
ปลูกไม้วันเดียวโตที่ชะอม
18 พ.ค. 2557
คุยนอกกรอบ : ปลูกไม้วันเดียวโตที่ชะอม : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์
ใครที่มีโอกาสผ่านไป ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จะเห็นว่าสองฟากของถนนมีแต่แผงต้นไม้และต้นไม้ ที่แปลกตากว่าแผงอื่นคือ มีต้นไม้ไซส์ใหญ่ยักษ์อยู่ด้วย ทั้งหมดนี้มีไว้ขาย
เพราะตำบลนี้มีชื่อเสียงด้านไม้ขุดล้อม
"ไม้ขุดล้อม" คือคำเรียกการขุดและล้อมต้นไม้ เพื่อย้ายจากที่หนึ่งไปปลูกไว้อีกที่หนึ่ง ซึ่งคนทำงานด้านนี้จะมีเทคนิคในการย้ายต้นไม้ ไม่ให้เสียหาย สามารถนำไปปลูกต่อที่อื่นได้
ปี 2527 ชาวบ้านยังชีพด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง เริ่มหันมาทำอาชีพขุดไม้ล้อม โดยการสนับสนุนของ มีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมโครงการรักชนบท ที่ดึงภาคเอกชนเข้ามาส่งเสริมในระยะแรก ให้ทุนกู้ยืมและรับซื้อไม้ดังกล่าวไปปลูกใว้ในโครงการของบริษัท
โดยทางสมาคมโครงการรักชนบทได้รับการประสานงานจากบริษัท สวีเดน มอเตอร์ส (บริษัทในเครือรถยนต์วอลโว่) ผ่านบริษัทย่อย บริษัท มีโร่ แอนด์ไรมอนด์แลนด์ มาอบรมเรื่องการทำไม้ขุดล้อม พร้อมให้กู้ยืมเงินทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยแนะนำถึงขั้นตอนการปลูก วิธีการรักษา และเทคนิควิธีการขุดล้อม เมื่อได้ผลผลิตออกมาบริษัทรับซื้อทั้งหมด เมื่อชาวบ้านเห็นว่ามีรายได้ดีกว่าการทำไร่มันสำปะหลังและไร่ข้าวโพด จึงเปลี่ยนมาทำอาชีพปลูกไม้ขุดล้อมแทน ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกไม้ขุดล้อมถึง 5,000 ไร่ ใน 11 หมู่บ้าน
สายบัว พาศักดิ์ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ลุงบัว" เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นแรกเล่าว่า ครั้งแรกวอลโว่ให้เงินไร่ละ 4,000 บาท เป็นสิทธิในการรับต้นกล้าเพื่อเข้ามาปลูก อาทิ ไม้โตเร็ว ไม้ประดับทั่วไป พื้นที่ 5,000 ไร่ของชุมชนจึงเปลี่ยนเป็นการทำไม้ขุดล้อม ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ไม้ อาทิ อินทนิล ตะแบก ราชพฤกษ์ นนทรี พญาสัตบรรณ คูน ประดู่ หางนกยูง
"ผมเป็นลูกชาวนา จบ ป.4 แต่ใฝ่เรียนรู้ ล่าสุดเจ๊งเรื่องฟาร์มโคนม...มาฟื้นตัวตอนที่ท่านมีชัยสอนเรื่องนี้ เราก็ทำจริงจัง แล้วก็มาล้มตอนที่ 2 บริษัทนี้ได้สัมปทาน ผมไปบอกให้เขายกเลิกเราจะทำตลาดกันเอง ท่านมีชัยส่งคนมานั่งคุยแล้วบอกให้ลุงสายบัวดูแลต่อ ผมก็บอกท่านว่าจะเปิดร้านรับซื้อเลย เพราะผมเพาะชำเป็น...ผมทำหลังคามุงแฝก ซื้อปุ๋ย ซื้อยา มาหัดเลี้ยงแบบชาวบ้านเลี้ยง เป็นแห่งแรกของที่บ้านชะอมเมื่อปี 2536"
