ข่าว

ธุรกิจติดตาม-รับซื้อหนี้ เป็นเช่นไร...ในยามนี้

ธุรกิจติดตาม-รับซื้อหนี้ เป็นเช่นไร...ในยามนี้

14 ส.ค. 2557

สวัสดีเศรษฐกิจ : ธุรกิจติดตาม-รับซื้อหนี้ เป็นเช่นไร...ในยามนี้ : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร

 
                            ได้เห็นข่าวจากประธานชมรมติดตามหนี้ที่เป็นธรรมว่า ธุรกิจการติดตามหนี้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังนี้ คือ 1.สถาบันการเงินต่างๆ มีนโยบายขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย ออกมามากในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตและเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีลักษณะว่าบัญชีมียอดค้างชำระมานานถึง 2-3 ปี
 
                            2.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการคัดเลือกบริษัทที่มาติดตามหนี้หรือซื้อหนี้เสียออกไป เพราะผู้ซื้อต้องแบกเอาภาพลักษณ์ของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ขายหนี้นั้นออกมาด้วย 3.การขายหนี้ก็เพื่อเอาเงินทุนคืนกลับ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ หนี้เหล่านั้นก็ยิ่งเสื่อมค่าหรือหากจะติดตามหนี้เองก็จะต้นทุนดำเนินการสูงกว่าขายทิ้งออกไป 4.สถานการณ์ธุรกิจติดตามหนี้ในเวลานี้มีความต้องการพนักงานติดตามหนี้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ย 1 พนักงานจะดูแลบัญชีลูกหนี้ประมาณ 500 บัญชี และมีรายได้การติดตามหนี้ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อเดือน
 
                            ทำไมธุรกิจติดตามหนี้ ธุรกิจรับซื้อหนี้มาบริหาร จึงเติบโตค่อนข้างดี ต้องย้อนไปช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายมีความกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 จนถึงต้นปี 2556 เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติน้ำท่วม ทำให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวสูงต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
 
                            ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมคึกคักมาก จนเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ จึงมีการขอความร่วมมือสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ มีการออกมาส่งสัญญานเรื่องสินเชื่อ 0% ต่อมาในช่วงกลางปี 2556 เศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงและยังถูกกดดันจากปัญหาทางการเมืองที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่มีใครเชื่อมั่นเสถียรภาพของเศรษฐกิจ รายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจปรับตัวลดลง 
 
                            ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และเริ่มเห็นปัญหาหนี้เสียในสินเชื่ออุปโภคและบริโภคเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการก่อหนี้เกินตัวในช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกันภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ชะลอลงทั้งในส่วนของผู้ซื้อที่ธนาคารการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้นและผู้ประกอบการก็มีปัญหาเรื่องการรับรู้รายได้ การหาลูกค้าที่มีคุณภาพมาซื้อสินค้าในโครงการ 
 
                            ทำให้สถาบันการเงินหันมาจัดการเรื่องการบริหารลูกหนี้ที่อยู่ในมือมากขึ้น แบ่งกองลูกหนี้ออกมาอย่างชัดเจน กองไหนจะดูต่อ กองไหนจะให้คนอื่นตาม กองไหนจะขายทิ้งไป จึงเป็นที่มาของความรุ่งเรืองของธุรกิจติดตามหนี้ ธุรกิจรับซื้อหนี้มาบริหารในเวลานี้
 
 
 
 
 
------------------------------
 
(สวัสดีเศรษฐกิจ : ธุรกิจติดตาม-รับซื้อหนี้ เป็นเช่นไร...ในยามนี้ : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร)