
ลือ2จว.ใต้เลิกขายเคเอฟซี
06 ก.ค. 2557
ปธ.คณะกรรมการอิสลามปัตตานี จี้ร้านไก่ทอดมะกันชื่อดังขอรับรองอาหารฮาลาล สะพัดจ่อปิดสาขาในยะลา-ปัตตานี ด้านผู้บริหารเคเอฟซีปัดข่าวลือ เล็งทำความเข้าใจผู้บริโภค
กรณีมีกระแสข่าวว่า ร้านเคเอฟซี ไก่ทอดชื่อดังที่มีสาขาในปัตตานีและยะลาจะปิดตัวในเดือนกรกฎาคมนี้ ศูนย์ข่าวอิศรา ได้ติดตามข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อความกระจ่าง ซึ่งร้านเคเอฟซีใน จ.ปัตตานีมี 2 สาขาคือ สาขาห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และสาขาห้างไดอาน่า ส่วนใน จ.ยะลามี 1 สาขาที่ ห้างโคลีเซี่ยม ยะลา ส่วนใน จ.นราธิวาส ไม่มีการเปิดสาขา
ทั้งนี้ กระแสการตอบรับของประชาชนในพื้นที่ต่อการใช้บริการของร้านไก่ชื่อดังมีอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะสาขาบิ๊กซี ปัตตานี มีลูกค้ามุสลิมและศาสนิกอื่นมาใช้บริการกันหนาตาทุกวัน ด้วยพนักงานในร้านเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิมในพื้นที่ สวมฮิญาบให้บริการ ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ยิ่งในวันหยุดหรือเทศกาลต่างๆ ลูกค้าจะล้นร้านไม่มีที่นั่ง จนกระแสเรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลมีมากขึ้น เนื่องจากร้านเคเอฟซีใน จ.ภูเก็ต ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต แต่ในชายแดนใต้กลับไม่มีเครื่องหมายนี้แสดงไว้หน้าร้านเพื่อความสบายใจของลูกค้า จนเกิดกระแสเรื่องการปิดสาขาร้านในพื้นที่
นายอัซมี เบญจมันต์ ผู้ช่วยผู้จัดการร้านเคเอฟซี สาขาห้างไดอาน่า ชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี บอกว่า เคเอฟซีสาขาห้างไดอาน่า เปิดเป็นสาขาแรกในชายแดนใต้ เปิดบริการมาเป็นปีที่ 12 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ผลประกอบการน่าพอใจ สร้างงานให้คนในพื้นที่ได้สิบกว่าคน หากเมื่อถึงเวลาที่จะต้องปิดตัวในไม่ช้านี้ เขาบอกว่ามาจากหลายสาเหตุ โดยหลักใหญ่คือเรื่องราวของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
“สาขานี้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ ครั้งแรกเมื่อปี 2547 ที่มีระเบิดหน้าร้านพิธานพาณิชย์ที่อยู่ติดกัน และเมื่อปีที่แล้วที่มีระเบิดหน้าห้างไดอาน่ากับโชว์รูมโตโยต้า แต่เคเอฟซีเสียหายน้อย ซึ่งทางสาขาใหญ่จะให้ปิดตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้ว แต่ทางเราขอกับผู้จัดการภาคว่าขอให้เปิดต่อ ซึ่งก็มีเหตุการณ์มาตลอดในพื้นที่ ประกอบกับเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งเกิดเหตุระเบิดใหญ่ในปัตตานี 20 กว่าจุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ส่วนในร้านเคเอฟซีมีน้องพนักงานติดอยู่ในร้านด้วย ทางสำนักงานเรียกไปประชุมที่นครศรีธรรมราชเพราะเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่หนักขึ้น จะไม่รอให้เหตุร้ายเกิดขึ้นกับทุกสาขา เราก็เริ่มตัดสินใจว่าคงไปต่อไม่ไหวเหมือนกัน เขาแจ้งล่วงหน้ามา 1 เดือน โดยมีกำหนดปิดในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ พนักงานคนไหนที่จะทำงานต่อให้ย้ายไปทำงานที่ห้างโลตัส จะนะ และสาขาสงขลา แต่น้องจากสาขาห้างไดอาน่าไม่มีใครย้ายไปเพราะมีครอบครัวอยู่ที่นี่ ส่วนทางสาขาบิ๊กซีมีย้ายไป 4-5 คน"
นายอัซมี บอกว่า ในสาขาห้างไดอาน่ามีผู้จัดการและพนักงานร้านรวม 17 คน ทุกคนเป็นคนในพื้นที่ เมื่อทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ทุกคนก็กังวลเรื่องอนาคต ต้องตั้งสติรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและหาหนทางใหม่ในเรื่องอาชีพ หากทุกคนได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน
“วันก่อนปอซอ(ก่อนถือศีลอด) วันรายอ(วันตรุษอีดิ้ลฟิตรี-หมดเดือนถือศีลอด) ลูกค้าจะมาเยอะมากจนบริการกันไม่ทัน แต่ปีนี้คงไม่มีบรรยากาศนั้นแล้วเพราะปิดกลางเดือนนี้ ซึ่งรายได้ของสาขานี้โอเค สถานการณ์ไม่ได้ทำให้ลูกค้าลดลง ลูกค้าศาสนิกอื่นก็มาใช้บริการตามปกติ”
