
'วิงเล็ท'ช่วยยกธุรกิจสายการบิน
08 มี.ค. 2557
เวิลด์วาไรตี้ : 'วิงเล็ท' ช่วยยกธุรกิจสายการบิน
เครื่องบินไม่ว่าจะขนาดเล็กแบบไม่มีคนนั่งและใช้วิทยุบังคับ หรือใหญ่ยักษ์ขนาดบรรทุกผู้โดยสารมากกว่าครึ่งพัน ก็ต้องอาศัยหลักการทางอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamic) ในการออกแบบเพื่อให้เครื่องบินลำนั้นบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างดี มั่นคง ปลอดภัย และประหยัดน้ำมัน
พัฒนาการกว่า 100 ปีทำให้เครื่องบินทุกขนาดบินได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มีเสถียรภาพการบินที่มั่นคง ไม่ทำให้ผู้โดยสารต้องสวดมนต์ขอพรระหว่างที่ต้องโดยสารอยู่เหนือพื้นดินกว่า 30 กิโลเมตรอีกต่อไป เรื่องเหล่านี้ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำสามารถเอาชนะได้แล้ว มิเช่นนั้นก็คงไม่สามารถผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัส เอ 380 ที่ถ้าปรับที่นั่งเป็นชั้นประหยัดทั้งหมดจะบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 800 คน (ในรุ่น เอ 380-1000)
แต่ปัญหาสำคัญที่ผู้ผลิตเครื่องบินได้รับเสียงวิงวอนจากสายการบินให้ช่วยแก้ไขมากที่สุดคือ อัตราการบริโภคเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นปัจจัยทางธุรกิจที่สำคัญถึงขนาดชี้เป็นชี้ตายให้กับสายการบินได้เลย เพราะถ้าเครื่องบินใช้เชื้อเพลิงมากก็จะทำให้กำไรของเที่ยวบินในแต่ละเที่ยวลดลง หรืออาจจะถึงกับขาดทุน
ดังนั้น สายการบินจึงต้องคิดค้นและพัฒนาวิธีการต่างๆ ในการลดการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องบินลงตั้งแต่ต้น เริ่มจากการออกแบบให้เครื่องบินมีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้เครื่องยนต์ที่กินน้ำมันน้อยแต่มีประสิทธิภาพให้ "แรงขับ" (Thrust) สูงๆ เพื่อที่จะทำการบินได้โดยไม่ต้องใช้กำลังเครื่องยนต์สูงสุด (ซึ่งกินน้ำมันมากที่สุด)
รวมทั้งการออกแบบ "วิงเล็ท" หรือแผ่นปีกเล็กๆ ที่ติดอยู่บนปลายปีกเครื่องบิน ที่เครื่องรุ่นใหม่ๆจะมีอยู่ทุกรุ่น (เว้นแต่โบอิ้ง 747-8 ที่ออกแบบวิงเล็ทให้กลมกลืนไปกับปลายปีก) เพื่อ "ทำลาย" กระแสลมวนบริเวณปลายปีกที่ทำให้เกิดแรงฉุด (Drag) ทำให้เครื่องบินต้องใช้แรงขับจากเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นเพื่อเอาชนะแรงฉุดนี้ให้ได้ ซึ่งทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในมุมมองของสายการบินนั้นให้ความสำคัญกับ "วิงเล็ท" นี้เป็นอย่างมาก เพราะเจ้าปีกเล็กนี้ช่วยให้สายการบินมีต้นทุนที่ต่ำลง สายการบิน ยูไนเต็ด คอนติเนนตัล ที่เพิ่งตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 รุ่นล่าสุด จำนวน 238 ลำ จะได้เครื่องบินที่มี "วิงเล็ท" รุ่นใหม่ที่นอกจากจะมีปีกยกขึ้นด้านบนเพียงส่วนเดียว ก็จะมีปีกเล็กที่ยื่นลงมาด้านล่างที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อช่วยทำลายกระแสลมวน ซึ่งโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องรุ่นนี้วิจัยมาแล้วว่าปีกเล็กแบบคู่นี้จะให้ผลดีในการกำจัดกระแสลมวนปลายปีก
โบอิ้งระบุว่าเครื่อง 737-800 ที่ติดตั้งปลายปีกแบบนี้จะลดอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงลงราว 3.5-4% ต่อเที่ยวบินในระยะทาง 1,000 ไมล์ทะเล (1,852 กิโลเมตร) และสายการบินยูไนเต็ด คอนติเนนตัล ประเมินว่าเครื่อง 737-800 พร้อมวิงเล็ทรุ่นล่าสุดจะประหยัดค่าเชื้อเพลิงต่อปีได้มากถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,800 ล้านบาท) เลยทีเดียว
จริงๆ แล้ว "วิงเล็ท" ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งมาฮิตกันในช่วงนี้ แต่การติดตั้งปีกเล็กประเภทนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2543 เมื่อโบอิ้งนำไปใช้กับเครื่องโบอิ้ง 737 บิสิเนส เจ็ท เพื่อการประหยัดน้ำมัน ขณะที่แอร์บัส ก็พัฒนาปีกเล็กเพื่อลดแรงฉุดมาตั้งแต่การเปิดตัวเครื่องบินรุ่นแรกของบริษัท นั่นคือ แอร์บัส เอ 300-600 เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว และได้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับแอร์บัสในทุกรุ่นในเวลาต่อมา
สำหรับแอร์บัสจะเรียกปีกเล็กนี้ว่า "ชาร์คเล็ท" เพื่อไม่ให้ซ้ำกับโบอิ้ง แต่แม้คำเรียกจะต่างกัน แต่ประโยชน์ของปีกเล็กชนิดนี้ก็ไม่ต่างกันแม้แต่น้อย