ข่าว

ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ของ (สหาย) เข้ม มฤคพิทักษ์

ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ของ (สหาย) เข้ม มฤคพิทักษ์

16 มี.ค. 2557

ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ของ (สหาย) เข้ม มฤคพิทักษ์ : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : สินีพร มฤคพิทักษ์

 
                      ในแผ่นพับแนะนำ "ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย"เข้ม มฤคพิทักษ์ อดีตแอคติวิสต์ปี 2519 บอกว่าตั้งใจจะทำสถานที่แห่งนี้ให้มีคุณลักษณะสามประการคือ 1) เป็นหอศิลป์จิตรกรรมไทย 2) เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา 3) เป็นตำหนักประทับแห่งทวยเทพ 
 
                      บานประตูของอาคาร 5 ชั้นแห่งนี้มีทั้งหมด 100 บาน นอกจากงานศิลปะบนบานประตูแล้ว ยังมีปรากฏบนหน้าต่าง โอบคานของบ้าน เป็นภาพเขียนสีแนวจิตรกรรมไทย งานแกะสลัก หรือลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นรูปของเทพต่างๆ ส่วนงานอื่น อาทิ ชั้น 3 เป็นท่าโยคะรูปแกะสลักนูนสูง บริเวณโอบคานบ้าน ชั้น 4 เป็นนวดไทยโบราณ เขียนสีลงทอง และไม้แกะสลัก ทุกชิ้นเป็นงานทำมือจากช่างฝีมือกว่า 50 คน นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว  
 
 
ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ของ (สหาย) เข้ม มฤคพิทักษ์
 
 
                      ขณะเดียวกันก็มีรูปแกะสลักพระพิฆเณศองค์ใหญ่ 2 องค์  
 
ทุกครั้งที่ไปจังหวัดเชียงใหม่ และมีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือนบ้านแห่งนี้ เข้ม จะชวนเราเดินชมความคืบหน้าและแนะนำผลงานชิ้นใหม่ๆ ด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมสุข
 
                      แรกๆ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราจึงลุ่มหลงคลั่งไคล้ ทุ่มเทเงินและเวลาเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานนัก แต่นานวันเข้าเขายังไม่เปลี่ยนใจ เป็นเราที่เริ่มสงสัยตัวเองว่าหรือสมองซีกขวาจะทำงานน้อยไป ? 
 
                      หกปีก่อนชิ้นงานที่เห็น เป็นงานจิตรกรรมไทยเขียนลงบนบานประตูขนาดใหญ่ กระทั่งสองปีให้หลังมีงานแกะสลักกระจก และงานแกะสลักองค์พิฆเณศ 
 
                      ชิ้นงานล่าสุดที่ภูมิใจนำเสนอคือ พระพิฆเนศสามเศียรปางประทานพร แกะสลักจากไม้ตะเคียนทอง ขนาดสูงเท่ากับตึก 3 ชั้น, กระจกแกะสลักลายรูปครุฑยุดนาค จำลองจากหีบพระธรรมลายรดน้ำสมัยอยุธยา ซึ่งทำจากกระจกขนาด 3.5 คูณ 4.5 เมตร หนา 12 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.5 ตัน
 
                      "ช่างแกะแกะเต็มผืน ส่วนที่ล้วงลึกสุดเกือบ 1 เซนติเมตร ยามค่ำคืนสวย เป็นพิเศษ เพราะมีไฟแต่งขอบกระจก แสงไฟวิ่งไปในขอบกระจกเห็นเป็นลายสามมิติ"  
 
                      อื่นๆ อาทิ ภาพพระนารายณ์ทรงบัลลังก์นาค จำลองจากวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ, ภาพลายรดน้ำจากตู้พระธรรมสมัยอยุธยา, ภาพพระอิศวรทรงโคบนบานประตู และภาพหนุมานอมพลับพลาจำลองจากจิตรกรรมระเบียงผนังวัดพระแก้ว เป็นต้น
 
