
ภาพสเก็ตช์...เบาะแสล่าโจร
07 ก.ย. 2557
ภาพสเก็ตช์...เบาะแสล่าโจร : คลี่ปมปริศนา CSI THAILAND : โดย...ขวัญหทัย มาลากาญจน์
"ภาพร่าง" หรือ "ภาพสเก็ตช์" คือเบาะแสสำคัญที่ตำรวจได้จากการสอบปากคำพยานหรือผู้เสียหาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามจับกุมคนร้ายได้ง่ายขึ้น แทบทุกคดีที่ผ่านมา "ภาพสเก็ตช์" เป็นสิ่งที่ช่วยให้ตำรวจฝ่ายสืบสวนทำงานได้ง่ายขึ้น
ในอดีต "ภาพสเก็ตช์" ได้มาจากการวาดขึ้นของผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านศิลปะ ได้รับการฝึกปรือจนมีความเชี่ยวชาญ กระทั่งต่อมาวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีมีความทันสมัยขึ้น การสเก็ตช์ภาพ ในเวลานี้จึงเปลี่ยนไป มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาอำนวยความสะดวกในการทำงานของตำรวจมากขึ้น
ปัจจุบันงาน "สเก็ตช์ภาพ" ที่เกี่ยวเนื่องทางคดี ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานที่เกี่ยวเนื่องกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ อยู่ในสังกัดของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กระบวนการสเก็ตช์ภาพคนร้าย จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรม โดยในที่เกิดเหตุมีพยานหรือผู้เสียหาย สามารถจดจำใบหน้าของคนร้ายได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีจะประสานกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อดำเนินการสเก็ตช์ภาพคนร้าย
พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.ฝ่ายทะเบียนประวัติอาญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งคร่ำหวอดในงาน "สเก็ตช์ภาพ" คนร้ายมากว่า 10 ปี ให้ข้อมูลว่า การสเก็ตช์ภาพคนร้ายจะเริ่มจากการซักถามพยานหรือผู้เสียหาย ถึงลักษณะของคนร้าย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากสุด เจ้าหน้าที่ต้องใช้จิตวิทยาในการพูดคุยกับพยานหรือผู้เสียหายเพื่อให้ได้รายละเอียดของคนร้ายมากที่สุด
"การซักถามพยานหรือผู้เสียหายเพื่อให้ได้รายละเอียดของคนร้ายมากที่สุดเป็นเรื่องที่ยากสุดในกระบวนการสเก็ตช์ภาพคนร้าย เนื่องจากผู้เสียหายหรือพยานอาจยังไม่พร้อม เพราะอาจยังคงตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราต้องใช้จิตวิทยาในการพูดคุย ต้องทำให้เขามีสมาธิ ใช้หลักในการสื่อสารที่ดีเพื่อให้เขาและเราเข้าใจตรงกัน ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อดึงข้อมูลของคนร้ายจากพยานหรือผู้เสียหายให้ได้มากที่สุด และสิ่งที่ได้มานั้นต้องมีความครบถ้วนและถูกต้องด้วย" พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บอก
ข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับพยานหรือผู้เสียหาย จะถูกประมวลผล หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการนำภาพสเก็ตช์ที่มีอยู่มากกว่า 1,000 ภาพ ให้พยานหรือผู้เสียหายดู เพื่อให้เห็นในภาพรวม ตามหลักทฤษฎีที่เชื่อกันว่า คนเราจะสามารถจดจำในภาพรวมได้มากกว่าจำในลักษณะแยกส่วน ซึ่งเมื่อได้ลักษณะโดยรวมแล้วจึงจะเจาะลงไปในรายละเอียดเชิงลึก โดยเริ่มจากส่วนของใบหน้า โครงหน้า ทรงผม สัดส่วนของปาก ปากหนา ปากบาง ตาเล็ก ตาโต ในอดีตสิ่งเหล่านี้จะวาดขึ้นทั้งหมด แต่ปัจจุบันใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ "โฟโต้ช็อป" ดำเนินการแทน เพราะสามารถตัดต่อ ตกแต่งภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและรวดเร็ว
"การสเก็ตช์ภาพ 1 ภาพ จะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่การจดจำได้ของพยาน บางคดีพยานสามารถจดจำได้ชัดเจน บางคดีไม่ชัด บางคดีเห็นหน้าคนร้ายน้อยมาก หรือแทบไม่เห็นเลย เพราะคนร้ายอำพรางตัว ระยะเวลาในการเห็น เห็นนาน เห็นเร็ว พยานบางคนเห็นคนร้ายแต่ไม่รู้ว่าเป็นคนร้าย เพราะเห็นก่อนหรือหลังก่อเหตุ ก็ต้องให้พยานนึกย้อนเหตุการณ์ลำดับภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง" พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่า "ภาพสเก็ตช์" สามารถช่วยคลี่คลายคดีได้อย่างไร พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในการคลี่คลายคดี วัตถุพยาน และพยานบุคคล ในที่เกิดเหตุ มีความสำคัญ หากพยานเห็นใบหน้าคนร้ายแล้วสามารถถ่ายทอดออกมาได้ "ภาพสเก็ตช์" ที่ได้จะเป็นเบาะแสสำคัญที่ทำให้ตำรวจฝ่ายสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายได้ง่ายขึ้น
