ข่าว

3เด้ง!แผ่นดินไหวทุบสถิติไทย'100ปี'

3เด้ง!แผ่นดินไหวทุบสถิติไทย'100ปี'

07 พ.ค. 2557

3เด้ง!แผ่นดินไหวทุบสถิติไทย'100ปี' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

               18.08 น. เย็นย่ำวันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสร้างความหวาดผวาให้ชาวบ้านภาคเหนือหลายจังหวัด จากนั้นไม่นานภาพความเสียหายของถนนและตึกรามบ้านช่องในพื้นที่ต่างๆ ถูกแชร์ส่งผ่านโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว...

              ช่วงแรกมีรายงานข่าวว่าวัดแรงสั่นสะเทือนได้ระดับ  6.1 จากนั้นผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง เครื่องวัดของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ปรับข้อมูลตัวเลขเป็นระดับ 6.3 พร้อมยืนยันว่าเป็นแผ่นดินไหวบนบกจาก "รอยเลื่อนพะเยา" จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย โดยมีระดับความลึกเพียง 7 กิโลเมตรจากผิวโลกเท่านั้น

              จนกระทั่งประมาณ 2 ทุ่ม ทีมข่าวเนชั่นจึงได้รับการยืนยันจาก "รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์" คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติแผ่นดินไหว ว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.3 นั้น ถือเป็นระดับแผ่นดินไหวที่ใหญ่สุดในรอบ 100 ปีของประเทศไทยเลยทีเดียว เพราะเทียบเคียงกับข้อมูลที่เก็บไว้นั้น เคยเกิดระดับ 5.9 ที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ถัดมาคือ รอยเลื่อนแม่ปิง ทำให้แผ่นดินไหวที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระดับ 5.6 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 โดยประเทศไทยมีการตรวจวัดแผ่นดินไหวได้เมื่อ 50 ปีที่แล้วนี่เอง ส่วนข้อมูลที่เก่ากว่านั้นต้องไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของต่างประเทศที่เก็บสถิติไว้

              หลังเกิดแผ่นดินไหวทุบสถิติ 100 ปี ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวตามมากว่า 130 ครั้ง ตลอดทั้งคืนจนถึงวันรุ่งขึ้น 6 พฤษภาคม สร้างความประหลาดใจให้นักวิชาการด้านนี้เป็นอย่างมาก เพราะปกติแล้วเมื่อเกิดแผ่นดินไหวระดับใหญ่ หรือระดับ 6 ขึ้นไป พลังสะสมในรอยเลื่อนจะลดลงทำให้แผ่นดินไหวที่ตามมามีขนาดเล็ก ไม่เกินระดับ 2-3 เท่านั้น แต่จากรายงานข่าวพบว่า อาฟเตอร์ช็อกที่ใหญ่ถึง 5.6 ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และได้รับการยืนยันจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่ามีระดับ 4 ถึง 22 ครั้ง ระดับ 3.0-3.9 จำนวน 41 ครั้ง และน้อยกว่า 3.0 มากกว่า 50 ครั้ง ชาวบ้านหลายคนให้สัมภาษณ์ว่าไม่กล้าเข้าไปในบ้านเพราะรู้สึกพื้นบ้านยังสั่นสะเทือนเป็นระยะๆ 

              ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่เกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงขนาดนี้ คงต้องสำรวจรอยเลื่อนพะเยาอีกครั้งว่า มีกลุ่มรอยเลื่อนใกล้เคียงอะไรบ้าง เพราะหลายคนเข้าใจว่ารอยเลื่อนเป็นเส้นตรงเหมือนถนน ที่จริงแล้วไม่ใช่ ต้องเรียกว่า "กลุ่มรอยเลื่อน" เพราะจุดศูนย์กลางที่เกิดไปแล้วจะไม่เกิดซ้ำรุนแรงกว่าเดิม จะมีเพียงไหวเล็กน้อยเท่านั้น หากบางคนตรวจวัดได้ถึงระดับ 5.9 ตามที่เป็นข่าวออกมานั้น อาจเป็นไปได้ที่มีจุดอื่นเกิดแผ่นดินไหว ไม่ใช่แค่อาฟเตอร์ช็อกจากจุดเดิม เพราะที่ผ่านมามีนักวิจัยค้นพบรอยเลื่อนใหม่ๆ ในภาคเหนือจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลออกไปยังภายนอก คงต้องพิสูจน์ในรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนี้คงยังไม่มีใครสามารถวิเคราะห์อะไรได้มากนัก

              หลายคนสงสัยว่า "แผ่นดินไหว" เกิดจากอะไร และทำไมครั้งนี้ในประเทศไทยถึงรุนแรงทุบสถิติ 100 ปีได้ !?!

