
เข้าใจวิถีอาหรับเพื่อการติดต่อเชิงธุรกิจ(5)
เข้าใจวิถีอาหรับเพื่อการติดต่อเชิงธุรกิจ(5) : วิถีมุสลิมโลก โดยศราวุฒิ อารีย์
การดำรงรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของสถาบันครอบครัวถือเป็นหนึ่งในค่านิยมสูงสุดของอาหรับ เราคนไทยซึ่งถือเป็นคนนอกที่ไม่ใช่อาหรับมักไม่ค่อยเข้าใจว่า การที่ผู้หญิงอาหรับประพฤติผิดธรรมเนียมประเพณีถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียที่มีผลต่อครอบครัววงศ์ตระกูลมากกว่าที่ฝ่ายชายกระทำ (ในความผิดที่เหมือนกัน) ด้วยเหตุนี้ จึงดูเหมือนว่า แบบแผนความประพฤติทางสังคมส่วนใหญ่มักถูกใช้อย่างเข้มงวดต่อเพศหญิงมากกว่าชาย
ลักษณะเช่นนี้อาจถูกมองจากสังคมภายนอกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือความไม่เป็นธรรมในเรื่องสิทธิ แต่หากมองจากอีกมุมหนึ่ง อาหรับเชื่อว่าแบบแผนทางสังคมเช่นนี้ช่วยให้ผู้หญิงรอดพ้นการถูกตั้งข้อครหานินทาหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างหญิงด้วยกันหรือระหว่างหญิงกับญาติสนิทฝ่ายชายของพวกเธอก็เป็นไปอย่างอิสระ
ชาย-หญิงอาหรับมักสงวนท่าทีและค่อนข้างระมัดระวังตัวเวลาเจอกัน การปิดห้องอยู่กันตามลำพังระหว่างชาย-หญิงถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมแม้จะไม่ได้เกิดอะไรขึ้นก็ตาม นอกจากนั้นการออกเดทแบบธรรมเนียมฝรั่งหรือแม้แต่การเดินทางด้วยกันสองต่อสองแม้จะเป็นแค่ระยะทางสั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่พึงปฏิบัติ อาหรับถือว่าการปกป้องสตรีเพศไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัว แต่มันถูกกำหนดกฎเกณฑ์โดยวัฒนธรรม
โดยปกติการทำกิจกรรมใดๆ ร่วมกันระหว่างเพศตรงข้ามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีคนที่สามอยู่ร่วมด้วยเสมอ หากสังเกตจากงานสังสรรค์ทางสังคมเราจะพบว่า ผู้หญิงอาหรับจะมางานกับสามีตนเองเสมอหรือไม่อย่างนั้นก็จะมากับญาติที่เป็นผู้ชาย ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นสังคมอนุรักษนิยม ค่อนข้างที่จะเคร่งครัดกับเรื่องนี้มาก ราชอาณาจักรอิสลามแห่งนี้มี “ตำรวจศาสนา” (religious police) ที่มักคอยตรวจสอบถามไถ่คู่ชาย-หญิงที่มารับประทานอาหารด้วยกันตามภัตตาคารหรือตามท้องถนนที่ชาย-หญิงเดินทางในรถคันเดียวกัน สิ่งที่ตำรวจศาสนาจะตรวจสอบคือหลักฐานการเป็นคู่สมรสหรือหลักฐานการเป็นญาติพี่น้องกัน
เราซึ่งถือเป็นต่างชาติต้องคอยระมัดระวังข้อจำกัดให้ดีหากจะติดต่อกับเพศตรงข้าม ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงท่าทีที่เหมาะสมเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น คนอาหรับจะรู้สึกผิดสังเกตทันทีหรือมีทัศนคติเชิงลบทันทีหากเห็นใครคนใดคนหนึ่งแสดงความสนิทชิดเชื้อแบบออกนอกหน้ากับเพศตรงข้าม อันอาจนำไปสู่การตีความไปในทางที่ไม่ดี หากสถานการณ์เช่นที่ว่านี้เกิดขึ้นระหว่างคนต่างชาติกับผู้หญิงอาหรับ ก็อาจเกิดกรณีที่ผู้พบเห็นจินตนาการไปเองว่า ต่างชาติคนนั้นกำลังดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของสตรีเพศอาหรับ อันถือเป็นการทำร้ายเกียรติยศของครอบครัววงศ์ตระกูลของเธอด้วย
แม้กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าเราจะไม่สามารถทักทายแสดงความเป็นมิตรกับหญิงอาหรับได้เลย การทักทายทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าการพูดคุยเจรจาหลังจากนั้นควรมีคนอื่นอยู่ร่วมวงสนทนาด้วย หญิงต่างชาติที่แต่งงานแล้วก็อาจแวะเวียนพบปะกับชายอาหรับได้ตามปกติเช่นกัน แต่ฝ่ายหญิงควรไปกับสามี กรณีที่ยังไม่แต่งงานหรือกรณีที่สามีไม่ได้มาด้วย เธอก็ควรสงวนท่าทีให้มาก
หลายประเทศในโลกอาหรับ วิถีการแยกเพศตามงานสังสรรค์จะมีให้เห็นบ่อยครั้ง ผู้หญิงจะเข้าไปรวมกลุ่มสังสรรค์ในหมู่ผู้หญิงด้วยกัน ส่วนผู้ชายก็จะอยู่อีกที่หนึ่ง (แม้ว่าจะมางานด้วยกันก็ตาม) ในกรณีที่ชาย-หญิงอยู่ในงานร่วมกัน พฤติกรรมการแสดงออกของผู้หญิงก็อยู่ในขอบข่ายที่จำกัด ประเด็นสำคัญที่ต้องอธิบายขยายความตรงนี้คือ การแบ่งแยกเพศลักษณะนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพียงเพราะธรรมเนียมประเพณีวางกฎกติกามารยาทเอาไว้ แต่บางครั้งมันก็เป็นความพึงพอใจของทั้งฝ่ายชายและหญิงเอง เพราะพวกเขาจะรู้สึกสะดวกใจในการแสดงออกมากกว่าหากแยกไปร่วมสังสรรค์ในหมู่เพศเดียวกัน
อีกเรื่องที่ต่างชาติทั้งชาย-หญิงต้องระวังคือ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างต่างชาติด้วยกันเองเมื่ออยู่ต่อหน้าอาหรับ เช่น แสดงการทักทายแบบลึกซึ้งเกินเลยระหว่างเพศตรงข้าม การดึงมือถือแขน การแสดงความรักความเสน่หา การกอดจูบ แตะเนื้อต้องตัวกันเป็นเวลานานๆ ในที่สาธารณะ แม้ว่าจะเป็นสามีภรรยากันก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้พบเห็นอึดอัดใจ
วิถีปฏิบัติของอาหรับในเรื่องข้างต้นนี้ แม้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ เพราะบางประเทศก็ไม่เคร่งครัดมากนัก แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว อาหรับยังคงยึดมั่นกับธรรมเนียมปฏิบัติอันนี้อยู่ครับ