
คลอดลูกแฝด5ผสมเทียมครั้งแรกเมืองอุดร
หมอ.รพ.เอกชนผสมเทียมคลอดลูกแฝด 5ครั้งแรกของอุดรธานี พ่อแม่ของเด็กเป็นนักธุรกิจชาวลาว
เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 25 มิถุนายน ที่โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร ในเครือ รพ.กรุงเทพ เทศบาลนครอุดรธานี พล.ท.นพ.ธวัชชัย ศศิประภา ผอ.โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร พ.อ.นพ.อภิรัตน์ ทรัพย์ทองคำ ผช.ผอ.โรงพยาบาล และ ผศ.นพ.พิชัย โชตินพรัตนภัทร สูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญการมีบุตรยาก รพ.กรุงเทพอุดร ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จ "การผสมเทียม" แม่ที่มีบุตรยาก และได้บุตรแฝด 5 ครั้งแรกของโรงพยาบาล และครั้งแรกของ จ.อุดรธานี
พล.ท.นพ.ธวัชชัย ศศิประภา ผอ.โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเจริญพันธ์ ในเรื่องการมีบุตรยาก ทำให้อัตราการตั้งครรภ์แฝดสูงขึ้น จากสถิติทั่วไปในการตั้งครรภ์แฝด 5 ตามธรรมชาติ มีอัตราการพบที่ 1 ต่อ 48 ล้าน และมีอัตราคลอดก่อนกำหนดสูงถึง 91 เปอร์เซนต์ รพ.กรุงเทพอุดร ได้ประสบความสำเร็จทำให้ผู้ตั้งครรภ์ ตลอดจนการผ่าตัดคลอดแฝด 5 รายนี้ การผ่าตัดใช้เวลา 40 นาที
"พ่อแม่ของเด็กเป็นนักธุรกิจ ชาว สปป.ลาว อายุ 37 และ 33 ปี ไม่ประสงค์จะให้เปิดเผยชื่อ เคยมีบุตรคนแรกมาแล้ว 1 คนเป็นหญิง ตลอดเวลากว่า 7 ปีพยายามมีบุตรอีก จนได้บุตรครั้งนี้เป็นแฝด 5 เป็นชาย 2 หญิง 3 คนแรกเพศชาย น้ำหนัก 1,810 กรัม เกิดเวลา 14.37 น. , คนที่สองเพศหญิง น้ำหนัก 1,820 กรัม เกิดเวลา 14.38 น. , คนที่สามเพศชาย น้ำหนัก 1,620 กรัม เกิดเวลา 14.39 น. , คนที่สี่เพศหญิง น้ำหนัก 1,650 กรัม เกิดเวลา 14.40 น. และคนที่ห้าเพศหญิง น้ำหนัก 1,140 กรัม เกิดเวลา 14.41 น. "พล.ท.นพ.ธวัชชัยกล่าว
ผอ.โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร เปิดเผยว่า ความสำเร็จครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่ ผศ.นพ.พิชัย ฯ , ทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร , ทีมแพทย์ พยาบาล รพ.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม , ทีมแพทย์ พยาบาล รพ.กรุงเทพ และศูนย์ซูพีเรีย เออาร์ที.อุดรธานี หรือศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก หลังการผ่าตัดคลอดแฝด 5 มารดาและเด็กปลอดภัย อยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ พยาบาลอย่างใกล้ชิด มารดาและทารก 4 คน จะออกจาก รพ.ได้ภายใน 1สัปดาห์ มีทารกน้ำหนักเบาเพียง 1 คน จะอยู่ในความดูแลของแพทย์ 2-3 สัปดาห์
ผศ.นพ.พิชัย เปิดเผยว่า พ่อแม่เด็กต้องการมีลูกเพิ่มอีก หลังจากรอมานานกว่า 7 ปี ได้ขอรับคำปรึกษามาหลายแห่ง จนมาปรึกษาที่ ศูนย์ซูพีเรีย เออาร์ที.อุดรธานี ได้ส่งต่อมาที่ รพ.กรุงเทพอุดร เมื่อตรวจสอบประวัติ และตรวจร่างกาย ก็ได้เลือกที่จะใช้วิธี "ผสมเทียม" หรือ "IUI" ด้วยการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก เมื่อฉีดครั้งแรกไข่ก็ตกทันที ตรวจพบมีมากถึง 5 ฟอง ได้แจ้งให้พ่อแม่ทราบว่า โอกาสจะเป็นแฝดมากถึง 5 คน พ่อแม่ตัดสินใจก็ฉีดเชื้อพ่อเข้าไป จนอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ก็ตัดสินใจผ่าคลอด
“การผสมเทียมสำเร็จได้ในครั้งแรก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก คือยาฉีดกระตุ้นไข่ตกครั้งละ 20,000-25,000บาท ค่าดูแลครรภ์เดือนละ 3-4,000 บาท ส่วนค่าคลอดยังไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งพ่อแม่เด็กรับได้ ขณะที่บางรายอาจจะต้องทำหลายครั้ง หากทำวิธีผสมเทียมไม่เป็นผล ก็จะทำด้วยวิธี กิ๊บ คือเอาไข่ และสเปิร์ม มาผสมภายนอก แล้วเอาไปฝากไว้ในรังไข่ และวิธีหลอดแก้ว ซึ่งก็จะซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งที่ รพ.มีผู้มีบุตรยากมารักคำปรึกษาปีละ 200-300 ราย” ผศ.นพ.พิชัย กล่าว