ข่าว

โมเดลศูนย์ปรองดองแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่างสู่สันติ

โมเดลศูนย์ปรองดองแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่างสู่สันติ

31 พ.ค. 2557

ผุดโมเดลศูนย์ปรองดองฯ2มิ.ย. แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่างสู่สันติ : รายงาน

               เป็นที่จับตามองอย่างมากว่า แนวทางของ "ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป" หรือ ศปป. ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีรูปแบบการดำเนินการอย่างไร?

               ที่สำคัญจะสามารถแก้ไขความขัดแย้ง หรือ "สลายสีเสื้อ" ได้หรือไม่ เนื่องเพราะความขัดแย้งในสังคมการเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 10 ปีได้ฝังรากลึกไปจนถึงระดับครอบครัวแล้ว

               ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการสร้างความปรองดองดังกล่าวของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ต้องการสลายความคิดที่ขัดแย้งที่มีอยู่เดิมที่ลงลึกไปจนถึงระดับครอบครัว เพื่อให้คนที่มีความคิดแตกต่างกันสุดขั้วสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

               แต่ก็ต้องยอมรับถึงความพยายามของทหารที่ก้าวเท้าเข้ามาสร้างความมั่นคงในประเด็นนี้ในยามที่บ้านเมืองเข้มข้นชนิดหน้าสิ่วหน้าขวานในสังคมไทยขณะนี้

               "โครงสร้างของ ศปป. จะใช้โครงสร้างเดิมของ กอ.รมน.ทุกจังหวัด เนื่องจาก กอ.รมน.ทั้ง 77 จังหวัดรู้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองดี และปัญหาในแต่ละจังหวัดมีไม่เหมือนกัน โดยมีภารกิจ คือ การเร่งเข้าไปทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่"  พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขยายความถึงแนวคิดของหัวหน้า คสช.ให้ฟัง
 
               ส่วนขั้นตอนของการดำเนินงานนั้น โฆษก กอ.รมน.ย้ำว่า จะทำตั้งแต่ระดับล่างสุดในระดับชุมชน ระดับหมู่บ้าน ในลักษณะกลุ่มย่อย และไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นกลุ่มรุนแรง กลุ่มรุนแรงน้อย หรือพื้นที่สีแดง สีเขียว

               ด้วยเห็นผลที่ว่า ศปป.ไม่เคยคิดว่าจะมีการแบ่งแยก!
 
               โรดแม็พของ คสช.ที่ได้วางไว้ใน 3 ขั้นตอน ได้ขับเคลื่อนไปแล้ว เริ่มจากการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ต่อไปคือการทำเรื่องความสมานฉันท์ สามัคคี การปฏิรูป และสุดท้ายต่อด้วยการเลือกตั้ง

               แต่สิ่งที่ต้องการโฟกัสในขณะนี้ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ และ หยุดพักเรื่องเก่าไว้ก่อน เมื่อเรียนรู้ร่วมกันอย่างสันติแล้ว ความสัมพันธ์ และเครือข่ายที่มีอยู่จะเกิดเรื่องดีๆ ต่อไปได้

               สาเหตุจากคนเราต้องอยู่ในสังคมเดียวกัน ที่ทำงานเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรหากยังมีแนวคิดแตกแยกอยู่ แต่เราไม่ได้หวัง 100 เปอร์เซ็นต์ เอาแค่ประคับประคองให้อยู่ร่วมกันให้ได้ อะไรที่เป็นจุดต่างก็เว้นเอาไว้ สงวนเอาไว้ในเรื่องที่มีความเห็นร่วมกัน หรือแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง

               "ถ้าสิ่งนี้ (ความปรองดอง) ไปไม่ได้ อย่างอื่นก็ไปไม่ได้ ถ้ายังเห็นแตกแยกกันอยู่ก็จะเกิดเหตุการณ์ใต้ดิน เกิดการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นมา ขณะนี้ความไม่สงบได้หยุดชะงัก แต่จะชั่วคราวหรือยั่งยืนยังไม่รู้...

