ข่าว

วีรสตรีในบ้าน พลิกพระเครื่อง สู่พระธรรม

วีรสตรีในบ้าน พลิกพระเครื่อง สู่พระธรรม

30 มี.ค. 2557

คุยนอกกรอบ : วีรสตรีในบ้าน พลิกพระเครื่อง สู่พระธรรม : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ... เรื่อง / สมคิด ชัยจิตวนิช ... ภาพ

 
                         กว่าจะมาเป็นร้านทองท่าพระ นพคุณ ย่านพรานนก กรุงเทพฯ ในวันนี้ พิมพ์มณี เนาวพรพรรณ หรือ "น้อง" คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของ ด.ญ.ธรรมมาตา เนาวพรพรรณ เปิดใจเล่าถึงช่วงวิกฤติชีวิตก่อนที่เธอจะต้องมาดูแลมรดกร้านทองที่ตกทอดจากคุณแม่ให้ยั่งยืนต่อไป ด้วยความซื่อสัตย์ดังที่บรรพบุรุษได้ก่อร่างสร้างตัวมา 
 
                         เธอเล่าอย่างมีความสุขว่า เป็นอาชีพของพ่อแม่ที่ทำมากว่า 30 ปีแล้วค่ะ เราก็โตมาจากเงินที่เลี่ยมกรอบพระของพ่อและแม่ 
 
                         "มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พ่อกับแม่มีปัญหากัน พ่อมีผู้หญิงและแม่จะต้องเลี้ยงลูกสองคนให้ได้ กับดูแลกิจการไปให้รอด อีกทั้งต้องประคองชีวิตคู่อีก เนื่องจากไม่ต้องการให้ญาติพี่น้องดูถูกดูแคลน ทางออกของแม่ตอนนั้นคือ บอกลูกๆ ขอเวลาสามวันไปถือศีล 8 ที่วัด เราเห็นแม่เป็นตัวอย่างว่า แม่เลือกทางออกคือพระธรรม ก็รู้แล้วว่า เราอยู่ในครอบครัวที่ไม่ปกติสุข เพราะแม่ทะเลาะกับพ่อบ้าง อนุของพ่อมาระรานบ้าง แต่ด้วยความที่ตอนนั้นยังเรียนอยู่ ฉันไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเยอะ ก็เลยค่อนข้างบู๊เต็มที่ จนแทบเอาชีวิตไม่รอด"
 
                         กระทั่งเมื่อเธอมีความรักที่ไม่ธรรมดา และต้องมารับบทบาทเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในเวลาต่อมา เธอจึงเข้าใจพ่อมากขึ้น และที่สำคัญธรรมะจากท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน ในการเข้าคอร์ส "จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์" อีกทั้งการไปฝึกอบรมอานาปานสติภาวนาที่ธรรมาศรมธรรมมาตา สวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี ขณะตั้งครรภ์ ช่วยให้เธอมีดวงตาเห็นธรรม ให้อภัยพ่อ ให้อภัยแก่ทุกคนได้ หลังจากนั้นเธอพบว่า ชีวิตได้เกิดใหม่ทางธรรมแล้ว 
 
                         หนูนิล จึงได้ชื่อว่า ด.ญ.ธรรมมาตา เพราะเหตุนี้ เพราะหนูน้อยได้คุณแม่พาไปปฏิบัติธรรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อหนูนิลเติบโตขึ้น แม่น้องได้มีโอกาสพาลูกไปบวชชีด้วยกันที่เสถียรธรรมสถานด้วย
 
                         นั่นคือบทบาทก่อนที่ร้านทองในยุคของที่เธอบริหารจะเริ่มต้นขึ้น
 
                         "สำหรับร้านทองเอง ขอบอกตามตรง กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เคยต่อต้านมาก เพราะไม่ชอบพระเครื่อง ไม่ชอบวัตถุมงคล รู้สึกว่าทำให้คนงมงาย ปฏิเสธแม่มาตลอด บอกแม่ว่า อาชีพนี้คงจะจบที่แม่ ถ้าเรียนจบจะไปทำอย่างอื่น เราก็ไปทำอาชีพอื่นจริงๆ นะ เกี่ยวกับอาหารสุขภาพ ทำอยู่ 7 ปี สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้น ต้องกลับมารับอาชีพนี้"
 
                         แล้วอะไรที่ทำให้ทำใจยอมรับพระเครื่องได้ เธอระลึกถึงพระธรรมเป็นอันดับแรกว่า น่าจะนำมาน้อมไว้ในพระเครื่องได้อย่างไรบ้าง 
 