ระหว่างนั้นมีปัญหาบางประการ ชาวบ้านขายไม่ได้และจะเผาต้นไม้ทิ้ง
โชคดีที่ "ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์" ให้ทุนสนับสนุน 2 ล้าน เพื่อให้นำไปซื้อต้นไม้จากชาวบ้าน ชาวบ้านจึงกลับมาทำใหม่ กระนั้นก็ดีระหว่างทางมีอุปสรรคหลายครั้ง แต่ลุงบัวก็ไม่ย่อท้อ ปัจจุบัน ต.ชะอม มีแผงหรือร้านขายต้นไม้กว่า 300 แผง โดย 85% เป็นไม้ขุดล้อมแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
"ท่านชัยภักดิ์ช่วยทำการตลาด ให้เงินมา 2 ล้านกว่าบาท ให้ลุงไปซื้อไม้โบราณมาให้หมด เพราะเกรงว่าชาวบ้านจะเผาทิ้ง เพราะชาวบ้านเริ่มท้อ จากนั้นท่านมีชัย วีระไวทยะ สอนให้ทำสหกรณ์ เพื่อกระตุ้นชุมชน...ตอนนั้นท่านมีชัยเอากล้ามาแจกประมาณ 15 ชนิด ตะแบก เสลา อินทนิล นนทรี ประดู่ป่า เป็นต้นไม้โตเร็วทั้งนั้น จากนั้นก็เรียกชาวบ้านประชุมว่า ต้นไม้เหล่านี้เขาเรียกว่า เป็นต้นไม้ดอกใช้ประดับอาคารสถานที่ เราควรจะทำในสิ่งที่ไม่ต้องไปแย่งตลาดกับใคร ผมก็คิดตามนะ ก็เข้าท่าดี.."
ลุงบัวเล่าด้วยน้ำเสียงยิ้มๆ ว่า สมัยก่อนใครคิดที่จะเปิดแผงไม้ล้อมกลัวลุงจะว่า ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด และว่าคุณเห็นร้านทองเยาวราชไหม มีแต่คนมาซื้อทองคำกันมากมาย จึงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านๆ ถามว่า แล้วจะเอาปุ๋ยมะพร้าว ถุงดำ กรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ที่ไหน ตอนนั้นทุกอย่างต้องวิ่งไปซื้อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คนอื่นเห็น "ปัญหา" แต่ลุงบัวเห็น "ช่องทาง" ทำมาหากิน จึงขับรถปิกอัพไปซื้อหามา
"ลุงบอกว่าใครขาดอะไร เดี๋ยวลุงช่วยหาให้ ถ้าเป็นไปได้ ลุงก็อยากให้ธุรกิจไม้ล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ท่านมีชัยบอกว่า ให้รวมตัวกัน ธุรกิจจะได้แข็งแรงขึ้น หินก้อนเดียวโยนลงน้ำมันไม่ดังหรอก ต้องโยนหลายๆ ก้อน ให้มันดัง คนถึงจะหันมาดู แต่บางคนก็เตือนผมนะว่า กำลังทำลายธุรกิจตัวเอง ไปสร้างคู่แข่งขึ้นมา เดี๋ยวธุรกิจลุงก็เจ๊ง มันเป็นการมองที่แคบและใกล้เกินไป...ยิ่งแผงไม้มากเท่าไร ยอดขายยิ่งไปไกล ปัจจุบันยอดขายลุงไม่ได้ต่ำลงเลย ในขณะที่คู่แข่งตอนนี้มี 300 กว่าราย"
