ข่าว

เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด'อาร์เอส'ชนะคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด'อาร์เอส'ชนะคดีลิขสิทธิ์บอลโลก

                ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนให้ บริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) ในเครือของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ชนะคดีไม่ต้องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 จำนวน 64 แมทช์ทางฟรีทีวีตามกฎมัสต์แฮฟของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

                เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว "คม ชัด ลึก" ได้นำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอย่างละเอียดมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงแนวทางการพิจารณาคดีในเรื่องดังกล่าวดังนี้ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวนคดีถ่ายทอดสดลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 2014 และองค์คณะ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนข้อ 3 ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 และการกำหนดประเภทรายการลำดับที่ 7 ในภาคผนวก (Must Have -มัสต์แฮฟ) ที่กำหนดให้รายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะต้องให้บริการเป็นรายการทั่วไป เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นส่วนเฉพาะในส่วนที่มีผลกระทบต่อสิทธิของ บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) ที่ได้รับอนุญาตจากสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ให้เป็นผู้เผยแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี  ค.ศ. 2014 แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เนื่องจากการออกประกาศดังกล่าวของ กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีผลบังคับใช้ยอนหลัง ตั้งแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 แต่ให้ประกาศ กสทช.ดังกล่าว ยังมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปกรณีอื่นได้อยู่  
 
                ตามฟ้องระบุว่า บริษัท อาร์เอสบีเอส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่มีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 4 ช่องได้ทำสัญญากับสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า ) ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2548 ได้รับสิทธิในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี ค.ศ. 2010 และ 2014  ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการ กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2  ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 762/2556 เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยบริษัท อาร์เอสบีเอส ผู้ฟ้อง ต้องชำระเงินค่าตอบแทนจำนวนมหาศาล ในการได้รับสิทธิจากฟีฟ่า ให้เป็นผู้เผยแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี ค.ศ. 2010 และ 2014 แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2555

                อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น ผู้ฟ้องได้มีหนังสือลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ถึงผู้ถูกฟ้องว่าในข้อ 3 ของประกาศดังกล่าว บังคับให้ผู้ประกอบการต้องซื้อเวลาในการถ่ายทอดออกอากาศด้วย ทั้งที่ผู้ประกอบการได้ซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้อง และมิใช่เป็นรายการที่เป็นลิขสิทธิ์ของรัฐ ซึ่งเป็นการกระทบสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตและไม่เคารพต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นข้อกำหนดที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องและผู้ประกอบการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ และรายการที่กำหนดไว้ในภาคผนวกดังกล่าวไม่ใช่รายการที่เป็นลิขสิทธิ์ของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการกระทบสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตและไม่เคารพต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยผู้ฟ้องเสนอให้ตัดกำหนดข้อ 3 ดังกล่าวออก เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ  เพราะผู้ฟ้องได้รับลิขสิทธิ์ก่อนที่จะมีการประกาศบังคับใช้ดังกล่าวอย่างถูกต้องในการเผยแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องทุกประการจากฟีฟ่า ประกาศดังกล่าวถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบกอบกิจการซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งหากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการตามสัญญาในการเผยแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันอาจถูกฟีฟ่าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาล โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกเลิกประกาศดังกล่าว
 
                ขณะที่ศาลปกครองชั้นต้น ได้มีพิพากษา ให้เพิกถอนข้อ 3 และรายการลำดับที่ 7 ในภาคผนวกดังกล่าว แต่ต่อมา กสทช. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นเพียงผู้ได้รับลิขสิทธิ์ไม่ใช่ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์

                ศาลปกครองสูงสุด ได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริง ประกอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้อง มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าประกาศ กสทช. ของผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีลักษณะเป็นกฎ จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดหรือขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี ค.ศ.2014 ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน-13 กรกฎาคม 2557 จากสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ผู้ฟ้องคดีจึงย่อมสามารถนำรายการที่ได้รับสิทธิไปเผยแพร่ได้ในหลายช่องทางที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้ประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจเผยแพร่ในกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
 
                ส่วนประกาศ กสทช.ข้อ 3 และรายการลำดับที่ 7 ในภาคผนวกของประกาศนั้น เป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง (6) แล้ว กสทช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีอำนาจออกประกาศได้ โดยเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย และประกาศดังกล่าวดำเนินการที่ไม่เกินกว่าความจำเป็นและไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิของผู้ฟ้อง นอกจากนี้การออกประกาศดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าประกาศนั้นขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

