ข่าว

ปัดฝุ่น'ตำรวจศาล'หน่วยคุ้มกันภัยคุกคาม'ตุลาการ'

ปัดฝุ่น'ตำรวจศาล'หน่วยคุ้มกันภัยคุกคาม'ตุลาการ'

12 มี.ค. 2557

ปัดฝุ่น'ตำรวจศาล' หน่วยคุ้มกันภัยคุกคาม'ตุลาการ' : เกศินี แตงเขียวรายงาน

              เหตุการณ์ "มือมืด" ไม่ทราบฝ่ายสร้างสถานการณ์ยิงระเบิด เอ็ม 79 และปาระเบิดเอ็ม 61 ใส่พื้นที่ศาลอาญาและศาลแพ่ง ถึง 3 ครั้ง เพียงไม่กี่สัปดาห์ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งที่รัฐบาลรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

              ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่เลิกรา และเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ "ตุลาการไทย" กว่า 130 ปี ไม่เคยเกิดเหตุที่จะเป็นการข่มขู่คุกคามตุลาการเช่นนี้มาก่อน
 
              เมื่อครบรอบการก่อตั้งศาลปกครอง 13 ปี นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แสดงความห่วงใย พร้อมเสนอไอเดียให้ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันผลักดันการจัดตั้ง "ตำรวจศาล หรือ Court Marshal" หน่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ตุลาการ

              เรื่องนี้ศาลยุติธรรมเคยมีแนวคิดมาแล้ว แต่ยังไม่ได้วางโครงสร้างเพื่อเสนอการตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยตุลาการเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้

              ขณะที่แนวคิดการจัดตั้ง “ตำรวจศาล” ของศาลยุติธรรมในอดีต กับโมเดลที่ประธานศาลปกครองสูงสุด ต้องการผลักดันนั้น พยายามจะยึดโยงรูปแบบ U.S.Marshal ของประเทศสหรัฐอเมริกา คือการจัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยตุลาการขึ้นมาเฉพาะ ไม่ใช่การจัดจ้าง รปภ.เอกชน ชายชุดสูทสีดำ สวมแว่นดำ มาเป็นการ์ดเหมือนแวดวงคนดัง หรือผู้มีอิทธิพล

              ภาพ "ตำรวจศาล" ที่มองเห็นได้อย่างกว้างๆ คือ 1.การจัดบุคลากร ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการอารักขา ดูแลความปลอดภัย ที่จะหนีไม่พ้นผู้ที่มีประสบการณ์ในสายวิชาชีพ สายตำรวจ ทหาร หน่วยงานความมั่นคง หรือผู้ที่มีทักษะการป้องกันตัว การต่อสู้เพื่อจะไม่ให้ภัยคุกคามมาถึงตัวตุลาการ

              2.การอนุญาตให้ผู้ที่เข้ามาเป็นตำรวจศาลนั้น สามารถที่จะพกพาอาวุธปืน ป้องกันตัวในการปฏิบัติหน้าที่อารักขาได้

              3.การให้อำนาจตำรวจศาลที่จะจับกุม ควบคุมตัว เมื่อพบผู้ที่จะมาคุกคามตุลาการได้ เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

              4.การคัดเลือกบุคคล ที่จะเข้ามาเป็นตำรวจศาล ต้องมีการคัดกรองตรวจสอบคุณสมบัติที่เหมาะสม

              5.การจัดเครื่องแบบ (ยูนิฟอร์ม)-สัญลักษณ์ (โลโก้ ) ความเป็นตำรวจศาล ให้เห็นชัดเจน เพื่อบุคคลทั่วไปได้รับทราบ เข้าใจอำนาจหน้าที่ได้ถูกต้อง ซึ่งจะไม่ซ้ำซ้อนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายปกติ
 
              สำหรับ "ตำรวจศาล" (Court Marshal) ของประเทศสหรัฐอเมริกามีอำนาจหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของผู้พิพากษา, เจ้าหน้าที่ศาล, ห้องพิจารณาคดี, ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ศาล, อาคารศาลและบริเวณศาล, มีอำนาจในการจับกุมผู้ก่อเหตุและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติหรือฉุกเฉินภายในบริเวณศาล, มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยนักโทษเวลาเอาตัวมาจากห้องคุมขังมายังห้องพิจารณาคดี และประจำอยู่ที่จุดตรวจทางเข้า-ออกอาคารศาล, ตรวจกล้องถ่ายภาพเพื่อความปลอดภัยของศาลและผู้ที่เดินทางมาศาล