                         "เดิมคิดว่า คนที่ยึดในวัตถุมงคลหลายๆ คนที่รู้จัก เขาไม่ได้สนใจธรรมะ ไม่ได้ยึดที่พระพุทธคุณ ธรรมคุณและสังฆคุณ  เขาสนใจแต่ตัวพระเครื่องและวัตถุมงคลว่าได้ปลุกเสกมา แล้วส่วนใหญ่ก็ทำเป็นพุทธพาณิชย์ เราไม่ชอบ รู้สึกว่าสิ่งนี้สูง ไม่ควรนำมาทำเป็นพุทธพาณิชย์ เอามาทำมาหากิน แต่เมื่อเราต้องมารับหน้าที่ตรงนี้แล้วจะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้พระรัตนตรัยที่แท้จริงซึมซาบเข้ามาอยู่ในแวดวงของเรา สู่ลูกค้าของเรา สู่ช่างของเรา สู่ใครก็ตามที่เข้ามาสู่เว็บไซต์โต๊ะช่างคลับ http://tohchangclub.blogspot.com ที่เราทำขึ้นก็อยากส่งเสริมคนที่ชอบพระเครื่องให้มาสู่พระธรรมให้ได้ 
 
                         "พอคุณแม่ไฟเขียวให้เราดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว โดยมีคุณแม่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่เบื้องหลัง ก็ตัดสินใจว่า จะดำเนินกิจการไปในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเอง เพราะถ้าต้องทำอะไรที่ฝืนใจมากๆ จะทำได้ไม่นาน ฉะนั้น การค้าขายในรูปแบบเก่าๆ อย่างที่เคยรู้จักกันในยุคของคุณพ่อคุณแม่ เช่น เปรี้ยว เหนียว เค็ม ต้องห้ำหั่น ต้องชิงไหวชิงพริบ หรือพยายามอย่างไรก็ได้ให้เราได้เปรียบเขามากที่สุด ทั้งลูกน้อง ทั้งลูกค้า ในใจของเราไม่ชอบสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น ขอทำในสิ่งที่เราเลือกได้" 
 
                         เหตุที่ทำให้คิดเช่นนี้ เธออธิบายว่า เพราะธุรกิจที่ทำ ถ้าได้มาจากหยาดเหงื่อและน้ำตาของลูกน้อง หรือได้มาจากการที่เอาเปรียบลูกค้ามันก็เหมือนกับทำผิดต่อเขา แล้วเอาเงินเหล่านี้มาเลี้ยงแม่ เลี้ยงลูก เลี้ยงชีพ มันจะไปได้แค่ไหน 
 
                         "หลังจากนี้อีก 10 ปี 20 ปี เราจะเอาเงินไปทำบุญ ทำทานกองใหญ่มหาศาลแค่ไหน มันก็เหมือนกับเอาน้ำไปล้างเกลือเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การทำอะไรก็ตาม เป้าหมายนั้นสำคัญ แต่ระหว่างทางที่เดินสำคัญกว่า เรารู้แล้วว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ระหว่างทางที่เดิน เราเลือกที่จะเดินบนเส้นทางขาว สิ่งที่เราให้ลูกค้ามาตลอดคือ ความจริงใจ เขาต้องการอะไร เขาต้องการกรอบพระแบบไหน เราให้เขาแบบนั้น เขาถามอะไร เราตอบสิ่งที่เป็นความจริง เช่น เขาถามเปอร์เซ็นต์ทองผสมเท่าไหร่ ก็บอกเขาตามตรงว่า ผสมทอง 80% แต่คิดราคา 90% มันเป็นธรรมชาติของกรอบพระ บางที่ผสม 65%บางที่ผสม 70% แต่ขายในราคา 90% ของเราผสมเท่านี้ถือว่าเยอะกว่าที่อื่นแล้ว และเราก็มีช่างทองที่มีฝีมือ ช่างเงินที่เก่ง เดี๋ยวนี้ร้านอื่นๆ ไม่ค่อยมีช่างเงิน แต่เรามี เวลาทำกรอบหนึ่งแล้วก็จะถ่ายแบบเก็บไว้ แล้วโชว์ในเว็บไซต์ เพื่อให้คนเลือกดูว่า จะอยากทำแบบไหน เราก็มีตัวอย่างจากลูกค้าที่เคยมาทำมาให้เขาดูก่อนแล้ว และออกแบบเพิ่มเติม หรือจะออกแบบใหม่อย่างไรก็ได้ เราทำให้ได้ ตามใจชอบ"
 
                         "ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นแม่ค้า เพราะฉะนั้นสินค้าเราคือกรอบพระก็จริง แต่เรามีความจริงใจในการบริการ เขาต้องการอะไรเราให้เขาแบบนั้น เขาถามอะไร เราตอบสิ่งที่เป็นความจริง ลูกค้าส่วนใหญ่ตอนนี้เดินเข้ามาก็หาคุณพิมพ์มณี คุณน้องอยู่ไหม มากกว่าที่จะถามหาคุณแม่แล้วค่ะ ส่วนคุณแม่ก็ภูมิใจ และวางใจได้..."
 