                      โดยงานแต่ละชิ้นเขาศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง พอได้ภาพที่มั่นใจว่าลงตัวแล้ว จึงปรึกษากับศิลปินว่าหากสร้างงานชิ้นดังกล่าวขึ้นมา จะใช้ได้ไหมกับตำแหน่งนั้นๆ 
 
                      "เราเป็นผู้บริโภค ศิลปินเป็นผู้ผลิต แต่ทุกชิ้นงานเป็นไอเดียเราอยู่ในนั้น เรามีงานเขียนสี ลงรักปิดทอง  แกะสลัก แกะกระจก หล่อโลหะ ดุนลายโลหะ ประดิษฐ์หัวโขน เฉพาะรายการหลังในบ้านมี 20 กว่าหัว เราสั่งทำ"
 
                      งานจำลองใหม่ทั้งหมดเป็นงานยุคอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยดูต้นแบบมาจากวัดดังๆ ในภาคกลาง  
 
                      "เฉพาะประตูไม้มีร้อยบาน เป็นงานเขียนสีลงทอง 70 กว่าบาน ขนาดเล็กสุดขนาด 2 คูณ 1 เมตร, ใหญ่สุด 3 เมตรเศษ คูณ 1.5 เมตร เป็นไม้สัก มะค่า ประดู่ ตะเคียน มีเขียนสีลงทองและงานแกะสลักไม้ด้วย ปรากฏที่บานประตู คานบ้าน หน้าบัน หน้าจั่ว เป็นภาพแกะสลักนูนต่ำ นูนสูง ลอยตัว เป็นงานภาคกลางหมด ไม่มีสไตล์เหนือเลยทั้งที่อาคารนี้อยู่ในเชียงใหม่"
 
 
ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ของ (สหาย) เข้ม มฤคพิทักษ์
 
                      
                      ทำไมต้องมีรูปเทพจำนวนมาก ?
 
                      "เทพเหล่านี้ผู้คนรู้จักและศรัทธา เราต้องการให้เทพที่มีประวัติความเป็นมา มาปรากฏที่บ้านหลังนี้ในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน เช่น เขียนสี แกะนูนต่ำ ลอยตัว ความที่มีเทพมาประทับในรูปต่างๆ ตรงนี้มีลักษณะเป็นตำหนักเทพ จึงเป็นที่มาของร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย คือเป็นบ้านของเทพ"  
 
                      ส่วนที่ว่ามีเกณฑ์อย่างไรในการเลือกภาพมาแกะสลักบนบานประตูคำตอบคือ 1) เป็นเทพองค์ที่ผู้คนรู้จักโดยส่วนใหญ่ เช่น แม่พระธรณี พระอิศวร พระอินทร์ พระพรหม 2) ดูจากชิ้นงานเอกที่ทำเรียบร้อยแล้ว มีบางส่วนหาไม่ได้ก็จินตนาการขึ้นมาเอง อย่างพระอินทร์ก็ทรงช้างเอราวัณ พระอิศวรประทับบนหลังโค พระนารายณ์อยู่บนบัลลังก์นาค เป็นต้น  
 
ความตั้งใจในการรังสรรค์งานประตูเทพ 100 ทวารบาล ขณะเสร็จแล้ว 86 บาน และเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีตั้งปลายปีที่ผ่านมา
 
                      หลังกราบสักการะพระพิฆเนศสามเศียร ไฮไลท์อีกอย่างที่ผู้เข้าชมต้องขอทดสอบด้วยตัวเองคือ การยืนที่ระเบียงมุกชานพักบันได ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่สูงระดับเดียวกับเศียรขององค์พิฆเณศ
 
                      "เวลายืนตรงนั้นรู้สึกขนลุก มีอาการในร่างกายเหมือนกำลังรับสัญญาณอยู่ ที่เขาไม่พลาดกันเลยคือปิดเปิดบานหน้าต่างคู่ (ใหญ่) ซึ่งมีเสียงเหมือนช้างร้องทุกครั้ง ไม่มีคู่ไหนดังแบบนี้ หน้าต่างคู่นี้จำลองภาพเทพจากวัดสุทัศน์ และวัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี
 
