
กอล์ฟนักสู้มวยไชยาเหนือกว่าด้วยสติ
04 ก.ย. 2557
ขอเวลานอก : กอล์ฟ-ณชนก นักสู้มวยไชยา เหนือกว่าด้วยสติ : เรื่อง ณุวภา ฉัตรวรฤทธิ์ /ภาพ สุกล เกิดในมงคล
"พอเป็นมวยไชยาตัวเราก็เหมือนลูกทุเรียน สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้ แค่ยืนเฉยๆ คนที่เข้ามาเตะต่อยเราเขาก็เจ็บเอง"
การเคลื่อนไหวหลบหลีกด้วยไหวพริบแฝงด้วยท่วงท่าเป็นศิลปะสวยงามทว่าดุดัน นับเป็นเสน่ห์การต่อสู้ที่น่าตื่นเต้นจับใจ เมื่อแรกเห็นการประลอง "มวยไทยไชยา" ครั้งแรก ผ่านห้องฝึกซ้อมที่หนุ่มนักธุรกิจด้านอาหาร "กอล์ฟ" ณชนก รัตนทารส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จี เมนเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ปลุกปั้นร้านอาหารหรูและแหล่งสังสรรค์ชื่อดังครองใจนักชิมหลายสิบร้าน อีกบทบาทอับอบอุ่นคือคู่ชีวิตร่วมทุกข์สุขของ "ปอ" ศีกัญญา ศักดิ์เดช ภาณุพันธ์ และคุณพ่อลูก 3 ของ "น้องจีนส์" อิทธิฤทธิ์ รัตนทารส , "น้องจอม" ฤทธิ์ตะวัน - "น้องจ้า" ฤทธิ์ธิดา อัมพุช ได้ชักชวนเรามารู้จักกิจกรรมในโลกของนักสู้นั่นก็คือการเรียนมวยไทยไชยา ภายในห้องฟิตเนสของโรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ บอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่คลาสเรียนเบื้องต้นแต่เป็นการสอนต่อเนื่องมากว่า 8 ปี จากองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์ของ "ครูแปรง" ณปภพ ประมวญ นายกสมาคมมวยไทยไชยา ภาพที่เห็นจึงเป็นเวทีประลองชิงไหวชิงพริบหลบหลีกและเอาชนะด้วยท่ามวยต่างๆ ให้ลุ้นและทึ่งตลอดชั่วโมงการสอน
ก่อนเข้าสู้การฝึกครูแปรงก็พาหนุ่มกอล์ฟเริ่มกล่าวคำปฏิญาณ ทำสมาธิ ดูจิตดูกาย ก่อนจะยืดเส้นด้วยท่าโยคะ และฤาษีดัดตน และบอกว่ามวยไชยาเป็นศาสตร์ที่ทหารไทยโบราณใช้ในการออกรบ หัวใจหลักนั้นต้องฝึกสติ ฝึกจิต ใช้ท่ามวยเป็นตัวยึดโยงกับใจ ตอบโต้ได้รวดเร็วแบบอัตโนมัติ ดังนั้นการฝึกมวยไชยาให้เก่ง ต้องฝึกจิตด้วยไม่ใช่มุ่งแต่โจมตี ในที่สุดแล้วนักสู้จะมีความสงบ มีสมาธิติดตัวเสมอ จากนั้นทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ออกท่าทางมวยไทยไชยาพื้นฐานที่ได้มาจากศิลปะการเล่นโขนอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว ทั้งท่าเสือลากหาง กันการโจมตีอีกฝ่ายด้วยหลัก ป.4 ป้อง ปัด ปิด เปิด, ทัดมาลา ตอบโต้ด้วย ท่าปักลูกทอย, หนุมานฟาดกุมภัณฑ์, ชฎายุชิงนาง ดูท่วงท่าสวยต่อเนื่องงดงามแต่จริงแล้วคือศาสตร์ต่อสู้ที่ใช้ในสนามรบนั้นเอง
"มวยไทยไชยาที่ผมเรียนอยู่ จะเน้นการป้องกันตัวมากกว่าต่อสู้ สมมุติมีคนมาทำร้ายเราจะรู้จักหลบหลีกแล้วก็หยุดเหตุการณ์นั้นๆ ได้โดยที่เราไม่เจ็บตัวมาก จะมีท่าให้เรารับและแก้การโจมตีได้ทุกรูปแบบเลย ผมว่าเหมาะกับผู้หญิงมากๆ เพราะถ้ารู้พื้นฐานไว้บ้างก็จะไม่มีใครทำร้ายร่างกายเราได้ หลักสำคัญคือต้องซ้อมท่ามวย เข้าใจร่างกายมนุษย์ให้จำเข้าไปในหัวเลยเราถึงจะทำต่อเนื่องได้ ปกติผมเรียนอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แล้วเวลาอยู่บ้านหรือว่างก็จะซ้อมท่าให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เหมือนรำมวยแบบนี้ (ออกท่าทางให้ดู) ที่เห็นเมื่อครู่เราจะไม่เน้นต่อยเตะแต่จะล้มคู่ต่อสู้ทันทีด้วยการหักช่วงแขน หัวไหล่ หรือหลังให้ร่วงลงไปนั้นคือชนะแล้ว แต่ก็จะมีท่าแก้เวลาโดนโจมตีเหมือนกัน ลองนึกภาพว่ากำลังออกสงครามในสนามรบมีข้าศึกเป็นร้อยเป็นพันนักรบจะต้องฟันศัตรูทีเดียวให้ตายเลย ถ้ามัวร่ายรำออกท่าไปมารับรองไม่ชนะ ต้องรวดเร็วปุ๊ปปั๊บตายแล้วสู้กับคนต่อไปอย่างรวดเร็ว จริงๆ อาจารย์วิชาแน่นมาก ผมเรียนมา 8 ปี สู้กันคล่องตัวแบบนี้วิชาที่ผมได้ยังไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ที่อาจารย์มีเลย" นักมวยไชยากล่าว หลักฝึกยกแรกเสร็จ