ในการคลี่คลายคดีอาชญากรรม สิ่งที่ตำรวจต้องการทราบเป็นอันดับแรกคือ หน้าตาของคนร้าย แม้ภาพสเก็ตช์จะไม่เหมือนตัวจริง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถจำกัดวงการสืบสวนให้แคบลงได้ ให้เห็นถึงตำหนิรูปพรรณของคนที่ตามหา คดีสำคัญหลายๆ คดี สามารถคลี่คลายได้ด้วยภาพสเก็ตช์
ยกตัวอย่างเช่น คดีคนร้ายขโมยรถสปอร์ตออดี้ สีขาว ซึ่งจอดอยู่ข้างบริษัท วอง จิวเวลรี่ พื้นที่รับผิดชอบของ สน.ยานนาวา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุได้นำพยานมาผ่านกระบวนการสเก็ตช์ภาพคนร้าย ซึ่งภาพสเก็ตช์ที่ได้นำมาสู่การออกหมายจับคนร้ายตามภาพสเก็ตช์ และสามารถจับกุมคนร้ายได้ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
คดีคนร้ายปาดคอ ชิงทรัพย์นักข่าวไทยโพสต์ประจำศาลอาญา เหตุเกิดภายในซอยเสือใหญ่อุทิศ ย่านถนนรัชดาภิเษก เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เช่นกัน ผู้เสียหายสามารถจดจำใบหน้าของคนร้ายได้ นำมาสู่การสเก็ตช์ภาพคนร้าย กลายมาเป็นเบาะแสสำคัญที่ทำให้ตำรวจสามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้ในระยะเวลาไม่นานหลังเกิดเหตุ
"ปัจจุบันกองทะเบียนประวัติอาชญากรสเก็ตช์ภาพคนร้ายเฉลี่ย 900-1,000 ภาพต่อเดือน ซึ่งปริมาณมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการเกิดคดี ซึ่งงานสเก็ตช์ภาพคนร้ายถือเป็นการสนับสนุนฝ่ายสืบสวน รวมถึงพนักงานสอบสวน" พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ กล่าว
ปัจจุบันการสเก็ตช์ภาพนอกจากจะช่วยสนับสนุนการติดตามจับกุมคนร้ายแล้ว ยังถูกนำมาใช้ในการติดตามบุคคลสูญหายด้วย โดยการทำภาพสเก็ตช์เพิ่มอายุของบุคคลสูญหายไปหลายปี โดยยึดหลักกายวิภาค อย่างกรณีการหายตัวไป ด.ช.ชัยภาส ด่านเดื้อกุล หรือ น้องเท็น อายุ 11 ปี ด.ช.พงเพชร จีนสุกแสง หรือน้องลาภ อายุ 9 ปี ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2549 เป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ญาติของบุคคลสูญหายทั้ง 2 คน ยังคงใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นเบาะแสในการติดตาม ซึ่งค่อนข้างยาก เพราะระยะเวลาที่ล่วงเลยทำให้ผู้สูญหายมีพัฒนาการในเรื่องรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนแปลงไป
กองทะเบียนประวัติอาชญากรได้จัดทำภาพสเก็ตช์เพิ่มอายุให้ผู้สูญหายทั้ง 2 คน โดยใช้ข้อมูลของบุคคลในครอบครัวมาวิเคราะห์ชิ้นส่วนต่างๆบนใบหน้า แล้วนำออกเผยแพร่ เป็นเบาะแสให้ผู้พบเห็น ช่วยในการติดตาม
"ในอดีตการสเก็ตช์ภาพใช้ดินสอในการวาด จากนั้นได้พัฒนามาใช้คอมพิวเตอร์โดยโปรแกรมโฟโต้ช็อป การเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่ว่าการใช้ดินสอไม่มีคุณภาพ แต่เพราะขาดแคลนบุคลากร จึงต้องคิดว่า วิธีที่ทำให้การสเก็ตช์ภาพไม่ยาก ทำอย่างไรให้สามารถสนับสนุนฝ่ายสืบสวนได้อย่างรวดเร็ว จึงปรับเปลี่ยนไปใช้คอมพิวเตอร์ เพราะง่ายในการจัดเก็บข้อมูล การแก้ไขภาพ สะดวกในการใช้งาน ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็ใช้คอมพิวเตอร์ บางประเทศก็ใช้ควบคู่กับดินสอ" พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ให้ข้อมูล
สิ่งสำคัญที่จะทำให้การสเก็ตช์ภาพคนร้ายมีประสิทธิภาพสูงสุด คือผู้เสียหายหรือผู้ประสบเหตุต้องจดจำใบหน้าของคนร้ายให้ได้มากที่สุด มีหลักในการจดจำไม่ยากคือ ให้จำโครงสร้างใบหน้าว่า เป็นแบบกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือรูปไข่ จดจำทรงผมว่าเป็นอย่างไร ซึ่งโครงหน้าและทรงผมจะเป็นภาพติดตาที่คู่กัน จากนั้นให้จดจำลักษณะตา คิ้ว จมูก ปาก โดยต้องรู้ว่าเป็น ตาชั้นเดียว สองชั้น จมูกโด่ง ไม่โด่ง ปากหนา ปากบาง ซึ่งหากสามารถบอกรายละเอียดตำรวจได้มากเท่าไหร่ภาพสเก็ตช์จะมีความสมบูรณ์ ใกล้เคียง หรือเหมือนกับใบหน้าคนร้ายมากที่สุด ก็จะกลายเป็นเบาะแสที่สำคัญทำให้ตำรวจสามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้ง่ายขึ้น
----------------------------
(ภาพสเก็ตช์...เบาะแสล่าโจร : คลี่ปมปริศนา CSI THAILAND : โดย...ขวัญหทัย มาลากาญจน์)