
งานอดิเรกของหมอผ่า (ตัด) หัวใจ
24 ส.ค. 2557
คุยนอกกรอบ : งานอดิเรกของหมอผ่า (ตัด) หัวใจ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์
การผ่าตัดคือการพักผ่อน เราทำงานด้วยความใจเย็น ไม่เครียด แล้วงานจะออกมาดี ถ้าคุณทำงานแบบต้องผ่าให้เร็วที่สุด งานจะออกมาดูไม่ได้ และผ่าตัดหัวใจมันชัดเจนมาก หากทำไม่ดี คนไข้จะตายทันที
ระหว่างไปเยี่ยมคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ จาก รพ.กรุงเทพอุดร โดยใช้สิทธิ 'บัตรทอง' ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี บังเอิญได้ยิน นพ.ธีระศักดิ์ ศรีเฉลิม ศัลยแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบบหัวใจและทรวงอก รพ.กรุงเทพอุดร เจ้าของไข้ ถามช่างภาพเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูป ทำให้ทราบว่าคุณหมอชอบสะสมกล้อง มีงานอดิเรกคือการถ่ายภาพ สะสมปืน และรอก (สำหรับตกปลา) ทั้งหมดเพราะชอบในความงามของวัตถุดังกล่าว ทั้งยังอธิบายว่าการยิงปืนทำให้ใจเย็นขึ้น
นั่นเป็นที่มาของบทสนทนาต่อไปนี้
คุณหมอธีระศักดิ์เล่าถึงงานอดิเรกว่า ลำดับที่หนึ่ง-ถ่ายรูป ทำมา 20 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ที่ศิริราช ตอนนั้นใช้กล้องฟิล์ม โดยเรียนรู้ด้วยตนเอง ม้วนแรกถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์เสียหมดทั้งม้วน จากนั้นพัฒนามาเรื่อยๆ ล่าสุดเพิ่งซื้อกล้องนิคอน ดี 4 เอส เป็นกล้องดิจิทัล รุ่นท็อป และเลนอีกสามสี่ตัว
"ชอบถ่ายรูปมันต้องใช้ความคิด สมาธิ เป็นการฝึกด้วย ต้องจัดองค์ประกอบภาพ เป็นการจัดระเบียบทางความคิดอย่างหนึ่ง มองอะไรให้ลึกซึ้ง ซับซ้อน ได้พูดคุยกับคนเก่งๆ นอกจากเรียนรู้จากการอ่าน ศึกษาด้วยตนเอง ก็ถามคนมีประสบการณ์ พัฒนาเอามาใช้กับการเรียนได้ ทำให้มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น"
ทำไมถึงบอกว่าการถ่ายรูปจะทำให้มองอะไรได้ลึกซึ้ง และซับซ้อน คำตอบคือ รูปหนึ่งแผ่นที่ออกมาต้องมีเรื่องราว ไม่ใช่สักแต่ว่าถ่าย ก่อนถ่ายต้องกำจัดสิ่งที่รกตาออกไป จัดแสงที่เหมาะสม ต้องการให้อะไรเด่นในภาพ ดูชัดตื้นชัดลึก และบ่งบอกเรื่องราวได้
คำตอบนี้ทำเอาผู้เขียนอึ้งไปเล็กน้อย ค่าที่ต้องใช้กล้องถ่ายภาพประกอบการทำงานทุกสัปดาห์ แต่ไม่เคยคิดเยอะขนาดนี้ แค่คิดว่านำมาประกอบเรื่องเท่านั้นเอง
ส่วนที่ว่าการถ่ายรูปทำให้มีสมาธิกับการเรียนได้อย่างไร คุณหมอตอบว่า เวลาถ่ายรูปต้องมีสมาธิ การเรียนก็ต้องใช้สมาธิเช่นกันในการฟัง พูด เขียน ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เรียน ดังนั้น การถ่ายรูปก็เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง
งานอดิเรก ลำดับที่สอง ดูจะดุเดือดสักหน่อย เพราะ นพ.ธีระศักดิ์ บอกว่าชอบ ยิงปืน และมองว่าปืนเป็นศิลปะ ไม่ใช่อาวุธ
"ผมว่าปืนสวย มีเรื่องราว ที่ซื้อไว้สองปีก่อนมี 5-6 กระบอกเป็นปืนใหม่ ผมจะศึกษา และซื้อปืนที่เป็นตำนาน ปืนนี่ซื้อยากนะครับ ต้องมีใบอนุญาต และเป็นคนดีด้วยนะครับ เพราะต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ถูกต้องตามกฎหมายนี่ซื้อยาก...ผมใช้สิทธิ์ข้าราชการในการซื้อ กระบอกแพงสุดราคา 1.5 แสนบาท ผมชอบเพราะมันสวย" (เปิดรูปจากสมาร์ทโฟนให้ดูและอธิบายว่าด้ามสวย มีกลไกเป็นแบบเฉพาะของแบรนด์นี้)
โดยปืนที่สะสมนั้น เลือกจากความชอบส่วนตัวเป็นหลัก ไม่ได้สนใจว่าใครจะเล่นหรือสะสมรุ่นไหน
"กระบอกแรกเป็นบาเร็ตต้า (Beretta) 92 เอฟเอส ผมชอบปืนสเตนเลส รูปลักษณ์การทำปืน กลไกการทำงานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีความคงทน กระบอกที่สอง โคล์ท (Colt) แปลว่า ลูกม้าอายุไม่เกิน 2 ขวบ เป็นปืนที่เป็นตำนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลก 1911 มีกลไกการทำงานเฉพาะ ต้องบอกว่าปืนทุกยี่ห้อในโลกมีโคล์ทเป็นต้นแบบ (ผลิตจากอเมริกา) ผมซื้อขนาดจุดสี่ห้า หรือ 11 มม. ทั้งหมดเป็นของใหม่ ยิงได้จริง เอาไปซ้อมยิงปืนด้วย ผมชอบเพราะปืนมันสวย มองว่าเป็นศิลปะ มีความสวยงามในตัวเอง คือคนทำต้องมีจินตนาการถึงคิดออกมาได้ขนาดนี้ กระบอกที่สาม ซิก เซาเออร์ (SIG SAUER) เป็นปืนลูกผสมสวิสบวกเยอรมัน มีตำนานที่ยาวนาน ปืนคุณภาพสูงมากๆ ยี่ห้อหนึ่งในโลกนี้ ซื้อสองกระบอก รุ่น 1911 และ พี 206-เอ็กซ์ 5 ชอบครับชอบ เป็นปืนที่สวยมาก"
แต่คนที่มีอาวุธปืนต้องเข้าใจกฎอาวุธปืนคือ ทำให้ปืนเป็นเพื่อนเราไม่ใช่ศัตรู วิธีการเข้าไปจับปืนมีกฎดังนี้ กฎข้อ 1.ไม่เอานิ้วไปเหนี่ยวไก เพราะไม่รู้ว่ามีลูกกระสุนในรังเพลิงหรือไม่ กฎข้อ 2.ถอดแม็กกาซีนปืนออก กฎข้อ 3.ขึ้นลำดูว่ามีลูกในรังเพลิงไหม ถ้าทำสามอย่างนี้แล้ว ปืนนั้นเป็นปืนที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่คือกฎของการจับปืน ห้ามเหนี่ยวไกเล่น ที่เสียชีวิตเพราะละเมิดกฎนี้
เอาเวลาตอนไหนมาทำงานอดิเรก เพราะต้องสแตนด์บาย 24 ชั่วโมง? คุณหมอตอบว่าเราต้องจัดสรรเวลา การซ้อมยิงปืนคือการฝึกทักษะในการใช้อาวุธ หนึ่ง-จับอาวุธปืนให้ถูกต้อง ยิงยังไงไม่ขยุ้มไก ต้องมีความใจเย็น ต้องใช้สายตาและสมาธิสูง...