                         มากไปกว่านั้น คงจะเป็นหัวใจที่แกร่งและเป็นธรรมของเธอกระมังที่ทำให้ยืนหยัดมาได้ทุกวันนี้
 
 
-------------------------
 
สวดมนต์ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 
 
 
วีรสตรีในบ้าน พลิกพระเครื่อง สู่พระธรรม
 
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แม่ชีพิมพ์มณี และแม่ชีน้อย ธรรมมาตา เนาวพรพรรณ 
 
 
                         ทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระธรรมทำให้แม่น้อง พิมพ์มณี นวพรพรรณ ไม่ยอมทำให้เกิดความผิดพลาดอีกในรุ่นต่อไป เธอจึงนำความงดงามจากธรรมะมาเพาะไว้ในใจของหนูนิลตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เธอเล่าว่า จากการที่รู้ว่ามีลูกขึ้นมาหนึ่งคน และเราต้องเลี้ยงเอง ดูแลเอง ก็มีทุกข์ ทำให้ทุกข์ที่สุด นั่นจึงทำให้เห็นธรรมถึงที่สุด เห็นความรักของแม่ที่มีต่อเรา และเราก็ส่งความรักนี้ไปยังลูกของเราอีกต่อหนึ่ง 
 
                         "หนูนิล ธรรมาตา เติบโตมากับสังคมที่มีพระธรรม มีธรรมะตลอด พาไปวัด ไปเสถียรธรรมสถาน แต่ใช่ว่าเขาจะเป็นเด็กเรียบร้อยนะคะ เขาเป็นเด็กค่อนข้างบู๊ แต่รู้เรื่อง จากตอนที่ตั้งท้อง บางคนอาจจะให้ฟังเพลงซิมโฟนี หรืออะไรก็ตามที่จะพัฒนาสมองของลูก แต่เราสวดมนต์ให้เขาฟังค่ะ สวดบ่อยๆ พอตอนคลอดออกมา ก็สวดมนต์ให้เขาฟังเสมอ บางทีเขาก็หลับไปกับเสียงสวดมนต์ แล้วเขาก็จะเคยชินกับเสียงแม่มาก ไว้ใจแม่มาก ถึงมากที่สุด หมายความว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหน ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม เป็นที่น่าตกใจสำหรับเด็กทารก ถ้าเขาได้ยินเสียงแม่อยู่ข้างๆ ก็จะเงียบ และรู้ว่าเขาจะปลอดภัย ถ้ามีคนคนนี้อยู่ และเราไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ไม่ว่าจะไปทำบุญ หรืองานกุศลต่างๆ" 
 
                         จากโครงการจิตประภัสสร ตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ จนกระทั่งคลอด แม่น้องพาหนูนิลไปโรงเรียนพ่อแม่ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ที่เสถียรธรรมสถานด้วยค่ะ 
 
                         "ที่โรงเรียนพ่อแม่ ไม่ใช่ว่าไปแล้วเขาจะสอนลูกให้เป็นเด็กดี ไปแล้วเขาสอนว่า ทำอย่างไร เราจึงจะเป็นพ่อแม่ที่ดีได้อย่างไร บางคนพาลูกไป แล้วก็ทิ้งลูกไว้ แล้วตัวเองไปเที่ยว ไม่มีใครสอนลูกเรานะคะ เรานี่แหละ ต้องไปเรียนเพื่อให้รู้ว่า จะเป็นพ่อแม่ที่ดีให้ลูกได้อย่างไร"
 
                         บทสรุปของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีข้อคิดในการเลี้ยงลูกที่ครอบครัวใดๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้ค่ะ 
 
                         "การที่ได้เรียนธรรมะ ทำให้ใจเปิดกว้างสำหรับทุกคน และสำหรับลูกด้วย เราไม่ได้มองว่า ธรรมมาตาคือลูกของเรา แต่เขาคือเพื่อนร่วมโลก แต่ตอนนี้ที่เรามีหน้าที่ต่อกัน คือ มีหน้าที่ต้องดูแลเขาให้เติบโตขึ้นมา และเดินตามเส้นทางที่เขาเลือก และก็ต้องมีเป้าหมายที่สุดตามที่มนุษย์ควรจะมี นี่คือสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของแม่จะต้องปลูกให้เขา เพราะฉะนั้น ช่วงที่ผ่านมา สองถึงสามปีแรก เราเลี้ยงเขากับมือตลอดเวลา มาตอนที่เริ่มเปิดร้าน 3 ปีให้หลัง ขณะที่เขาอายุห้าขวบกว่าๆ ก็เป็นโชคดี ที่ทางคุณทวดกับคุณยาย ช่วยกันเลี้ยงหนูนิลให้ ทำให้หมดห่วงเรื่องลูก เพราะคุณทวดอาสาพาไปโรงเรียน เราก็ดูแลกิจการอย่างเต็มที่ แต่เวลาที่เราอยู่กับเขา เราก็ให้เขาอย่างเต็มที่ อ่านหนังสือการ์ตูนต่างๆ ที่เสริมสร้างธรรมะให้เขาฟังก่อนนอน หรือชวนเขาคุยเรื่องโรงเรียน ว่าเขาคิดอย่างไร และเราคิดอย่างไรกับเรื่องของเขาที่ประสบในแต่ละวัน" 
 
 
-------------------------
 
(คุยนอกกรอบ : วีรสตรีในบ้าน พลิกพระเครื่อง สู่พระธรรม : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ... เรื่อง / สมคิด ชัยจิตวนิช ... ภาพ)