย น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน จนต้องเร่งอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ มวลน้ำไหลมายัง "พิษณุโลก" และ "พิจิตร" ในวันต่อๆ มา ก่อนเพิ่มเป็น 5 จังหวัด และอีกกว่า 20 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ

                 มีคำถามมากมายว่า น้ำท่วมใหญ่ปี 2557 จะกลายเป็นน้ำท่วมยักษ์เหมือนปี 2554 หรือไม่?

                 "จเร ทองด้วง" ผอ.ส่วนอุทกวิทยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ให้ฟังว่า ปัจจัยที่ต้องพิจารณาว่า น้ำท่วมปีนี้จะเหมือนปี 2554 หรือไม่นั้น มีทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ 1.ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะในเขื่อนใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งปริมาณน้ำปีนี้มีเพียง 30-50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เปรียบเทียบกับปี 2554 ทั้ง 2 เขื่อนสะสมน้ำไว้ล้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ทำให้ต้องรีบระบายน้ำออกมาอย่างรวดเร็ว แสดงว่าเขื่อนยังรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก

                 2.ปริมาณน้ำในแม่น้ำ ที่ท่วมล้นปี 2554 นั้น เป็นแม่น้ำสายหลักทั้งหมด ได้แก่ ปิง วัง ยม และน่าน ส่วนปีนี้มีเพียงแม่น้ำยมเท่านั้นที่ปริมาณน้ำมากและไหลแรง ทำให้เข้าสู่เมืองสุโขทัยอย่างรวดเร็ว เกิดน้ำท่วมฉับพลันก่อนไหลลงไปพิษณุโลก และพิจิตร หลังจากนั้นกระแสน้ำลดน้อยลง 3.คือ "ปริมาณน้ำทุ่ง" หรือน้ำที่ไหลบ่ามาตามท้องทุ่งไร่นาแล้วสะสมไว้ สถานการณ์ปี 2554 มีน้ำทุ่งล้นทุกพื้นที่ ไม่สามารถไหลระบายออกไปทางไหนได้ ขณะที่ปีนี้น้ำทุ่งแทบจะไม่มีเลย ทำให้น้ำไหลมาเท่าไรก็สามารถซับเก็บไว้ได้

                 4.เกี่ยวกับ "พายุ" เมื่อปี 2554 มีพายุจากทะเลจีนใต้โหมกระหน่ำไทยถึง 5 ลูกด้วยกัน ได้แก่ พายุโซนร้อน "ไหหม่า" "นกเตน" "ไห่ถาง" "เนสาด" และ "นาลแก" โดยพื้นที่ภาคเหนือรับผลกระทบหนักสุด ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน จนถึงกันยายน ส่วนปี 2557 นั้น ยังไม่มีพายุขนาดใหญ่เข้ามา ทำให้ปริมาณน้ำฝนไม่มากนัก

                 "ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญ คือ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจากภาคเหนือมาสู่ภาคกลางของปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,300 ลบ.ม./วินาที ส่วนของปี 2554 มีประมาณ 5,000 ลบ.ม./วินาที เปรียบเทียบกันแล้วมากกว่าถึง 4 เท่า ส่วนอัตราเฉลี่ยปกติของทุกปีประมาณ 500-600 ลบ.ม./วินาที นั่นคือสาเหตุน้ำท่วมสุโขทัย เพราะมวลน้ำไหลมาแรงมากกว่าปกติ แต่ก็ไม่ได้มากมาย ถ้าวิเคราะห์รวมๆ เชื่อได้เลยว่า ปีนี้ยังไงก็ไม่มีทางท่วมใหญ่แน่นอน" ผอ.ส่วนอุทกภัย กล่าวยืนยันทิ้งท้าย

ผวา! เขื่อนจีนปล่อยน้ำท่วมโขง 

                 ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดจากน้ำท่วมสุโขทัย สื่อมวลชนได้รับข้อมูลว่า มี "จดหมาย" ของหน่วยงานรัฐในจีนระบุถึง "เขื่อนจิงหง" แคว้นสิบสองปันนา เตือนว่า กำลังจะปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำโขงถึง 9,000 ลบ.ม./วินาที จากปกติวันละ 1,200 ลบ.ม./วินาที ทำให้หลายฝ่ายผวากลัวมวลน้ำมหาศาลไหลมาถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้น

                 หลังจากลุ้นระทึกหลายวัน จนกระทั่ง นายทรงกลด ดวงหาคลัง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าเชียงราย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า ระดับน้ำโขงยังวัดได้ 4.62 เมตร เพราะจีนได้ข้อมูลว่า ประเทศไทยฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมหลายพื้นที่ จึงชะลอการระบายน้ำเหลือเพียงวันละ 1,200 ลบ.ม./วินาที

                 เบื้องหลังจดหมายฉบับนี้ "เพียรพร ดีเทศน์" ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) อธิบายให้ฟังว่า ต้นตอจดหมายออกจากบริษัทเขื่อนจิงหง เพื่อแจ้งเตือนไปถึงท่าเรือเชียงรุ้งเมื่อวันที่ 3 กันยายน หลังจากได้ต้นฉบับภาษาจีนมาก็ให้เพื่อนช่วยแปล