ในเรื่องของการขอเครื่องหมายรับรองฮาลาลเพื่อความถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามและความสบายใจในการรับประทานของชาวไทยมุสลิม นายอัซมี บอกว่า สำนักงานใหญ่ไม่บอกเหตุผลในเรื่องนี้ ส่วนในสาขาที่เขาดูแลอยู่มั่นใจในกระบวนการปฏิบัติทุกอย่างว่าฮาลาลจากฝีมือของมุสลิม หากในส่วนผสมและวัตถุดิบที่ส่งมาจากสำนักงานใหญ่ เขาบอกว่า ไม่รู้
“จริงๆ อยากได้เครื่องหมายรับรองฮาลาลที่ออกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมาติดหน้าร้าน เป็นเครื่องหมายการันตีว่าฮาลาลจริงในทุกขั้นตอน เพราะหลังจากสาขาที่ภูเก็ตมีปัญหาจากการออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ตให้แก่เคเอฟซีในภูเก็ตก็เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งในความเป็นจริงกิจการที่มีหลายสาขา ทางสำนักงานใหญ่ต้องขออนุญาตและได้เครื่องหมายรับรองฮาลาลก่อน ทุกสาขาจึงสามารถใช้เครื่องหมายนี้ได้ด้วย ลูกค้าเห็นก็จะได้สบายใจ” นายอัซมี กล่าว และพูดทิ้งท้ายว่า เคเอฟซีชายแดนใต้อาจกลับมาเปิดอีกครั้ง หากเหตุการณ์ในพื้นที่สงบเป็นพื้นที่สีเขียว
ด้าน นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า หากทำตามขั้นตอนของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการขอเครื่องหมายรับรองฮาลาลก็คงไม่มีปัญหาเช่นนี้ ในเมื่อก็รู้ว่าลูกค้ามุสลิมต้องบริโภคอาหารฮาลาล ที่วัตถุดิบและส่วนผสมจะต้องฮาลาลถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม แสดงว่าก็ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความถูกต้องนี้ หากแต่ยังเปิดบริการในทุกพื้นที่ ยิ่งพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีชาวไทยมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ยิ่งต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ ซึ่งขายมาได้เป็นสิบปีแต่ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงเรื่องนี้เลย เราต้านได้โดยใช้หลักการอิสลาม ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้
“ข้อมูล ณ ปัจจุบันคือ ไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลจากทางคณะกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดของปัตตานีและยะลาก็ไม่ออกให้อยู่แล้ว เพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ให้เกิดความสงสัยและสับสน โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการละศีลอดกับอาหารที่ฮาลาลจริงๆ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุผลแท้จริงของการเตรียมปิด 3 สาขาของเคเอฟซีในชายแดนใต้จะเป็นด้วยเรื่องใดก็ตามแต่ ขณะนี้มีทางเลือกใหม่ของไก่ทอดสไตล์เคเอฟซีโดยมุสลิมในพื้นที่เกิดขึ้นแล้ว ใจกลางเมืองปัตตานี และได้รับความนิยมอย่างมาก
ขณะที่ นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประจำประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปิดร้านเคเอฟซี ที่ตั้งอยู่ในสาขา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด และให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันมีจำนวนร้านเคเอฟซี 3 สาขา ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา และจ.ปัตตานี
“ตอนนี้ บริษัทยังไม่ได้ขอรับรองฮาลาลทั่วประเทศ แต่บริษัทมีนโยบายยื่นเรื่องขอรับรองเฉพาะสาขาในพื้นที่ที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบัน สาขาในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับการรับรองฮาลาลอยู่แล้ว”
นางแววคนีย์ กล่าวอีกว่า ส่วนผสมที่ใช้ในการปรุงเมนูอาหาร ถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นมุสลิม และทางเคเอฟซีก็ไม่ได้มีการจำหน่ายเมนูที่เป็นเนื้อหมู ส่วนแนวทางการสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคในเบื้องต้น จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมหลักในเมนูอาหารของทางร้าน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาล
ทั้งนี้ การชี้แจงดังกล่าวเป็นผลมาจากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ร้านเคเอฟซี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปิดสาขาลง เพราะบริษัทไม่ได้ขอการรับรองฮาลาล