ข่าว

เพลงลูกทุ่ง-เพลงลูกไทย

เพลงลูกทุ่ง-เพลงลูกไทย

18 ส.ค. 2557

เพลงลูกทุ่ง-เพลงลูกไทย : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ปะภัสสร เสวิกุล

               ในยุคที่ยังไม่มีการแบ่งเพลงไทยออกเป็นเพลงลูกกรุงกับเพลงลูกทุ่งนั้น มิตรรักนักเลงทั้งหลายก็ฟังเพลงต่างๆ ด้วยความรู้สึกว่าเป็น “เพลง” เหมือนๆ กัน นักร้องนักแต่งเพลงก็ร้องหรือแต่งเพลงไปตามสไตล์ของตน คนไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้นก็มีชีวิตอยู่กับท้องไร่ท้องนา ดังนั้นจึงมีเพลงที่สะท้อนภาพในชนบท หรือวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ค่อนข้างมากหน่อย - ชีวิตของคนไทยในชนบทสมัยนั้น ก็จะเป็นเรื่องของการประกอบอาชีพ เช่นทำไร่ไถนา ปัญหาและอุปสรรค เช่นน้ำท่วม ฝนแล้ง ความยากจน ความรักที่ไม่สมหวัง และลงท้ายด้วยการหันหน้าเข้าหาวัด หรือไม่ก็หันหลังให้กฎหมายบ้านเมือง กลายเป็นโจรผู้ร้าย

               การแบ่งเพลงลูกกรุงกับลูกทุ่ง เกิดขึ้นในชั้นหลัง เมื่อเมืองเริ่มเติบโตขึ้น และชนบทค่อยๆ เล็กลง เนื่องจากความเจริญทางวัตถุในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ คนจากท้องทุ่งเดินทางเข้ามาศึกษาเล่าเรียน และทำมาหากินในเมืองหลวงและเมืองอื่นๆ ภาพชีวิตและสังคมของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกับที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ และอยากจะทำงานในตัวเมือง ที่สะดวกสบาย และโก้เก๋กว่า

               อย่างไรก็ตาม เพลงลูกทุ่งได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองมาโดยตลอด จากที่เล่นเพลงลูกทุ่งแท้ๆ ก็ผสมผสานกับสตริง หมอลำ หรือใส่จังหวะสนุกสนาน และยังคงมีนักร้องนักแต่งเพลงใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเนื้อหาของเพลงจะเปลี่ยนจากกลิ่นโคลนสาบควาย เป็นสาวโรงงาน สาวออฟฟิศ เปลี่ยนจากขี่ควาย เป็นขี่มอเตอร์ไซค์ หรือขับรถเก๋ง และเปลี่ยนจากเสียงขลุ่ยเพรียกหากัน เป็นโทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนจากทรานซิสเตอร์เป็นเอ็มพี 3 แล้วก็ตาม แต่จิตวิญญาณของเพลงลูกทุ่งจากในสมัย “น้องนางบ้านนา” ของครูไพบูลย์ บุตรขัน ถึง “เทพธิดาผ้าซิ่น” ของครูชลธี ธารทอง แม้กระทั่ง “ทุ่งรวงทอง” ของ

               ครูชาลี อินทรวิจิตร ก็ยังคงอยู่ในใจของผู้ฟังเสมอมา

               เพลงลูกทุ่งที่ถูกคนบางกลุ่มมองว่า เชย หรือด้อยรสนิยมนั้น แท้จริงแล้วคือเพลงที่ขายดีและขายได้เรื่อยๆ มีคนที่นิยมชมชอบทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยตัวเป็นจำนวนมหาศาล และค่ายเพลงลูกทุ่งก็ยังเป็นธุรกิจที่ทำเงิน แม้ว่าจะต้องประสบกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ และซีดีเถื่อนอย่างมากก็ตาม

               เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่เข้าถึงอารมณ์ และจิตใจของผู้ฟัง เป็นเพลงร่วมสมัย เพราะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างทันเหตุการณ์ และสะท้อนทัศนคติและมุมมองของคนไทยส่วนใหญ่ต่อเรื่องราวเหล่านั้น และสำแดงความเป็นตัวตนของคนไทยทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม คตินิยม รวมทั้งการใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

               ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีกุศโลบายในการสร้างชาติ และรักษาวัฒนธรรมประการหนึ่ง ด้วยการประกวดนาฏดนตรีหรือลิเก การส่งเสริมการแต่งเพลงปลุกใจ และเพลงรำวง ฯลฯ ซึ่งในสมัยนี้ หากจะหยิบยืมแนวคิดดังกล่าวมาใช้ เช่น การประกวดเพลงลูกทุ่ง หมอลำ หรือศิลปะการแสดงพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมความสามัคคี และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนไทย ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำศิลปะมารับใช้ชาติและรับใช้สังคม และเป็นการรักษาเพลงลูกทุ่งไม่ให้แปรสภาพมากไปกว่านี้ หรือถูกกลืนหายไปกับกระแสของวัฒนธรรมต่างด้าว

               ตอนนี้ยังมีครูเพลงลูกทุ่งระดับเกจิ และนักร้องเพลงลูกทุ่งระดับปรมาจารย์ ที่ยังมีกำลังวังชาอยู่หลายคน น่าจะรีบๆ ทำโครงการนี้ ก่อนที่ไม้ใหญ่เหล่านี้จะร่วงโรยไปมากกว่านี้