ข่าว

ใช้ใบสนแห้งเป็นส่วนผสมวัสดุปลูกพืช

ใช้ใบสนแห้งเป็นส่วนผสมวัสดุปลูกพืช

05 มี.ค. 2557

ใช้ใบสนแห้งเป็นส่วนผสมวัสดุปลูกพืช กฟผ.แม่เมาะนำร่องลดปัญหาหมอกควัน : โดย...ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

 
                     "ทิวสน" ที่ร่มรื่น สวยงาม ดูสบายตาภายในเหมืองแม่เมาะ นับเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างภาพจดจำให้แก่ผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ เมื่อเดินทางกลับไปแล้ว จะยังนึกถึงแนวทิวสนที่สูงตระหง่านทอดเป็นทางยาว ร่มรื่นสบายตา ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้วทิวสนนี้ยังเป็นร่มเงาให้ผู้ปฏิบัติงานในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ภายใต้ความสวยงามนี้ กลับสร้างภาระให้เหมืองแม่เมาะเป็นอย่างมาก เพราะเศษใบสนที่ร่วงหล่นบนพื้นถนนที่มีจำนวนมากเฉลี่ยวันละกว่า 12 ตันนั้น ต้องใช้กำลังคนเก็บกวาดและใช้รถขนเพื่อนำไปทำลายโดยเปล่าประโยชน์ นับเป็นต้นทุนที่เหมืองแม่เมาะต้องแบกรับภาระเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ประจำทุกวัน
 
                     ผู้ปฏิบัติงาน กลุ่ม "GREEN MISSION" แผนกบำรุงรักษาอาคารและบริเวณ กองโยธาและฟื้นฟูสภาพเหมือง ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ ที่นำเสนอผลงาน QCC/Kaizen ในงานวันคุณภาพ ชาว กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ประจำปี 2557 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 มกราคม ที่ผ่านมา นำโดย "อัญญารัตน์ วงศ์คช" และสมาชิกอีก 4 คน ประกอบด้วย นายวชิระพล นิลกำแหง หัวหน้ากลุ่ม, นายพล ขันสุภา, นางพวงพรรณ์ เดชวงศ์ยา, นายนิพนธ์ เสาร์ใจ จึงมีแนวคิดในการนำใบสนแห้งที่ร่วงหล่นมาใช้ประโยชน์เป็นส่วนผสมในวัสดุปลูกพืช โดยมีนายอมรพงษ์ อุบลเขียว เป็นที่ปรึกษากลุ่ม
 
                     "อัญญารัตน์ วงศ์คช" เปิดเผยว่า เหมืองแม่เมาะ มีพื้นที่กว่า 800 ไร่ ซึ่งเป็นทั้งอาคารที่ทำการและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจจะมีการประดับตกแต่งด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้กระถางและไม้ยืนต้น เพื่อให้บรรยากาศร่มรื่น สวยงาม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนซึ่งแต่ละปีต้องใช้งบประมาณหลักแสนบาทในการจัดหาวัสดุปลูกพืช ตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งวัสดุปลูกพืช หมายถึงสิ่งที่เป็นที่อยู่ของรากพืชที่จะอยู่รวมกับสารละลายธาตุ อาหารและอากาศ ซึ่งประกอบด้วยแกลบดิน กาบมะพร้าวสับ และเปลือกถั่วลิสง   
                     จากการพูดคุยกัน ทีมงานจึงเห็นตรงกันให้นำ "ใบสนแห้ง" มาใช้ประโยชน์เป็นส่วนผสมวัสดุปลูกพืช ซึ่งทีมงานได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินกิจกรรมเป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2556 เริ่มแรกได้ทดลองนำใบสนแห้งใช้เป็นส่วนผสมกับส่วนผสมหลักคือ ดินร่วนและปุ๋ยคอก จากนั้นทดลองนำไปใช้ปลูกต้นชาฮกเกี้ยนและต้นฤาษีผสมอย่างละ 15 ต้น ทั้งนี้การทดลองใช้กับต้นไม้ทั้ง 2 ชนิด เนื่องจากเป็นไม้กระถางที่ใช้ในการประดับตกแต่งภูมิทัศน์จำนวนมากและมีการใช้งานเป็นประจำ ซึ่งผลการทดลองพบว่า ต้นฤาษีผสม ไม่สามารถเจริญเติบโตได้
 