                 "น่าสนใจตรงที่จดหมายระบุว่า เขื่อนมีน้ำเพิ่มขึ้นจนต้องระบายน้ำออกมา แต่เป็น เขื่อนนั่วจาตู้ ข้อความเขียนไว้ว่า ระหว่างวันที่ 4-30 กันยายน จะเพิ่มการปล่อยน้ำเขื่อนนั่วจาตู้เป็น 9,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเขื่อนจิงหงอยู่ถัดลงมา ก็ต้องปล่อยน้ำตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดของน้ำในเขื่อนนั่วจาตู้ที่ตั้งอยู่เหนือขึ้นไป ตอนนี้ยังสับสนนะคะว่า จีนจะปล่อยน้ำหรือไม่ปล่อย”

                 เพียรพร อธิบายต่อว่า "เขื่อนจิงหง" (Jinghong) ตั้งอยู่ตอนล่างสุดของบรรดาเขื่อน 6 แห่ง ที่จีนสร้างกั้นน้ำโขง ห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ราว 340 กม. สร้างเสร็จปี 2552 ความสูง 118 เมตร กำลังผลิต 1,750 เมกะวัตต์ ส่วน "เขื่อนนั่วจาตู้" (Nuozhadu) สร้างเสร็จปี 2555 ความสูง 261เมตร กำลังผลิตมากกว่าเขื่อนจิงหงกว่า 2 เท่า คือ 5,850 เมกะวัตต์ พร้อมตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายไว้ 2 ประการ คือ

                 1.จดหมายฉบับนี้ทำให้รู้ว่า คนไทยแทบไม่มีข้อมูลอภิมหาเขื่อนจีนเลยว่าถูกสร้างกั้นแม่น้ำโขงอยู่บนหัวนอนคนเชียงรายห่างไปแค่ 300 กว่า กม.

                 2.ไม่มีหน่วยงานรัฐไทยที่รับผิดชอบโดยตรง และสามารถให้ข้อมูลถูกต้องได้อย่างทันท่วงที สะท้อนถึงปัญหาขาดประสิทธิภาพในการสื่อสารในประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ โดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติและความปลอดภัยของประชาชน

บันทึกการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลาง

                 ปัญหาอุกทกภัยที่เกิดขึ้นแทบทุกปีในประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างบูรณาการ และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ภาคกลางถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้เข้าถึงการแก้ปัญหาดังกล่าว ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะ สถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปี 2541  ได้เขียนบันทึกถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางไว้ดังนี้
                 1. ประเด็น   การแก้ปัญหาน้ำท่วมตามฤดูกาลในภาคกลาง  ปัจจุบันมุ่งใช้วิธีการสร้างเขื่อนหรือทำนบ สองฟากแม่น้ำ โดยอาจไม่ได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวิถีชีวิตที่อยู่กับน้ำได้

                 2. ปัญหา

                 (1) การสร้างเขื่อนขนานแม่น้ำต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท

                 (2) ต้องเวนคืนที่เพื่อย้ายชุมชนหลายแห่งซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำมาตั้งแต่ดั้งเดิม ทำให้ชุมชนต่อต้านโครงการ

                 (3) น้ำหลากในพื้นที่กว้างตามฤดูกาล นำปุ๋ยธรรมชาติ (silt) มาหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตร เมื่อจำกัดน้ำให้อยู่แต่ในลำน้ำ ปุ๋ยธรรมชาติก็หมดไปด้วย

                 (4) เมื่อน้ำถูกบังคับให้อยู่ในลำน้ำ ปริมาณน้ำซึ่งต้องไหลผ่านลงออกสู่อ่าวไทย ก็ต้องลดน้อยหรือไหลช้าลง เป็นการทวีความรุนแรงของน้ำท่วม

                 3. วิธีแก้ปัญหา

                 (1) จำกัดพื้นที่กันน้ำท่วมด้วยเขื่อนหรือคันดินให้น้อยที่สุด หรือใช้เฉพาะป้องกันเขตชุมชนเมือง (urban zone)

                 (2) กำหนดบริเวณน้ำท่วมหรือน้ำหลาก (flood zone) ให้เป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองรวม (master plan)

                 (3) สำหรับบริเวณน้ำหลาก ออกเทศบัญญัติและข้อกำหนดให้อาคารบ้านเรือนยกพื้นมีใต้ถุนเพื่อให้น้ำหลากไหลผ่านได้ อีกทั้งให้มีข้อกำหนดอื่นๆ เช่น สวิตช์และปลั๊กไฟจะต้องอยู่เหนือระดับน้ำท่วมและที่ทิ้งขยะจะต้องลอยน้ำได้ ไม่ให้ลอยกระจาย

                 (4) ให้ความรู้แก่เจ้าของบ้านและหมู่บ้านจัดสรรตามข้อ 3 (3) โดยพิมพ์เผยแพร่ภาพบ้านจัดสรรตัวอย่างที่ยกพื้น ไม่สร้างอยู่ติดกับพื้นดินในพื้นที่น้ำหลาก

                 สุเมธ  ชุมสาย ณ อยุธยา
                 สถาปนิก-นักผังเมือง และศิลปินแห่งชาติ ปี 2541