
คนโคราชเป็นไทยสยามภาคกลาง
เมืองนครราชสีมา ปรากฏชื่อครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาล มาจากคำว่า นคร+ราช+สีมา หมายถึง นครที่เป็นชายขอบของราชอาณาจักร (สยาม) แต่ชาวบ้านเรียกว่า ครราช (อ่านว่า คอน-ราด) แล้วเพี้ยนเป็น โคราช
กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดใน จ.นครราชสีมา เป็นกลุ่ม คนไทยโคราช ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ร่วมกับกลุ่มคนไทยสยามในภาคกลางและภาคตะวันออก
เรื่องนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้วิเคราะห์ไว้ใน คำนำเสนอของหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีว่า “...กรมหมื่นเทพพิพิธ รวบรวมผู้คนจากหัวเมืองชายทะเลตะวันออกมีจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี และนครนายกเป็นกำลังสำคัญให้ขึ้นไป “ตั้งหลัก” อยู่เมืองนครราชสีมาและเมืองพิมาย
ครั้นหลังกรุงแตกยังมี “ข้าเก่า” จากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่าขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมอีกมาก พวกนี้ไม่ใช่ลาวแต่เป็นไทยสยาม ภาคกลาง
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบ “ก๊กเจ้าพิมาย” แล้วก็ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนเหล่านี้ลงมากรุงธนบุรี พวกนี้ได้ปักหลักอยู่ที่นั่น แล้วกลายเป็นบรรพบุรุษกลุ่มใหญ่ของคนโคราชปัจจุบัน
คนพวกนี้ได้ผสมกลมกลืนกับคติท้องถิ่นที่มีมาแต่เดิม (ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์) แล้วเกิดประเพณีใหม่กลายเป็น “วัฒนธรรมโคราช” เช่น สำเนียงโคราชกระเดียดไปทางสำเนียงชายทะเลตะวันออกแถบระยอง จันทบุรี แม้ผู้คนแถบปราจีนบุรีและนครนายกเมื่อสัก 50 ปีมาแล้ว ก็พูดสำเนียง “คางยาน” ไม่ต่างจากสำเนียงโคราชมากนัก
เพลงโคราชมีฉันทลักษณ์และลีลาเดียวกับเพลงพาดควาย เพลงฉ่อย (ไม่ใช่ลำตัดที่เพิ่งเกิดในสมัย ร.5) นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่นๆ อีก เช่น กินข้าวเจ้า เคี้ยวหมาก ตัดผมเกรียน นุ่งโจงกระเบน และมีศิลปะสถาปัตยกรรมทำวัดวาอารามแบบอยุธยาภาคกลาง”
แม้คนโคราชส่วนใหญ่จะไม่ใช่ลาว แต่ไม่ได้หมายความว่ารังเกียจความเป็นลาว เพราะ ”ลาว” คือส่วนหนึ่งของบรรพบุรุษบรรพสตรีของ ”คนสยาม คนไทย” ที่เห็นกันอยู่ในประเทศไทยนี่เอง หากแต่การรู้ที่มาที่ไปกำพืดพื้นเพตัวแล้ว จะทำให้เข้าใจในวัฒนธรรมตนเอง และบอกกล่าวคนนอกที่ยังไม่รู้อีกนักต่อนัก
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"