มีผลต่อการผ่าตัดหัวใจ ?
"มีๆๆ ครับ ทำให้เราใจเย็น ที่โยงมาสู่การทำงานคือ บางอย่างทำได้แค่ครั้งเดียว พลาดคือพัง อย่างการผ่าตัด บางเคสทำยาก อยู่ลึกมองไม่ชัด เราต้องทำให้ชัดเจน และดีที่สุด บางทีมีโอกาสแค่หนเดียว ผมเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์มารู้เลย ผมผ่าตัดหัวใจพันกว่ารายอยู่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ของพวกนี้เป็นตัวช่วยเรา เราได้ทักษะจากการใช้อาวุธปืน ทำให้ใจเย็น"
ทำไมถึงชอบสะสมปืน?
จริงๆ อยากซื้อนานแล้ว แต่ปืนราคาแพงมากและซื้อยาก พอทำงานจุดนี้ ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน ทำให้คนอนุญาต เขาอนุญาตด้วยความสบายใจ นายอำเภอท่านให้ความกรุณายังมีที่หมายตาอีก แต่เอาไว้ก่อน (หัวเราะ)
งานอดิเรก ลำดับที่สาม-ตกปลา เขาย้ำว่า ไม่ได้ตกมากิน ตกได้นำมาชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงแล้วก็ปล่อย บางคนบอกปากมันต้องเจ็บแน่เลย ก็คงส่วนหนึ่ง
การตกปลาทำให้ได้ฝึกความอดทนในการรอคอย บวกกับชอบรอกที่ใช้
เหตุผลเดียวกับการสะสมปืนคือ "ความสวยงาม"
"เราเก็บรอกบางยี่ห้อ ผมชอบยี่ห้อเพนน์ ของอเมริกา เป็นรอกคุณภาพสูงอยู่ในตลาดโลกตอนนี้ รอกตกปลาฉลามผมก็ซื้อมานะ ตัวใหญ่สุด ตัวเท่าหม้อหุงข้าว ราคา 7 หมื่นบาท ซื้อมาแล้วก็เอามาลูบๆ คลำๆ ไม่ได้ใช้ เราเก็บและหยอดน้ำมันตามคู่มือ ก็สนุกดี ได้ใช้นิดหน่อย ตกปลาบ้าง ได้ออกแรง ตกปลาเชิงออกกำลังกาย ตกได้แล้ววัดขนาด ชั่งน้ำหนัก ก็ปล่อยเขาไป"
งานอดิเรกพวกนี้ ในหนึ่งสัปดาห์ต้องได้ทำสักอย่าง เช่น กล้องถ่ายรูป ก็นำมาลูบๆ คลำๆ สบายใจ นอนได้ ในงานผ่าตัดหากเห็นเคสน่าสนใจ จะถ่ายรูปเก็บไว้ โดยใช้กล้องง่ายๆ ให้ลูกน้องถ่ายเก็บไว้
แล้วเวลาผ่าตัดเห็นความงามในหัวใจบ้างไหม?