"ตอนนั้นมีปัญหาตรงที่ว่า ลุงสายบัวไปบอกให้ชาวบ้านขุดกันขึ้นมา หรือปลูกมากขึ้น แต่การตลาดมันแคบ แล้วตอนนั้นที่บ้านชะอม ไม่ใช่ถนนสายเมนหลัก เจ้านายเขาก็บอกให้ผมติดป้าย ผมก็ไปติดที่แก่งคอย ทำป้ายบอกมาตลอดทาง...ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะรับซื้อไม่ไหว ผมมีความหวังว่า เดี๋ยวภาครัฐหรือเอกชนจะเข้ามาช่วยซื้อ เพราะผมเป็นคนซื้อต้นไม้ตาย มาเลี้ยงให้มันเป็น ให้มันมีชีวิตขึ้นมา แล้วนักจัดสวนก็มาซื้อต้นไม้ของผมไปลงที่บ้านจัดสรร เสร็จแล้วเงินหมุนเวียนผมไม่พอ เพราะปลูกกันเยอะมาก ผมก็ต้องไปบอกชาวบ้านให้ขึ้น (แผง) ข้างถนน เพื่อใครๆ จะได้เห็นภาพใหญ่...ได้ความรู้จากเกษตรอำเภอ พัฒนาชุมชนเยอะมาก พัฒนาชุมชนมาถามไถ่ลุงทุกเดือน มีปัญหาอุปสรรคในการค้าขายมั้ยและช่วยวิเคราะห์ตลอด แนะนำว่าลุงต้องมีนามบัตร มีโบรชัวร์"
"จากนั้นผู้ใหญ่ก็ให้ผมไปที่แขวงการทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ออเดอร์ต้นประดูกิ่งอ่อนปลูกรอบเมืองมา 48,000 ต้น เพราะผู้ใหญ่ไม่อยากให้อาชีพไม้ล้อมมันเจ๊ง ตอนนั้นได้ค่าบริหารจัดการต้นละ 10 บาท เป็นค่าจ้างรถขน ค่าแรงคนงาน มีของลุงปลูกเองด้วย แล้วก็รับซื้อชาวบ้านต้นละ 100 บาท พอเรามีออเดอร์ แผงไม้ก็มีเงินหมุนเวียน แต่เราต้องกู้เงินมาจ่ายสดให้แก่แผงไม้ รอเงินหลวง 1 ปี ลุงเกือบล้มละลาย แต่เชื่อว่าต้องได้เงิน เพราะคู่สัญญาคือรัฐบาล..."
"ในเรื่องการตลาด ลุงจะสอนให้ชาวบ้านให้มีความซื่อสัตย์ ถ้าวันไหนมีใครมาฟ้องว่า เอาไม้ไป 1 ปีแล้วยังไม่มาจ่ายเงิน แต่เอาเงินไปออกรถคันใหม่ คนเหล่านี้จะถูกขึ้นบัญชีดำไว้ว่าให้หยุดทำธุรกิจด้วย เนื่องจากไม่ซื่อสัตย์ กรณีนี้เคยมีและเจ๊งไปแล้ว 2 แผง เรามีราคากลาง หากแย่งลูกค้าก็ขึ้นบัญชีดำไว้ว่าแผงไม้นี้ เจ้าของชื่อนี้ไม่ใช่คนดี ห้ามค้าขายด้วย ประจานไปเลย มีวันหนึ่งแผงที่ถูกขึ้นบัญชีดำ มีลูกค้าเต็มเลย ทำสัญญารับงานหลักล้านบาท แต่ไม่มีต้นไม้ส่ง เพราะซื้อต่ำกว่าราคากลาง ลุงสอนอยู่เสมอว่า ต้องมีสัจธรรมในการดำรงชีวิต มีมาตรฐานในการทำมาหากิน ทุกคนต้องได้ กำไรต้องแบ่งปัน จะไม่ทำลายซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่คอยย้ำกับลุงตลอดว่า ให้รักษาราคากลางไว้ให้ได้"
ตัวเลขการทำวิจัยปี 2553 แผงไม้ที่นี่มีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ถัวเฉลี่ยอยู่ที่หลักล้านต่อหนึ่งแผงไม้
ตอนนี้จำนวนผู้ประกอบการอาชีพไม้ล้อมที่มีอยู่เกือบ 300 ราย มีรายใหญ่ 4-5 ราย วิธีการบริหารก็จะคล้ายๆ กับสหกรณ์ที่หมู่บ้านเราเคยทำมาคือ ช่วยกันซื้อ-ขาย กำไรแบ่งกัน ข้อดีคือ ไม่มีการทะเลาะกัน แล้วก็ป้องกันการคดโกง เพราะตอนที่ทำสหกรณ์เราได้สอนชาวบ้านให้รู้จักแบ่งปัน อย่างมีโน้ตบุ๊กแค่เครื่องเดียว คุณก็ทำธุรกิจได้แล้ว เช่น โพสต์รูปต้นไม้ลงเว็บ แล้วเรื่องราคาก็มีการถามไถ่กัน เช่น ลุงสายบัวยังยืนราคานี้อยู่หรือเปล่า ถ้ายังเป็นราคาเดิม คนที่ขายก็จะบวกราคาขึ้นไปหน่อย หรือขายเท่าที่ลุงขาย แล้วลุงลดราคาให้ 10% เป็นค่านายหน้า บางคนมีมอเตอร์ไซค์คันเดียว ขับไปตามบ้านต้นไหนสวยก็ถ่ายรูป ถามราคา แล้วก็ไปโพสต์