                      สำหรับทุนที่ใช้ทั้งหมดเป็นเงินส่วนตัว ทุ่มลงไปในการสร้าง 6-7 ปีแล้ว ไม่ได้จดเป็นกิจจะลักษณะ มีเท่าไรก็ทำไป ไม่มีก็ทำแต่น้อย เพื่อให้งานต่อเนื่อง งานอื่นๆ หยุดได้ แต่ต้องให้ศิลปินทำงานต่อเนื่อง เพราะต้องการให้ศิลปินอยู่ที่นี่
 
                      ไม่เสียดายเงิน? 
 
                      "งบฯ ที่ลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ไม่มีเงินเก็บ...สิ่งที่มุ่งมั่นทำตำหนักเทพหอศิลป์ ต้องการต่อยอดงานศิลปินบรรพบุรุษโบราณ 200-300 ปี เราอยากเก็บงานไว้ให้ยืนยาวต่อไป เพราะของเดิมที่เราไปตระเวนดูตามวัดต่างๆ มันสึกกร่อนเต็มที แต่งานใหม่นี้ยังอยู่ต่อไปอีกนาน หมายความว่าเราอนุรักษ์หรือต่อยอดงานที่ศิลปินโบราณทำ และคิดเองบางส่วน คิดและออกแบบเอง แต่ทั้งหมดเป็นจิตรกรรมไทยภาคกลางล้วนๆ และที่ปรากฏคือเมื่อมีผู้คนเข้ามาสักการะ มาชมงาน ก็มีสินค้าที่ระลึกขายได้ มีผลตอบแทนมาบำรุงขยายงานได้บ้าง ขณะนี้มีคนเข้ามาเที่ยวบ้างแล้ว มีคนบอกว่าหากวันใดมีคนทั่วไปมาเชียงใหม่แล้วรู้ว่ามีสถานที่แห่งนี้อยู่ตรงนี้ เหมือนเขารู้ว่าเชียงรายมีวัดร่องขุ่น..."
 
                      "ตั้งแต่เปิดมาสัมผัสได้สองอย่าง คนมาสักการะพระพิฆเณศมีแววตาบ่งบอกว่าปีติสุข เราไม่เคยคิดว่าจะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น เมื่อเขามีความสุข ความหวัง พลัง ก็สะท้อนมาถึงเรา เลยรู้สึกว่าไม่เหนื่อย ท้อแท้ ทุกข์ เป็นสุขที่เขาสุขและเราสุขด้วย อีกอย่างคือเมื่อเขาเห็นงานศิลปะ ตื่นเต้น มีสุนทรียะในการเดินชม เด็กหรือนักศึกษาบางคนถึงกับบอกว่าศิลปะไทยสวยเลอเลิศขนาดนี้เลยหรือ ทำไมหลงบ้าเกาหลี ญี่ปุ่น หรือตะวันตกอยู่ได้ บรรพบุรุษเราได้สร้างสรรค์ เราต้องภูมิใจในศิลปะจิตรกรรมไทย ทำให้เรารู้สึกว่ามาถูกทาง"
 
                      ความตั้งใจกับอาคารแห่งนี้คือ อยากให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คนมาสักการะองค์พระพิฆเณศ และชื่นชมงานศิลปะ อยากให้ผู้คนที่เข้ามาได้รับรู้ว่า แม้จะเป็นการก่อสร้างโดยส่วนตัว ทุกคนสามารถเข้ามาสักการะ ชื่นชมงานศิลปะได้อย่างสบายใจ
 
                      สำหรับโครงการต่อไปคือการเปิดหลักสูตรศิลปะ เช่น การลงรักปิดทอง การเขียนจิตรกรรมไทย การแกะสลักไม้ เคาะโลหะดุนลาย แกะกระจก สอนผู้อยากเรียนโดยเฉพาะชาวต่างประเทศซึ่งไม่สามารถหาเรียนที่ไหนได้  
 