              กรมทรัพยากรธรณีอธิบายว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นผลมาจากการเลื่อนตัวในแนวราบ "แบบเหลื่อมซ้าย" หากเปรียบเทียบกับอดีต เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย เช่นกัน แต่เป็นการเลื่อนตัวในแนวราบ "แบบเหลื่อมขวา" ของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนล่าง 

              ทั้งนี้ กลุ่มรอยเลื่อนพะเยามีความยาวทั้งสิ้น 90 กม.และมี 17 รอยเลื่อนย่อย เช่น รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเมืองปาน ฯลฯ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ "ส่วนเหนือ" วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมซ้าย "ส่วนใต้" วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมขวา

              สำหรับคำถามว่า ทำไม "รอยเลื่อนพะเยา" กลายเป็นตัวต้นเหตุแผ่นดินไหวทุบสถิติ 100 ปีได้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นกลุ่มรอยเลื่อนเฝ้าระวังของนักวิจัยภาคเหนือมากเท่ากับ "รอยเลื่อนแม่จัน" หรือ "รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" ซึ่งเชื่อว่ามีพลังสะสมอยู่มากและเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้งในอดีตหลายพันปีที่แล้ว

              ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวหลายสำนักตอบตรงกันว่า เป็นเพราะเจอ 3 เด้ง หมายถึง ข้อแรก จุดกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่ตื้นมาก เพียง 7 กม.จากพื้นดินเท่านั้น หากอยู่ใกล้ชุมชนเมืองหรือเมืองกรุงที่มีตึกสูงจะยิ่งสร้างความเสียหายมากกว่านี้อีก หลายครั้งที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิน 7 ริกเตอร์ขึ้นไป แต่ไม่มีความเสียหายมากนัก เพราะจุดศูนย์กลางอยู่ใต้พื้นดิน ป่าเขา หรือทะเล  ส่วนเด้งที่ 2 นั้น รอยเลื่อนพะเยาถือเป็น 1 ใน 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลังของประเทศไทย ทั้งนี้ "รอยเลื่อนมีพลัง" (active fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่จะทำให้แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนตัวอย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี 

              ส่วนเด้งสุดท้ายคือ ระดับที่เกิดถือว่ารุนแรงคือ ระดับ 6.3 ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในโลก ทั่วไปจะแบ่งเป็นระดับ 4-4.9 ถือว่าปานกลาง 5-5.9 ถือว่าสั่นไหวรุนแรง ระดับ 6-6.9 สั่นไหวรุนแรงมากทำให้อาคารบ้านเรือนเสียหายได้ ถ้าเป็นระดับ 7 ขึ้นไปถือว่าสั่นไหวร้ายแรง

              หากมองในภาพรวมแล้วประเทศไทยยังไม่น่ากลัวนัก เนื่องจากโลกประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลก 15 แผ่น เมื่อรอยแยกของเปลือกโลกขยับทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น โดย “แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียน” (Eurasian Plate) อยู่ใกล้กับ “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of Fire) หรือแหล่งที่มีภูเขาไฟจำนวนมากทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง

              แม้ว่าประเทศไทยจะตั้งอยู่บนแผ่นนี้ แต่ก็ไม่ได้อยู่บนรอยแยกของเปลือกโลก มีเพียงรอยเลื่อนที่ยังมีพลังขนาดเล็ก 14 แห่งเท่านั้น ทำให้บ้านเราไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ต่างจากประเทศที่อยู่รอบ “วงแหวนแห่งไฟ” ลักษณะคล้ายเส้นเกือกม้าความยาวประมาณ 4 หมื่นกิโลเมตร มีภูเขาไฟตั้งอยู่ทั้งหมด 452 ลูก ร้อยละ 75 เป็นภูเขาไฟคุกรุ่นทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 90 ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนแห่งไฟนี่เอง เช่น อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ 

              อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ใกล้วงแหวนแห่งไฟ แต่จากสถิติของการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตพบว่า ทุกๆ 1,000 ปี รอยเลื่อนในประเทศไทยจะปลดปล่อยพลังงานออกมา ทำให้มีโอกาสเกิดระดับ 7 ได้ แต่จะเกิดขึ้นที่รอยเลื่อนไหนนั้น ยังไม่มีใครสามารถระบุได้

              เพราะแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า...


14 รอยเลื่อนมีพลัง

              1. รอยเลื่อนแม่จัน ยาว 101 กม. - เชียงราย เชียงใหม่

               2. รอยเลื่อนแม่อิง ยาว 57 กม. - เชียงราย

               3. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ยาว 29 กม. - แม่ฮ่องสอน ตาก

              4. รอยเลื่อนเมย ยาว 250 กม.  - ตาก กำแพงเพชร            

              5. รอยเลื่อนแม่ทา ยาว 61 กม. - เชียงใหม่ ลำพูน  ตาก     

              6. รอยเลื่อนเถิน ยาว 103 กม. - ลำปาง แพร่
              7. รอยเลื่อนพะเยา ยาว 23 กม. - พะเยา เชียงราย  ลำปาง

              8. รอยเลื่อนปัว ยาว 130 กม. - น่าน

              9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ยาว 150 กม. - อุตรดิตถ์

              10. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ยาว 60 กม. - กาญจนบุรี

              11. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ยาว 62 กม. - กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ตาก

              12. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ยาว 110 กม. - เพชรบูรณ์

              13. รอยเลื่อนระนอง  ยาว 270 กม. - ระนอง ชุมพร  ประจวบคีรีขันธ์  

              14. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ยาว 148 กม.  - สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา


"รอยเลื่อนนครนายก" ค้นพบใหม่จริงหรือไม่ ?

              วันที่ 29 มี.ค.2554  "รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ" หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศว่าพบรอยเลื่อนใหม่ คือ "รอยเลื่อนนครนายก"  ซึ่งมีความน่ากลัวและอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า รอยเลื่อนนครนายก มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่ปิง ที่พาดผ่าน จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร โดยแนวดังกล่าวมีความยาว 50-100 กิโลเมตร ทั้งนี้รอยเลื่อนแม่ปิง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 จ.ตากมาแล้ว
        
              ถ้ารอยเลื่อนนครนายกมีพลังทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา จะกระทบกับภาคกลางทั้งหมด อาทิ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อุทัยธานี ลพบุรี เป็นต้น หากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 6 - 7 จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค
                  
              ขณะที่ "รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย" สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)  หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย กลับมองในมุมที่ต่างกัน ว่า โลกเรามีแผ่นเปลือกโลกที่มีรอยแตกอยู่เยอะ อาจเป็นรอยแตกเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในหลายสิบล้านปีมาแล้ว พอเวลาเปลี่ยนไปก็อาจทำให้เกิดรอยแตกใหม่ และไปขยับในแนวใหม่ รอยแตกที่ขยับเคลื่อนตัวอยู่เรียกว่ารอยเลื่อนที่มีพลัง รอยแตกที่มันไม่ขยับแล้วก็เรียกว่ารอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง  มันจะขึ้นอยู่กับลักษณะการบิดเบี้ยวของแผ่นเปลือกโลก สำหรับ "รอยเลื่อนนครนายก" นั้น ยังไม่เห็นข้อมูลชัดเจนว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้  การค้นพบรอยเลื่อนใหม่นั้น ตามหลักการแล้วควรจะได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้แน่ชัดเสียก่อน มาแชร์ข้อมูลและความคิดกัน แต่เท่าที่เห็นยังไม่มี


..............

(หมายเหตุ : 3เด้ง!แผ่นดินไหว ทุบสถิติไทย'100ปี' :  ทีมข่าวรายงานพิเศษ)