
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านหนังสือทรงคุณค่า
29 ก.ค. 2557
ไลฟ์สไตล์ : เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านหนังสือทรงคุณค่า
ในโอกาสที่ปี พ.ศ.2557 เป็นปีครบรอบ 101 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสกุล "บุนนาค" ทางชมรมสายสกุลบุนนาค จึงได้จัดพิมพ์หนังสือ "ปฐมจุฬาราชมนตรี : จากเปอร์เซีย ถึงกรุงศรีอยุธยา" ของ พิทยา บุนนาค ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2557 เนื้อหาของหนังสือเป็นการย้อนรอยการเดินทางของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูลที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมากมายหลายสกุล รวมถึงสกุลบุนนาคด้วย โดยจัดงานเปิดตัว พร้อมแนะนำหนังสือ ที่ห้องบัคคาร่า โรงแรมตวันนา ถนนสุรวงศ์ วันก่อน
พิทยา บุนนาค ผู้เขียน เปิดเผยว่า หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2548 ครั้งนั้นได้รับความนิยมและจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้อีกหลายคนในสกุลบุนนาคไม่ได้หนังสือ จึงได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้อ่านง่ายขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นหนังสือวิชาการจะทำให้อ่านแล้วสนุกสนานคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่คาดว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่นนี้จบแล้ว ผู้อ่านจะได้ทราบถึงสถานการณ์บ้านเมือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ในระยะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 กระทั่งหลังได้อิสรภาพจากพม่า ฝรั่งและเปอร์เซียเริ่มเข้ามา ทุกอย่างจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด
ภายในงานยังเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) โดยจัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ยุคทองของชาวเปอร์เซีย ในสมัยอยุธยา" มีวิทยากรร่วมเสวนา เริ่มจาก อ.ภูธร ภูมะธน อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี บอกว่า สมัยอยุธยานักบวชชาวฝรั่งเศสที่ต้องการเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในแถบประเทศจีน มักใช้เส้นทางผ่านมายังสยาม ก่อนจะต่อเรือไปจีน ทำให้สยามกลายเป็นทางผ่านสำคัญ ซึ่งช่วงที่มีชาวต่างชาติเข้ามามากที่สุดจนถือว่าเป็นยุคทอง คงเป็นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศ นอกจากนี้ยังสนพระราชหฤทัยวิทยาการที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งปราสาทราชวังของราชสำนักใหญ่ๆ โดยมีการนำมาสร้างเลียนแบบในบ้านเรา ที่มีหลักฐานปรากฏชัดคือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ มีการจัดสวน การทำน้ำพุด้านหน้าตึก มีอ่างอาบน้ำ และห้องรับแขก ตามแบบเปอร์เซีย
ด้าน อ.ภัทรพงษ์ เก่าเงิน นักโบราณคดีจากกรมศิลปากร เล่าว่า การคมนาคมการสัญจรในเกาะเมืองอยุธยาส่วนใหญ่เป็นทางเรือ จึงมีการขุดคลองขึ้นจำนวนมาก เมื่อขุดคลองก็จะนำดินมาทำถนนข้างคลอง และเกิดสะพานข้ามคลอง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสะพานไม้แบบโค้ง และวิวัฒนาการเป็นสะพานอิฐในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา สะพานสำคัญๆ ก็อย่างสะพานเทษมี เป็นสะพานก่ออิฐเจาะเป็นช่องตรงกลางให้เรือรอดผ่านไปมาได้ตามแบบของเปอร์เซีย
ขณะที่ อ.เผ่าทอง ทองเจือ อธิบายเส้นทางการเดินทางของผ้าจากโลกตะวันตกสู่อยุธยาไว้อย่างน่าสนใจว่า ทางอิสลามตอนใต้ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไป เรียกผ้าที่มีการมัดหมี่ผสมว่า ผ้าจูวา หรือที่คนไทยเรียกว่า จวนตานี เป็นผ้าไหมมัดหมี่ ทอยกด้วยเส้นไหมกับเส้นเงินเส้นทอง ในราชสำนักภาคกลางสมัยอยุธยาผ้าจวนตานีเป็นผ้าบรรณาการที่ได้รับ ส่วนใหญ่สั่งทอจากเขมร ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย กษัตริย์จะให้เป็นบำเหน็จแก่ข้าราชการ ต่อมามีการเลียนแบบโดยลดทอนลายเพื่อง่ายต่อการสวมใส่ในท้องถิ่น ส่วนผ้าที่สอดด้วยเส้นโลหะเงินทองสันนิษฐานว่าไม่ใช่ผ้าพื้นบ้านของไทย แต่น่าจะมาจากเปอร์เซีย ส่วนใหญ่นิยมลายตารางกราฟ ลายเรขาคณิต หรือลายตาข่าย
เชื่อมโยงกับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์จากเปอร์เซีย ซึ่ง อ.ศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ ระดับชำนาญการ กรมศิลปากร บอกว่า ในสมัยอยุธยาไม่มีการค้นพบว่าเครื่องประดับอัญมณีและศิราภรณ์ของทั้งหญิงและชายมีการทำเหลี่ยมให้เกิดความแวววาว รวมถึงการถักเส้นทองเป็นผืนแล้วถักตัวลายทับบนเส้นทองอีกที ซึ่งเชื่อว่าน่าเป็นวิวัฒนาการมาจากอิหร่านและเปอร์เซีย