"เราไม่รับเช็ค เพราะตอนนี้ตลาดวิ่งหาเรา พอมีออเดอร์ปุ๊บ ผู้ซื้อต้องวางเงินมัดจำ 50% ทางนายหน้าจะเอาเงินไปจ่ายแผงไม้"
--------------------------
เส้นทางนักประดับสีเขียว

กฤติกร ตั้งอนุกูลกิจ เจ้าของ สวน เจ อาร์ พันธุ์ไม้ เป็นคนหนุ่มอีกคนที่หันมาทำอาชีพนี้
กฤติกรเรียนจบวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ปี 2547 และทำงานบริษัทเอกชนอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะหันมาตั้งแผงขายต้นไม้เมื่อ 6 ปีก่อนกับภรรยา และมีลูกจ้าง 3 คน
ตอนแรกเป็นพ่อค้าคนกลางหาต้นไม้ส่งตามออเดอร์ จากนั้นก็เริ่มปลูกแล้วตั้งแผงไม้ขึ้นมา เราเป็นต้นทางโดยหาวัตถุดิบ หาต้นไม้ตามออเดอร์ที่ปลายทางต้องการ มีคนที่รับซื้อเป็นผู้ประสานงานให้อีกที พอช่วงหลังทางแผงเริ่มมีไม้ใหญ่ จะมีลูกค้าที่เป็นคนในพื้นที่ นักธุรกิจที่ชอบสะสมต้นไม้แวะเวียนมา ส่วนใหญ่เจ้าของจะวิ่งเข้ามาซื้อเอง ทางแผงจะขนย้ายไปปลูกให้
ในส่วนงานพ่อค้าคนกลาง กฤติกรอธิบายว่า ถ้าเราเอาต้นไม้จากสวนไหนเขาจะให้ 10-20% ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวน คนขายจะรู้กันเองว่าควรจะให้เท่าไร ลูกค้าบางคนมีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง แต่มีรายการต้องซื้อต้นไม้เยอะ เขาก็ขอรายการจากลูกค้า ทำใบเสนอราคาและส่งรูปต้นไม้ให้ หรือมาดูอีกครั้งตอนที่เราจัดหาให้แล้ว แรกๆ จะเหนื่อยหน่อย เพราะยังไม่รู้จักกัน แต่พอเชื่อใจกันแล้วก็สั่งออเดอร์ทางโทรศัพท์ได้เลยว่าจะเอาต้นไม้สเปกไหน
นอกจากนี้เขายังรับเก็บรักษาต้นไม้ให้ด้วย
"หากพื้นที่จะทำก่อสร้างติดต่อมา หรือพรรคพวกกันให้ไปเคลียร์พื้นที่ เราก็รับจ้างย้ายหรือเก็บสต็อกไว้ให้ พอถนนเสร็จเราก็มาปลูกให้ หรือจะแลกเปลี่ยนต้นไม้กันก็ได้ แต่จะทำในลักษณะแลกเปลี่ยนงาน ไม่ได้เชิงค้าขาย คือทำสัญญากันว่า เขาให้ต้นไม้ชนิดนี้มา เราก็จะให้ต้นไม้อีกชนิดทดแทนกันไปสำหรับโครงการที่ต้องปลูกต่อ อย่างโรงงานที่สระบุรีมีหลายแปลงที่จ้างให้ผมไปเคลียร์พื้นที่ให้
"ธุรกิจไม้ล้อมยังไปได้อยู่ เพราะยังมีสิ่งก่อสร้าง ถ้าตรงไหนพื้นที่มันโล่ง ต้องใช้สีเขียวประดับ เพื่อให้ร่มเงา และความสวยงาม"
--------------------------
(คุยนอกกรอบ : ปลูกไม้วันเดียวโตที่ชะอม : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์)