ข่าว

'รัฏฐาธิปัตย์'วาทกรรม'สุเทพ'บีบกองทัพ!

'รัฏฐาธิปัตย์'วาทกรรม'สุเทพ'บีบกองทัพ!

11 เม.ย. 2557

ผู้ถือครองอำนาจคือ 'รัฏฐาธิปัตย์' วาทกรรม 'สุเทพ' บีบรัดกองทัพ! : โดย...ทีมข่าวความมั่นคง

 
                          การประกาศตั้งตนเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. หากมวลมหาประชาชนสามารถ "ปฏิวัติประชาชน" ประสบผลสำเร็จได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงว่า นายสุเทพถืออำนาจอะไรตามรัฐธรรมนูญมาสถาปนาตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และจะถือว่า เป็นการกระทำที่ก้าวล่วงสถาบันได้หรือไม่
 
                          ทั้งนี้ หาก กปปส.ทำได้สำเร็จตามคำประกาศของนายสุเทพก็จะถือว่า เป็นกระบวนการ "ยึดอำนาจ" โดยประชาชนเป็นครั้งแรก เพราะกระบวนการยึดอำนาจ หรือปฏิวัติรัฐประหาร 18-19 ครั้งที่ผ่านมา ล้วนกระทำโดย "กองทัพ" ทั้งสิ้น !!
 
                          แหล่งข่าวความมั่นคงวิเคราะห์เจตนาของนายสุเทพ และมุมมองของรัฏฐาธิปัตย์ของคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ว่า ในมุมมองของรัฐบาลนั้น การเลือกตั้งจนได้เข้ามาเป็นรัฐบาล คือ การได้อำนาจโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นรัฐบาลจึงมีอำนาจที่จะทำอะไรก็ทำได้
 
                          อย่างไรก็ตาม ความหมายของรัฏฐาธิปัตย์ คือ อำนาจสูงสุดของรัฐ ซึ่งตามทฤษฎีของระบอบประชาธิปไตยในแต่ละรัฐ หากใครได้ "อำนาจรัฐ" ก็จะถือว่าเป็น "เจ้าของอำนาจอธิปไตย" แต่วิธีการในการให้ได้ซึ่งรัฏฐาธิปัตย์มีหลายวิธี ซึ่งวิธีการสากลโดยทั่วไปก็คือ การได้มาตามขอบเขตของกติกาที่รัฐกำหนด หรือตามที่กำหนดไว้ใน "รัฐธรรมนูญ" นั่นเอง
 
                          "นอกจากนี้การได้มาของอำนาจยังรวมถึงการล้มล้างอำนาจรัฐที่มีตั้งแต่การทำสงครามกลางเมือง การรัฐประหาร หรือการปฏิวัติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเฉียบพลัน เช่น กรณีพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ได้มาตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด แต่เมื่อกระทำแล้วได้ชัยชนะก็ทำให้ได้อำนาจอธิปไตยของรัฐ"
 
                          แหล่งข่าวความมั่นคงระบุว่า สำหรับประเทศไทยมีรูปแบบในการ "ล้มล้างอำนาจรัฐ" อยู่ 3 แบบ 1.การปฏิวัติ 2475 เป็นการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ของรัฐ 2.การรัฐประหาร 18-19 ครั้งหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3.เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ขบวนการนักศึกษาทำการเปลี่ยนแปลงจนได้รัฏฐาธิปัตย์ แต่ภายหลังก็ถูกยึดอำนาจไป
 
                          "การได้มาซึ่งรัฏฐาธิปัตย์ทั้ง 3 กรณีถามว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งถ้าเราเอากฎเกณฑ์ หรือรัฐธรรมนูญในขณะนั้นเป็นตัวตั้ง เราก็ต้องบอกว่า ไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการกระทำที่ทำให้ได้มาซึ่งรัฏฐาธิปัตย์ทั้งหมด"
 
                          แหล่งข่าวความมั่นคงยกตัวอย่างสถานการณ์ในปัจจุบันว่า ถ้าเราเอากฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญเป็นมาตัวตั้งก็ต้องบอกว่า การเคลื่อนไหวของ กปปส.ไม่ชอบธรรม แต่ก็ต้องถามว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีความล้มเหลวในการบริหารหรือไม่ และรัฐบาลสามารถบังคับให้เกิดผลทางกฎหมายได้หรือไม่ ในกรณีที่กลุ่ม กปปส.เคลื่อนไหว หรือกรณีที่เกิดการใช้อาวุธสงครามรอบพื้นที่ชุมนุม
 