"ความคิดผมนะ การผ่าตัดคือการพักผ่อน เราทำงานด้วยความใจเย็น ไม่เครียด แล้วงานจะออกมาดี ถ้าคุณทำงานแบบต้องผ่าให้เร็วที่สุด งานจะออกมาดูไม่ได้ และผ่าตัดหัวใจมันชัดเจนมาก หากทำไม่ดี คนไข้จะตายทันที มีหัตถการบางอย่างที่ผมทำ เช่น ดูใจ-หมอดูหัวใจคนไข้เต้นตุ้บๆ แทงใจดำ-เป็นหัวใจที่เลือดดำเทเข้า เราจะทำตอนบายพาส หรือแผลลึกกลางหัวใจ ประคองหัวใจ เวลาให้ผู้ช่วยช้อนให้เห็นบริเวณผ่าตัดชัดๆ ใช้มือหรือใช้เครื่องมือประคองให้ดูชัดๆ คนไม่มีหัวใจ-ก็เรานี่แหละที่เห็น คือผ่าตัดหัวใจมีภาวะหนึ่งที่คนไข้ไม่มีหัวใจ หัวใจดวงนี้ใช้ไม่ได้ ต้องนำหัวใจของคนบริจาคมาใส่แทน ก่อนจะใส่มันก็ไม่มีหัวใจ ผมทำมาหมดแล้ว...ผมจริงจัง เหลาะแหละไม่ได้ ทำงานเป็นขั้นตอน ระหว่างผ่าตัดก็ร้องเพลง ฮัมเพลง ลูกน้องจะรู้"
------------------------------
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 อุดรธานี โดย นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผอ.สปสช.เขต 8 อุดรธานี และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมการดำเนินงานผ่าตัดหัวใจ และสวนหัวใจ คนไข้บัตรทอง โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร
นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ใน 3 ของพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานตอนบน เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายจ่ายของครัวเรือน ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวนไม่น้อยมีอาการซับซ้อน ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด และรอคิวเพื่อเข้ารับบริการ หรือถูกส่งตัวไปรับบริการที่สถานบริการต่างพื้นที่
เพื่อลดการรอคอยคิวผ่าตัด การเดินทาง ค่าใช้จ่ายจองผู้ป่วยและญาติที่ต้องไปรับบริการต่างพื้นที่ นพ.ปรีดา กล่าวว่า สปสช.เขต 8 จึงร่วมมือกับ รพ.กรุงเทพอุดร จัดบริการผ่าตัดหัวใจให้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นสิทธิบัตรทอง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา นับถึงปัจจุบันมีคนไข้บัตรทองเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ 57 ราย สวนหัวใจ 107 ราย ผู้ป่วยรอคิวไม่เกิน 1 เดือน หลังการรักษาสามารถใช้ชีวิตทำงานได้ตามปกติ
ด้านคนไข้ ปนัดพงษ์ ถาวะโร อายุ 24 ปี ที่ได้รับการผ่าตัดมีอาการเหนื่อยง่าย ก่อนหน้านั้น 1 ปีเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ด้วยอาการหัวใจรั่ว กระทั่งสามวันก่อนผ่าตัด มีอาการเหนื่อยมาก นั่งๆ อยู่ก็หลับไป ญาติพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน และโรงพยาบาลส่งต่อมาที่ รพ.กรุงเทพอุดร
นพ.ธีระศักดิ์ ศรีเฉลิม ศัลยแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบบหัวใจและทรวงอก รพ.กรุงเทพอุดร กล่าวถึงคนไข้เคสนี้ว่าคนไข้ลิ้นหัวใจรั่ว 3 ลิ้น ต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจ โดยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม 1 ลิ้น และซ่อมลิ้นหัวใจ 2 ลิ้น สาเหตุน่าจะเกิดจากการติดเชื้อโรคในหัวใจ ส่วนใหญ่มาจากการทำฟัน เช่น ฟันผุ แล้วเชื้อโรคเข้ากระแสโลหิต เติบโต และทำลายลิ้นหัวใจ แม้จะหายป่วย แต่ลิ้นหัวใจเสียหายไปแล้ว ลิ้นหัวใจมีรูรั่วประมาณ 1 ซม. อาการต่อไปคือ ตับวาย ไตทำงานแย่ เมื่อคนไข้มาถึงโรงพยาบาลเราต้องประคับประคองอาการ วันรุ่งขึ้นจึงผ่าตัดให้ หากช้ากว่านี้ 1-2 วัน อาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบหลายอย่างเริ่มเสื่อม เคสนี้หากไม่มีสิทธิ์บัตรทอง ค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 5-6 แสนบาท ซึ่งมารดาของคนไข้เตรียมขายไร่นาและทรัพย์สิน เพื่อนำมารักษาบุตรชาย
------------------------------
(คุยนอกกรอบ : งานอดิเรกของหมอผ่า (ตัด) หัวใจ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์)