                      "หลักสูตรอย่างต่ำ 10 วันเป็นอย่างต่ำ เราทำงานลงเนื้อไม้หมด วัสดุเขียนงานแทนที่จะเป็นแคนวาส กระดาษ เราเตรียมไม้สักทองขนาดเอสี่ พอเขาเขียนเสร็จก็ถือกลับไปเป็นผลงาน...ค่าเรียนขั้นต่ำ 5 พันบาทถึง 3 หมื่นบาท ในหลักสูตรบางอย่างที่ต้องใช้วัสดุราคาแพง และเป็นวิชาที่หาเรียนที่ไหนไม่ได้ เช่น งานแกะสลักกระจก วัสดุราคาแพง ไม่มีสอนทั่วไปที่ไหน แต่ช่างแกะกระจกมือวางอันดับหนึ่งอยู่กับเรา ทุกคนได้มาเรียนตรงนี้จะทำอาชีพ ใช้ฝึกสมาธิ หรือทำเป็นงานอดิเรกก็ได้" 
 
                      ปัจจุบันมีคนแวะมาเยี่ยมชมบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนไทยมาแบบปากต่อปาก ชาวต่างชาติบางส่วน ทั้งนี้มีตัวอย่างชิ้นงานทำเป็นบานพับอยู่ด้านขวามือของประตูผู้โดยสารขาออก สนามบินเชียงใหม่ (สอบถามโทร.08-9433-5380) 
 
 
 
 
เราเป็นหอศิลป์จิตรกรรมไทย
 
 
                       เข้ม มฤคพิทักษ์ เป็นคนอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เรียนจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยส่วนตัวเขาบอกว่าทำงานศิลปะไม่เป็นเลย แต่สามารถบอกได้ว่างานชิ้นไหนงดงามหรือไม่ 
 
                      "สนใจงานศิลปะตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม เวลาหยุดพักเที่ยงมักไปนั่งดูช่างแกะสลักไม้สักบานประตูโบสถ์ที่วัดประจำหมู่บ้าน พอโตเป็นผู้ใหญ่จึงอยากได้งานศิลปะที่เป็นไทยไว้ในบ้าน เช่น งานเขียนสี ลงรักปิดทอง งานแกะสลัก เน้นลายบนวัสดุไม้คุณภาพเท่านั้น เช่น ไม้สัก มะค่า ตะเคียน"
 
                      อดีตสหายรายนี้บอกว่าเขาไม่ชอบซื้องานศิลปะเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาจัดวางไว้ในบ้าน เหตุผลคือไม่มีเงินพอ และไม่ชอบชิ้นงานโดดๆ
 
                      "ผมชอบให้งานทุกชิ้น..มีปฏิสัมพันธ์ โยงใยกัน มีเรื่องราวที่มาที่ไป มีทั้งสุนทรียะ ความงดงาม และความรู้ เพราะเป็นภูมิปัญญา เป็นประวัติศาสตร์ ต้องเดินดูอย่างน้อยครึ่งวันถึงจะสะใจ ต้องมาซ้ำอีกสักห้าครั้งถึงจะอิ่มเอม" 
 
                      เพื่อนๆ แอคติวิสต์ด้วยกันว่าอย่างไรบ้าง? 
 
                      "เพื่อนรู้ว่าภูมิหลังเราไม่ใช่แบบนี้ เป็นนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหว คิดแบบมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เขาดูว่าเราเป็นคนสร้างงาน ลุ่มหลงคลั่งไคล้งานศิลปะ ไม่ใช่งมงาย และเขาเห็นว่าเรากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในแง่มุมศิลปวัฒนธรรม เราไม่ได้ถึงขนาดลงลึกไปสู่การทำพิธีกรรม หรือเป็นเจ้าสำนัก เราไม่ได้แสดงตัวในแนวนี้ เราเป็นหอศิลป์จิตรกรรมไทย" 
 
 
 
.........................
 
(ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ของ (สหาย) เข้ม มฤคพิทักษ์ : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : สินีพร มฤคพิทักษ์ )