                          "การที่รัฐบาลบริหารล้มเหลว และไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ ทำให้ กปปส.ประกาศสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมา ซึ่งหากเรายึดเอากฎเกณฑ์ของรัฐเป็นตัวตั้งก็จะบอกว่า กปปส.เป็นกบฏ แต่ก็ต้องถามว่า ถ้ามองว่ากลุ่ม กปปส.เป็นกบฏ การเคลื่อนไหว 14 ตุลา และของคณะราษฎร ปี 2475 (ก่อนเป็นรัฏฐาธิปัตย์) ก็ต้องถือว่าเป็นกบฏเหมือนกัน"
 
                          แหล่งข่าวความมั่นคงคนเดิมชี้ว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่า การไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้แสดงว่า ไม่มีอำนาจรัฐแล้ว อำนาจที่มีอยู่จึงเป็นอำนาจตามกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายที่มีอยู่ แต่ไม่ใช่สถานะตามความเป็นจริง ซึ่งสถานะความเป็นจริงคือกลุ่ม กปปส. ได้ "ยึดอำนาจรัฐ" ไว้หมดแล้ว ฉะนั้นต้องถามว่า ในขณะนี้ใครเป็นผู้ถือครองอำนาจรัฐที่แท้จริง
 
                          อย่างไรก็ตาม การประกาศตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพก็ทำให้กองทัพรู้สึก "อึดอัด" ไม่น้อย โดยเฉพาะการถูกนำไปหยิบยกเปรียบเทียบกับการดำเนินคดี "แบ่งแยกประเทศ" ของกลุ่มแนวร่วม นปช. ซึ่งแกนนำนปช. และพรรคเพื่อไทยพยายามชี้ว่า การกระทำของนายสุเทพขัดมาตรา 68 และก้าวล่วงสถาบัน แต่กองทัพกลับดำเนินการ "สองมาตรฐาน" เมื่อเทียบกับ กปปส.
 
                          ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ต้องชี้แจงจุดยืนของกองทัพต่อคำพูดของนายสุเทพว่า อยากให้ไปดูความหมายว่าแปลว่าอะไร มีหลายคนออกมาแปลความหมายของคำนี้ แต่ต้องไปดูว่า ตามกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ หากผิดกฎหมายก็ดำเนินคดี จุดยืนของกองทัพ คือ ไม่เข้าข้างคนที่ทำผิดกฎหมายทุกพวกทุกฝ่าย
 
                          "วันนี้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) นำเรื่องนี้ไปพูดคุยกัน ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็กำลังดำเนินคดี ผมคงไม่ไปวิจารณ์กรณีที่นายสุเทพประกาศจัดตั้งรัฏฐาธิปัตย์ว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะสิ่งใดก็ตามที่ผิดกฎหมายก็ไม่เหมาะสมทั้งนั้น มันมีคำตอบในตัวอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
                          ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามย้ำจุดยืนความ "เป็นกลาง" ทางการเมือง ท่ามกลางแรงกดดันของมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย และชี้ว่า หน้าที่ในการดำเนินคดีตามกฎหมายไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของทหาร แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหาก
 
                          สำหรับจุดยืนของกองทัพชัดเจนว่า การกระทำที่สถาปนาอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และการขึ้นป้ายข้อความแบ่งแยกประเทศของมวลชนอีกกลุ่มก็ทำให้กองทัพต้องออกมาแอ็กชั่นด้วยการสั่งให้นายทหารในพื้นที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจมาแล้ว
 
                          "กองทัพต้องนิ่งในสถานการณ์แบบนี้ เพราะอาจถูกตีความว่าเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ และต้องปล่อยให้สถานการณ์เดินไปตามระบบ เช่น หาก ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ ชี้มูลความผิดนายกฯ และครม.สุญญากาศก็จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอำนาจจะตกไปอยู่ที่ประชาชนได้เลย เพราะข้าราชการที่มีอยู่ก็สามารถบริหารประเทศไปก่อนได้"
 
                          กระนั้นกว่าสถานการณ์จะเดินไปสู่จุดนั้น กองทัพจะต้องเจอ "บททดสอบ" ที่หนักหนาสาหัสกว่าปี 2549 และ 2553 มากนัก และน่าสนใจยิ่งว่า กองทัพจะฝ่าฟันมรสุมครั้งนี้ไปได้อย่างไร
 
 
 
-----------------------
 
(ผู้ถือครองอำนาจคือ 'รัฏฐาธิปัตย์' วาทกรรม 'สุเทพ' บีบรัดกองทัพ! : โดย...ทีมข่าวความมั่นคง)