เพราะห่างซ้อมมวยไปเกือบเดือนเหตุมาจากเป็นช่วงที่งานยุ่งมากๆ วันนี้เจ้าตัวเลยรู้สึกไม่คล่องแคล่วอยู่หลายท่า ต้องให้อาจารย์ช่วยแก้ไขและบอกว่าต้องกลับไปย้อนดูวิดีโอที่อัดเก็บเอาไว้เวลาเรียน ทำให้ทุกท่าต้องออกมาจากจิตใจตอบโต้ไปอย่างอัตโนมัติ นับเป็นเสน่ห์อีกอย่างของศาสตร์การต่อสู้ไทย หลังห่างหายไปสักระยะด้วยภาระกิจการงาน เมื่อเริ่มซ้อมอีกครั้งท่าใหม่ๆ ก็ถูกแสดงออกมาให้ท้าทายอีก ทั้งขุนฆ้องตีทั่ง, หักปีกหงส์, ท่าจบเข่าลอย จบด้วยท่า หนุมานทะยาน ที่หนุ่มกอล์ฟกระโดดลอยตัวลงมาโจมตีคู่ต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว ครูแปรงชี้ให้ดูสายคาดเอวของศิษย์คนนี้ว่าเป็นสายสีม่วงนักสู้กายวุธ เน้นทักษะป้องกันตัวเต็มที่ และตั้งใจมอบวิชาให้เป็นผู้อนุรักษ์ศาสตร์การต่อสู้ไทยโบราณ จัดเป็นทำเนียบที่สามารถถ่ายทอดวิชาสู่คนรุ่นหลังต่อไปได้ ซึ่งลูกศิษย์คนเก่งก็ยิ้มรับ บอกว่าตอนนี้กำลังสนับสนุนให้มีตำราเรียนและปฏิบัติมวยไชยาอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะมองเห็นว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่คนไทยควรดูแลรักษาและเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาก
"มวยไทยไชยาเป็นเหมือนตำรารบของคนไทย สมัยก่อนเด็กเรียนในวัดก็คงต้องเริ่มฝึกแบบนี้มาบ้างให้เป็นจิต เป็นสมาธิของเรา พออายุ 15-16 ก็พร้อมออกรบในสงครามทันที ซึ่งตอนนี้แม้ไม่มีการรบแต่เราปรับใช้ป้องกันตัวได้ ซึ่งยังไม่ค่อยมีตำราเป็นลายลักษณ์อักษร ผมเองก็สนับสนุนเรื่องนี้มาหลายปีแล้วครับ อยากให้มีการเขียนรวมศาสตร์นี้ไว้ให้ชัดเจน เพราะ ตอนนี้มวยไชยานี้เริ่มเป็นที่รู้จักเผยแพร่ไปประเทศอื่นๆ บ้างแล้ว แต่ไม่รู้ที่มาแน่ชัดก็จะอาจจะมีการเอามวยไชยาไปลงทะเบียนเป็นของประเทศอื่นได้ ซึ่งจริงๆ เป็นของชาติเรา แล้วถ้ามาดูจริงๆ มวยไทยไม่ใช่แค่มวยเวทีนับแต้มแพ้ชนะแต่มีศาสตร์ มีเรื่องราวเยอะมาก สอนตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ได้วิชาป้องกันตัวหลายแขนง เป็นศาสตร์ที่ไปได้ไกลมากน่าเสียดายถ้าคนไทยจะปล่อยให้หายไป" นอกจากฝึกทักษะการรักษาศาสตร์ของชาติก็เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญไม่น้อย
หลังซ้อมเสร็จเจ้าตัวก็สรุปให้เห็นว่าการต่อสู้จริงๆ นั้นไม่ใช่การพุ่งเข้าใส่กันอย่างเดียว จากครั้งหนึ่งเคยมีคนมุ่งเข้ามาทำร้าย ตัวเองเริ่มด้วยการใช้สติป้องกันตัวก่อนไม่โดยคิดจะโต้กลับ เพียงแต่ใช้วิชามวยปัดป้องมือที่กำลังต่อยเข้ามาไม่ให้มาโดนส่วนสำคัญ จนเห็นว่าอีกฝ่ายเริ่มเหนื่อย มือเจ็บแล้วก็มีคนมาจับเขาออกไปเองเป็นอันยุติ จากเหตุการณ์เห็นได้ชัดว่าแค่หลักที่อาจารย์บอกให้เราฝึกป้อง ปัด ปิด เปิด ก็ป้องกันตัวได้แล้ว
"การใจร้อนต่อยกลับกันไปมาเป็นอาวุธที่ผิด เพราะนิ้วเป็นกระดูกที่เล็กและแตกง่ายมาก ถ้าเรายื่นมือมาต่อยก็เหมือนเราเอากระดูกเล็กๆ ไปกระแทกให้หักได้ ก็เจ็บตัวเองอีก ซึ่งเบื้องต้นหลักของมวยไชยาก็มีวิธีตอบโต้แบบเด็ดขาดรวดเร็วอยู่แล้ว แต่การรู้จักป้องกันและใช้สติชะลอสถานการณ์ให้เบาลงก่อนเป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่าใช้ความรุนแรง ผมว่าพอเป็นมวยไชยาตัวเราก็เหมือนลูกทุเรียน สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้แค่ยืนเฉยๆ คนที่เข้ามาเตะต่อยเราเขาก็เจ็บเอง" นักสู้กายวุธ แนะนำการต่อสู้ที่ถูกต้องทิ้งท้าย