                     ดังนั้น จึงมีการปรับสูตรวัสดุปลูกพืชใหม่ โดยใช้ใบสนแห้งผสมกับส่วนวัสดุปลูกพืชรอง ประกอบด้วย แกลบดิน กาบมะพร้าวสับและเปลือกถั่วลิสงและก่อนใช้งานนำไปผสมกับวัสดุปลูกพืชหลัก คือ ดินร่วนและปุ๋ยคอก ซึ่งจากการนำไปใช้ทดลองปลูกต้นชาฮกเกี้ยนและต้นฤาษีผสมก็พบว่าพืช ทั้ง 2 ชนิดสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ทั้งพบว่าสูตรที่ปรับปรุงใหม่นี้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับวัสดุปลูกพืชเดิม
 
                     "อัญญารัตน์" กล่าวต่อว่า จากระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมพบว่า วัสดุปลูกพืชที่มีส่วนผสมของใบสนแห้งนั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นอย่างมาก เหลือเพียง 483,750 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีค่าใช้จ่ายกว่า 580,500 บาท หรือคิดเป็น 17% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนการดำเนินกิจกรรมที่คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้เพียง 10% เท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายการใช้วัสดุปลูกพืชเป็นเงินกว่า ปีละ 96,750 บาท ทั้งนี้ใบสนแห้งที่นำมาใช้นั้นเมื่อนำมาผสมกับวัสดุปลูกพืชจะช่วยเพิ่มคุณ สมบัติเพิ่มช่องว่างของอากาศในดินให้มากขึ้น โดยรากพืชต้องการอากาศใช้ในการหายใจ แต่ใบสนแห้งนี้ไม่มีธาตุอาหาร
 
                     อย่างไรก็ตามแม้ระยะเวลาดำเนินกิจกรรมจะสิ้นสุดลงแต่ทีมงานยังจะควบคุมให้มีการผสมวัสดุปลูกพืชโดยใช้ใบสนแห้งเป็นส่วนผสมตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ขณะเดียวกันยังจะติดตามการเจริญเติบโตของพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ในงานภูมิทัศน์ต่างๆ และจะได้ขยายผลนำใบสนแห้งไปใช้เป็นวัสดุปลูกพืชกับไม้ดอกไม้ประดับชนิดอื่นในเหมืองแม่เมาะอีกด้วย
 
                     "อัญญารัตน์" กล่าวว่า จากการศึกษาสถิติการใช้วัสดุปลูกพืชย้อนหลังช่วงระยะเวลา 3 ปีของเหมืองแม่เมาะตั้งแต่ปี 2554-2556 พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุปลูกพืชเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2554 พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุปลูกพืชมีมูลค่า 340,000 บาท คิดเป็นปริมาณวัสดุปลูกพืชจำนวน 1,500 ตัน ต่อมาปี 2555 ค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุปลูกพืชเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 580,000 บาท คิดเป็นปริมาณวัสดุปลูกพืชจำนวน 1,900 ตัน ล่าสุด ปี 2556 ค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุปลูกพืชมีมูลค่า 610,000 บาท คิดเป็นปริมาณวัสดุปลูกพืชจำนวน 2,002 ตัน และในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้วัสดุปลูกพืชจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีการปรับปรุงอาคารและปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่
 
                     "นอกจากปริมาณความต้องการใช้วัสดุปลูกพืชจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่าวัสดุปลูกพืชทั้งปุ๋ยคอก แกลบดิน กาบมะพร้าวสับและเปลือกถั่วลิสงก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายวัสดุปลูกพืชเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการทำกิจกรรมลดค่าใช้จ่ายในงานเตรียมวัสดุปลูกพืช เพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวและยังเป็นการสอดรับกับนโยบายของผู้บริหาร กฟผ.ที่สนับสนุนให้เหมืองแม่เมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานของประเทศ เป็นแลนด์มาร์คของจังหวัด และให้เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ บรรจุในแผนที่การท่องเที่ยวประจำปีของจังหวัดลำปางทำให้หน่วยงานต้องตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งต้องใช้วัสดุปลูกพืชเพื่อสนับสนุนงานบำรุงรักษาเป็นจำนวนมาก" อัญญารัตน์ กล่าว
 
                     ทั้งนี้ การนำเศษใบสนแห้งที่มีปริมาณมากมาใช้ประโยชน์ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดเก็บและทำลายแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ชุมชนและหน่วยงานอื่นของ กฟผ.แม่เมาะ ในการกำจัดขยะและเศษวัชพืช แทนการเผา ซึ่งมีส่วนช่วยลดปัญหาหมอกควัน และเป็นการลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศอีกด้วย
 
 
 
.....................
 
(ใช้ใบสนแห้งเป็นส่วนผสมวัสดุปลูกพืช กฟผ.แม่เมาะนำร่องลดปัญหาหมอกควัน : โดย...ศูนย์ข่าวภาคเหนือ)