              ส่วนประเทศไทย ภาพ "ตำรวจศาล" ดังกล่าว ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบและรายละเอียดทั้งงบประมาณ และหน่วยงานดูแลรับผิดชอบตำรวจศาล ว่า การจัดตั้งหน่วยงานเหล่านี้ ศาลจะสามารถตั้งขึ้นมาเองโดยแบ่งงบประมาณศาลที่เสนอผ่านฝ่ายบริหารหรือต้องเสนอที่ให้มีระเบียบกฎหมายรองรับและฝ่ายบริหารจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะ

              แถมการจัดหาบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ตำรวจศาล หากจะเป็นเพียงการดึงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการมาเป็นตำรวจศาลแล้ว หน่วยราชการนั้นจะยินยอมหรือโต้แย้งหรือไม่ เพราะในปัจจุบันศาลยุติธรรม แม้จะยังไม่มี U.S.Marshal แต่ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจำนวนหนึ่งมาประจำการดูแลความปลอดภัย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รปภ.ของศาลเอง ซึ่งตำรวจนั้นมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายในบริเวณศาลได้ตามปกติเมื่อเกิดความผิดซึ่งหน้า

              แต่เมื่อประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวในงานครบรอบ 13 ปีศาลปกครองว่า “ถึงเวลาแล้วองค์กรตุลาการและศาลยุติธรรม ควรมีหน่วยงานภายในขึ้นมาคุ้มครองดูแล ผู้พิพากษา ตุลาการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของศาล ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัยและตรงไปตรงมา เหมือนศาลยุติธรรมในต่างประเทศ เหตุการณ์ที่ศาลยุติธรรมถูกระเบิด หรือการติดตามไปยังบ้านของตุลาการศาล เรื่องแบบนี้ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น ศาลจะต้องเป็นผู้แต่งตั้งตำรวจศาลขึ้นเอง เมื่อหลายปีก่อนผมเคยถูกขู่ฆ่า และไม่อาจรู้ได้เลยว่าใครมีเจตนาแบบนั้น ดังนั้นการจัดตั้งต้องขึ้นกับองค์กรศาล ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานปกป้องตุลาการเลย พอเกิดเรื่องทีก็ส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลที ซึ่งอาจยังไม่เพียงพอที่จะไว้วางใจได้”

              ทั้งนี้ นายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด มีความมุ่งหมายว่า อยากใช้โอกาสที่จะได้พบประธานศาลฎีกากลางเดือนนี้ พยายามเสนอแนวคิดส่วนตัวครั้งนี้ เพื่อให้ศาลยุติธรรมผลักดัน การตั้ง “ตำรวจศาล” ขึ้นมาให้เป็นรูปธรรมอีกครั้ง แม้ยังไม่อาจดำเนินการได้ในเร็ววัน แต่ก็อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต

              “หากตุลาการหรือผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย การตัดสินคดีความใดอาจเกิดการเบี่ยงเบนได้ บ้านเมืองก็ไม่เกิดความสงบสุข” ประธานศาลปกครองสูงสุด แสดงออกอย่างเป็นห่วง

              สุดท้าย "ตำรวจศาล" จะเป็นเพียงโอกาสในการเสนอไอเดีย หรือโอกาสที่ตุลาการจะได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมที่ควรจะเป็น ต้องลุ้นกันต่อไปเหมือนเกมการเมืองที่สร้างความขัดแย้งในปัจจุบันว่า การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองจะเกิดขึ้นได้จริง หรือเป็นเพียงโอกาสการแสดงออกทางความเห็น

................................
             
(หมายเหตุ : ปัดฝุ่น'ตำรวจศาล'  หน่วยคุ้มกันภัยคุกคาม'ตุลาการ' : เกศินี แตงเขียวรายงาน)