ข่าว

เปิดมุมมอง 'วัชระ พรรณเชษฐ์' มาร่วมใจแก้โกงกันดีกว่า...!

เปิดมุมมอง 'วัชระ พรรณเชษฐ์' มาร่วมใจแก้โกงกันดีกว่า...!

31 ส.ค. 2557

เปิดมุมมอง 'วัชระ พรรณเชษฐ์' มาร่วมใจแก้โกงกันดีกว่า...!

 
                         "ตอนนี้ประเทศไทยกำลังวัดตัวตัดสูท" เป็นคำอธิบายสไตล์นักธุรกิจจาก ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ ประธานกลุ่มสิทธิผลโฮลดิ้ง ในบริบทที่หลายคน รวมถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นิยามประเทศไทยว่า เป็นช่วง "พักประชาธิปไตยเอาไว้ชั่วคราว" เพื่อจัดระบบระเบียบภายในให้พร้อมรับการแข่งขันในทุกสมรภูมิ โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 
 
                         มุมมองของ ดร.วัชระ เป็นสิ่งที่หลายคนต้องเงี่ยหูฟัง เพราะเส้นทางบนถนนสายธุรกิจและการเมืองของเขานั้นไม่ธรรมดา เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังการรัฐประหารปี 49 และเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมทั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย หรือ ทีทีอาร์ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  
 
                         ปัจจุบันเข้ารั้งตำแหน่งประธานอาวุโสสภาเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ พีเบค (Pacific Basin Economic Coucil : PBEC) ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่นั่งเก้าอี้ประธานองค์กรความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศของภาคเอกชนแห่งนี้ ซึ่งก่อตั้งมายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ ทั้งยังเป็นประธานร่วมโฮราซิส (Horasis) ที่มีภารกิจส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย 
 
                         โปรไฟล์ขนาดนี้ทำให้ ดร.วัชระ เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของโลกตลอดเวลา และรับรู้รับทราบเป็นอย่างดีว่า ประเทศไทยในมุมมองของต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนนั้น เป็นอย่างไร 
 
                         "วันนี้ต่างประเทศต้องเข้าใจไทย เพราะประชาธิปไตยก็เหมือนการตัดสูท ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องวัดตัวตัด หากจะไปซื้อไซส์เอส เอ็ม แอล ก็ได้ แต่ก็ต้องแก้ ประชาธิปไตยก็เหมือนกัน แม้จะยึดหลักการประชาธิปไตยเดียวกัน ทว่า แต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกัน ฉะนั้นถ้าเปรียบกับสูท วัดตัวตัดย่อมดีที่สุด จะได้พอดีตัว ถ้าไปซื้อแบบสำเร็จรูปมาเลยก็ต้องแก้ไขอยู่ดี" 
 
                         และนี่จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า "ตอนนี้ประเทศไทยกำลังวัดตัวตัดสูท" 
 
                         ในห้วงปี 2557 ที่ไทยเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง กระทั่งเดินสู่วงจรการยึดอำนาจ ดร.วัชระ เดินทางไปหลายประเทศ และก็พบความจริงว่า คนไม่ได้กลัวสถานการณ์ในเมืองไทยมากดังที่เป็นข่าว เพราะแม้แต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศกฎอัยการศึก เขายังต้อนรับแขกจากต่างประเทศคณะใหญ่อยู่เลย 
 
                         "ต่างประเทศถามผมเยอะ ผมก็บอกไม่ต้องกังวล เราเปลี่ยน Head of government ไม่ได้เปลี่ยน Head of state ส่วนเรื่องวัฒนธรรมการเมือง เรื่องประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มันยังน้อยไปหน่อย ถ้าหยุดเพื่อตั้งระบบใหม่ได้มันก็ดี แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้เวลาแค่สั้นๆ หากนานเกินไปจะไม่ดี เหมือนเป็นมะเร็ง ต้องใช้คีโม ร่างกายกระทบแน่ๆ แต่ต้องช่วงสั้นๆ หากยาวนาน 3-4 ปีจะแย่" 
 
                         ดร.วัชระ ชี้ว่า ในช่วงที่ประชาธิปไตยหยุดพัก สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่กระแสวิจารณ์จากต่างประเทศ แต่เป็นการปรับโครงสร้างภายในให้ดีขึ้นจริงมากกว่า โดยเฉพาะมาตรการการป้องกันการคอร์รัปชั่น
 
                         "มาช่วยกันแก้โกงดีกว่า ฝรั่งกังวลและมองปัญหานี้มาก การลงทุนมีการเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา ที่สำคัญกลัวนโยบายของประเทศเปลี่ยนแปลง ประเภทอยู่แป๊บเดียว ตกลงกับคนนี้เสร็จ อีก 3 อาทิตย์เปลี่ยนตัวอีกแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศอยากได้คือ เสถียรภาพ ลงทุนแล้วนิ่ง และไม่มีเรื่องเงินใต้โต๊ะ มีการแข่งขันที่เป็นธรรม" 
 
                         ดร.วัชระ ย้ำว่า สถานการณ์ของประเทศไทยในสายตาต่างชาติขณะนี้ดีขึ้นมาก และไทยยังมีศักยภาพเป็น "ฮับ" ของภูมิภาค โดยยกตัวอย่างแนวนโยบายของญี่ปุ่นที่เรียกว่า เจแปน ไทยแลนด์ พลัส วัน (Japan’s Thailand-Plus One) สะท้อนว่าไทยยังเป็นฮับได้ แต่แรงงานเราราคาไม่ถูกแล้ว ต้องใช้แรงงานจากประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี หรือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ญี่ปุ่นจึงดำเนินนโยบายนี้ แสดงว่ายังต้องการไทยอยู่ ส่วนประเทศที่จะมาบวกเป็นประเทศอะไรก็ได้ในกลุ่มซีแอลเอ็มวี 
 
                         "ตอนที่มีการชุมนุม สถานการณ์ไม่ดีเลย มีแต่คนมองประเทศไทยในแง่ไม่ดี แต่หลังจาก คสช.เข้ามา ถือว่าสถานการณ์นิ่งขึ้น ความหวั่นไหวของนักลงทุนน้อยลง"