                ขณะที่ผู้ฟ้องมีสิทธิเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชนได้แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย แต่ประกาศ กสทช. ดังกล่าว ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวแต่อย่างใด แต่หากวิธีการหรือช่องทางการเผยแพร่ดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายใดควบคุม ผู้ฟ้องก็ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ และพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยประกาศนั้น ไม่ได้ห้ามผู้ฟ้องแสวงหาผลประโยชน์หรือเผยแพร่ทางโทรทัศน์ทั้งหมดแต่อย่างใด จึงไม่ใช่กรณีที่ประกาศนั้นจะขัดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 วรรค 1 (2) อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ถูกฟ้องฟังขึ้น

                คดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า ประกาศนั้นเป็นกฎที่ออกด้วยดุลพินิจโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า บริษัทอาร์เอสบีเอส ผู้ฟ้อง ได้แสดงความเห็นคัดค้าน กับ กสทช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 แล้ว ในระหว่างที่มีการพิจารณาเพื่อจะออกประกาศดังกล่าว ซึ่งการใช้อำนาจของกสทช.ในการออกประกาศนั้น จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อบริษัทอาร์เอสบีเอสผู้ฟ้อง ที่มีสิทธิอยู่ก่อนการออกประกาศนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทอาร์เอสบีเอสผู้ฟ้องมีสิทธิหาประโยชน์ในทางพาณิชย์จากการเผยแพร่รายการดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่เป็นบริการโทรทัศน์ซึ่งไม่ใช้คลื่นความถี่ ที่เป็นกิจการในเครือเดียวกับกิจการของบริษัทอาร์เอสบีเอส ได้ ดังนั้น กสทช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงสมควรต้องกำหนดบทเฉพาะกาล หรือกำหนดมาตรการชดเชย หรือบรรเทาความเสียหายให้แก่บริษัทอาร์เอสบีเอส ที่มีสิทธิเดิมอยู่ด้วย ซึ่งการกำหนดมาตรการชดเชยหรือบรรเทาความเสียหายนี้ ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ มาตรา 36 วรรค 2 มีบทบัญญัติที่ให้กสทช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ใช้เป็นฐานอำนาจในการออกประกาศนั้น อาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุน หรือสนับสนุน หรือส่งเสริมด้วยวิธีการอื่น เพื่อเป็นกาชดเชยต่อผู้รับใบอนุญาตที่ได้ดำเนินการ โดยกสทช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 สามารถใช้บทบัญญัตินั้น เป็นแนวทางในการพิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทอาร์เอสบีเอสผู้ฟ้องได้ก่อนการออกประกาศพิพาทดังกล่าว
 
                ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่รายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ทางโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ (ฟรีทีวี) ทำให้ประชาชนได้รับชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. 2010 บริษัทอาร์เอสบีเอสผู้ฟ้อง ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เผยแพร่การแข่งขันทางโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่นั้น ก็ย่อมเป็นไปตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์นั้นพิจารณา ซึ่งแนวทางการรับชมดังกล่าวไม่ใช่สิทธิที่มีกฎหมายรับรองให้ดำรงอยู่โดยไม่อาจลบล้างได้ ดังนั้น กสทช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 นำข้อกำหนดข้อ 3 ประกอบกับ รายการลำดับที่ 7 ของภาคผนวก ในประกาศกสทช.บังคับใช้เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ได้เฉพาะในรายการโทรทัศน์ทั่วไป พ.ศ. 2555  ที่กำหนดให้รายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นรายการที่สามารถให้บริการกับประชาชนได้ภายใต้การบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปเท่านั้น มาบังคับใช้กับบริษัทอาร์เอสบีเอส ที่ได้รับลิขสิทธิ์ จึงไม่เป็นธรรมกับบริษัทอาร์เอสบีเอส เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่อาจนำประกาศดังกล่าวมาบังคับกับบริษัทอาร์เอสบีเอสผู้ฟ้องได้

                ดังนั้นที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ เพิกถอนข้อ 3 ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรายการลำดับที่ 7 ในภาคผนวก โดยมีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอน เพิกถอนข้อ 3 ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรายการลำดับที่ 7 ในภาคผนวก ตามประกาศของกสทช. เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 โดยกำหนดเงื่อนไงให้การเพิกถอนนั้นเฉพาะกับบริษัทอาร์เอสบีเอสผู้ฟ้องในการเผยแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปีค.ศ. 2014 เท่านั้น นับตั้งแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 และยังให้ประกาศ กสทช.ดังกล่าว ยังมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับกรณีอื่นอยู่เช่นเดิม
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