
'ประสาร'ห่วงการเมืองยื้อก่อมะเร็งร้ายศก.ไทย
'ประสาร'ห่วงการเมืองยื้อ ก่อมะเร็งร้ายเศรษฐกิจไทย
ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้น สะท้อนได้จากการที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเริ่มทยอยปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หากสถานการณ์ยังไร้ทางออกในเร็ววัน เศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งพอรับมือไหวหรือไม่ "สุทธิชัย หยุ่น" ประธานกรรมการเครือเนชั่น สัมภาษณ์พิเศษ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายประสารกล่าวว่า แม้ปัญหาการเมืองจะไม่ได้ทำเศรษฐกิจไทยเกิดภาวะช็อก จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจอย่างเฉียบพลันเหมือนในปี 2540 แต่ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนในอดีต ดังนั้น จึงไม่เป็นผลดีหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ เพราะอาจเป็นการสร้างเนื้อร้าย เช่น มะเร็ง ขึ้นมาได้ ส่วนเศรษฐกิจไทยจะสามารถทนแรงเสียดทานได้ยาวนานแค่ไหนนั้น ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ประกอบด้วย อย่างเช่นคนที่เป็นโรคร้าย หากมีสภาพจิตใจที่ดี หมั่นดูแลตัวเองเป็นประจำสภาพร่างกายก็สามารถพลิกฟื้นกลับได้เร็ว
“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เราเหมือนคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ เหมือนคนที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้มีโรคแทรกซ้อนเข้ามากัดกร่อนได้ง่ายถ้าไม่ดูแล แต่ประเภทที่ว่าจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน คิดว่ากรณีอย่างนี้คงไม่เกิดขึ้น เพียงแต่ร่างกายอาจไม่ฟิตเหมือนอดีต มีอาการเหนื่อยเร็วขึ้น แถมร้ายถ้าการเมืองยังเป็นแบบนี้ หากทิ้งไว้เรื้อรัง อาจจะเริ่มมีเนื้อร้ายขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคนเป็นโรคมะเร็งมักจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดใน 1-2 วัน” นายประสารกล่าว
สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ในช่วงเวลานี้นั้น นายประสาร กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับการเล่นฟุตบอล การทำหน้าที่ของ ธปท. ก็เหมือนกับการยืนในตำแหน่งกองหลัง หรือฟูลแบ็ก ซึ่งในบางครั้งสามารถที่จะขึ้นไปช่วยทำประตูได้บ้าง แต่ต้องไม่ลืมการทำหน้าที่ตัวเองด้วย นั่นก็คือ ต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาความเรียบร้อย โดยเน้นรักษาเสถียรภาพ และการทำนโยบายการเงินของ ธปท. ก็เช่นเดียวกัน จะเป็นในลักษณะประคับประคองเศรษฐกิจ พยายามดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงินมีเพียงพอ และอัตราดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป
ผู้ว่าการธปท.ย้ำว่า การทำนโยบายการเงินของ ธปท. ในขณะนี้ จะต้องคำนึงถึงอนาคตด้วย เพราะต้องไม่ไปสร้างภาระ หรือปัญหาด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคต ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ดอกเบี้ยโลกเริ่มมีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้น จากที่ผ่านมาดอกเบี้ยโลกอยู่ระดับต่ำมาโดยตลอด ดังนั้น ธปท.ก็ต้องระมัดระวังว่า หากดอกเบี้ยโลกปรับเพิ่มขึ้น การกลับตัวในตลาดการเงินโลกรวมถึงตลาดการเงินไทยจะต้องไม่เป็นการปรับตัวที่รุนแรง จนเกิดอุปสรรคต่อการทำธุรกิจด้วย
นายประสารยอมรับว่า การที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่มีเพียงรัฐบาลรักษาการ และไม่มีผู้เล่นที่เป็นตัวรุกอย่างเต็มที่นั้น เป็นเรื่องลำบากใจของประเทศ เพราะเหมือนกับว่าเรายังไม่มีความคิดที่จะรุกอย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อทุกอย่างไม่ชัด ก็ต้องอาศัยสิ่งที่ทุกฝ่ายเข้าใจกันคือ ใครทำหน้าที่อะไรก็อยู่ตรงนั้น เล่นในบทบาทของตัวเองให้ดี
"คนมักถามกันว่า เวลานี้รัฐบาลรักษาการใช้นโยบายการคลังได้ไม่ถนัด ควรเอานโยบายการเงินไปแทนได้หรือไม่ ผมก็บอกว่าไม่ได้ เพราะมันเป็นคนละเครื่องมือกัน ยกตัวอย่างเช่น เขาไม่ลงทุน เพราะมองไม่ออกว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร กรณีนี้แม้ลดดอกเบี้ยก็ไม่ช่วยให้เขาลงทุน สาเหตุเพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากดอกเบี้ยแพง แต่เกิดจากความไม่เชื่อมั่นของคน” นายประสารกล่าวและว่า ธปท.ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงภาคสนาม เพื่อเก็บข้อมูลดูว่า ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้เกิดจากอะไร เกิดจากข้อจำกัดทางการเงินหรือไม่ จากการเก็บข้อมูลพบว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น หากใช้นโยบายการเงินโดยไม่คิดให้รอบคอบ บางครั้งก็เปลืองกระสุน จึงต้องบอกว่า การเล่นฟุตบอลควรต้องเล่นเป็นทีม
อย่างไรก็ตาม การทำนโยบายการเงินของ ธปท. ในบางครั้ง ก็ต้องอาศัยแท็กติกหรือยุทธวิธีบ้าง เช่น การลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้ลดเพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคหรือการลงทุน แต่เป็นการลดเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของคน เพราะในยามที่คนมีความรู้สึกว่าสิ้นหวัง การลดดอกเบี้ยลงก็พอจะช่วยเรื่องเหล่านี้ไว้ได้บ้าง
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้น ล่าสุด ธปท.ประเมินว่าน่าจะเติบโต 2.7% หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในครึ่งปีหลัง ซึ่งยอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย เพราะที่ผ่านมาจะพูดกันประมาณ 5% จึงถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องการก้าวข้ามการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ขึ้นไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ จึงทำให้การก้าวไปสู่จุดหมายต้องล่าช้าไปด้วย
ทั้งนี้ สาเหตุที่เศรษฐกิจจะไม่เผชิญกับภาวะช็อกอย่างฉับพลัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสบการณ์สมัยวิกฤติปี 2540 ทำให้ภาคเอกชนมีความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเห็นจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของภาคธุรกิจเวลานี้ที่อยู่ระดับต่ำเพียง 1 เท่า แตกต่างจากอดีตช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่เคยสูงถึงระดับ 8-9 เท่า นอกจากนี้ ภาคธนาคารพาณิชย์เองก็มีความระมัดระวังที่เพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านฐานะการเงิน โดยเฉพาะระดับของเงินสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญที่มีความแข็งแกร่ง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา ธปท. ก็เน้นดำเนินนโยบายเพื่อรักษาสมดุลในด้านต่างๆ รวมทั้งในแง่ของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเอง ก็ไม่ได้ขาดดุลสูงเหมือนบางประเทศ ดังนั้น โดยภาพรวมจึงมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เผชิญกับภาวะช็อกอย่างฉับพลันแน่นอน
..................................
(หมายเหตุ : 'ประสาร'ห่วงการเมืองยื้อ ก่อมะเร็งร้ายเศรษฐกิจไทย)