               ...แต่พื้นฐานสำคัญคือการแก้ปัญหาทางความคิดความเชื่อ ซึ่งยังไม่ต้องไปเปลี่ยนความคิดความเชื่อ แต่ขอให้แสดงท่าทีในการอยู่ร่วมกัน อย่างเช่นแกนนำหลายคนที่ถูกปล่อยตัวมาแล้ว ก็แสดงท่าทีว่าจะหยุดกิจกรรม บางคนก็ลาออกจากพรรคการเมือง บางคนก็เห็นชอบว่าประเทศควรจะเดินหน้าแต่หลายคนก็ยังไม่แสดงท่าทีแบบนี้ ยังมาถามเรื่องการนิรโทษกรรม หรือเรื่องอดีตต่างๆ ซึ่งเรื่องอดีตจะต้องถูกดำเนินคดีไปตามกฎหมาย ส่วนปัจจุบันเราจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้"

               ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมาหลายปี ส่งผลให้โฆษก กอ.รมน. ต้องรีบเดินหน้าความปรองดองสมานฉันท์ แต่พื้นที่ต่างๆ ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่จะต้องใช้เวลากว่าจะปรับทัศนคติได้ แต่บางพื้นที่มีความพร้อม ทั้งนี้ ไม่หนักใจในพื้นที่ภาคเหนือ-ภาคอีสาน ที่มีกลุ่มเห็นต่างเป็นจำนวนมาก

               "ที่หนักใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเรื่องย้อนหลังไปหลายร้อยปี ซึ่งเราก็พยายามแก้ไขปัญหามานานแล้ว"

               ส่วนเรื่องการ "ปฏิรูป" นั้น เขาอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ ท่านได้ให้แนวทางอย่างเดียว คือ ต้องทำให้ได้ เพราะหากทำไม่ได้แล้วบ้านเมืองจะเดินหน้าอย่างไร หรือจะปฏิรูปบ้านเมืองอย่างไร ถ้าคนยังขัดแย้งกันแบบสุดขั้ว

               ดังนั้น จะต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความพร้อม หากนำเรื่องของความขัดแย้ง ความต้องการ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่มีมาอยู่เดิมก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม มาเถียงกันก็จะไม่รู้จบ

               "อยากจะให้หยุด และพักเรื่องอุดมการณ์การเมืองไว้ก่อน ยืนยันว่าเราเคารพความคิดเห็นอยู่แล้ว เพราะทุกคนมีเหตุมีผลของตัวเอง และมีความเชื่อในอุดมการณ์ของตัวเอง อยากให้หยุดตรงนั้นก่อน และเริ่มมาคิดถึงการอยู่ร่วมกันก่อน และนำไปสู่การปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปก็จะต้องได้รับการยอมรับจากทุกพวกทุกฝ่าย จะได้เดินหน้าประเทศไทยต่อไปได้"

               สำหรับรูปแบบ และแผนผังโครงสร้าง ศปป. แต่ละพื้นที่ในขณะนี้ได้มีเอกสารออกมาแล้วเป็นระดับศปป.ของ กอ.รมน. ภาค 1-4 โดยจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อนำเสนอให้เป็นแนวทางร่วมกันในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ คาดว่าจะเป็นรูปร่าง หากในพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ก็จะเริ่มดำเนินการทันที

               อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการเปิดเผยรูปแบบ และโครงสร้างของ ศปป. อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน ทางกองทัพได้ขับเคลื่อน "โมเดลปรองดอง" เป็นแห่งแรกขึ้นที่หน้าหมู่บ้านเฟริสโฮม ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีวิทยุเรดการ์ด (โกตี๋) ต.คูคต จ.ปทุมธานี ในเวลา 10.00-11.30 น. วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม นี้

               ทั้งนี้ พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จะเป็นประธานจัดกิจกรรม คสช.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ พร้อมกำลังพลกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ (ป.2.รอ.) เเละกองพันทหารม้าที่ 30 (ม.พัน.30) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในพื้นที่และทหาร

               มีการจัดกิจกรรมกระชับสัมพันธ์ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เช่น ดนตรีเทิดทูนสถาบัน, ตัดผม, บริการทางการเเพทย์, อาหารว่าง, น้ำดื่ม พร้อมนำหน่วยงานอื่นเข้าร่วม เช่น สถานีตำรวจภูธรคูคต เทศบาลคูคด โรงพยาบาล เป็นต้น

               ต้องติดตามว่า โมเดลปรองดองสมานฉันท์ของ คสช. จะสามารถนำไปสู่ "ผลลัพธ์" คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความคิดเห็นที่แตกต่างสมดังเจตนารมณ์ของหัวหน้า คสช. ได้หรือไม่?

.................................

(หมายเหตุ : ผุดโมเดลศูนย์ปรองดองฯ2มิ.ย.  แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่างสู่สันติ : รายงาน)