ข่าว

ครูดอย...ด้วยรักและอุดมการณ์

ครูดอย...ด้วยรักและอุดมการณ์

03 มี.ค. 2557

ครูดอย...ด้วยรักและอุดมการณ์ : โดย...ติยากรณ์ วงศ์เลิศวาทิก

 
                       เอ่ยชื่อ “บ้านทีผะแหล่” น้อยคนคงรู้จัก ด้วยเป็นพื้นที่ห่างไกล แม้จะมีถนนเข้าได้ถึง 3 เส้นทาง ก็ล้วนเป็นทางทุรกันดาร ต้องขึ้นเขาลงห้วย รถที่ใช้ต้องขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นเพราะเป็นถนนดินที่ชาวบ้านช่วยกันถากถางขึ้นมา และต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวัน หากเป็นฤดูฝนก็หมดสิทธิ์เข้าออก ต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จนกว่าถนนจะแห้งใช้การได้
ทีผะแหล่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านแม่เงา ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อำเภอที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย สภาพทั่วไปเป็นที่เชิงเขาติดแม่น้ำเงา รอบหมู่บ้านเป็นป่าดิบต้นน้ำ พวกเขาจึงเรียกตัวเองว่าคนต้นเงา ประชากรทั้งหมดเป็นคนไทยชนเผ่าปกากะญอ ใช้ภาษาประจำเผ่า พูดภาษาไทยได้เล็กน้อย ดังนั้น นอกจากปัญหาการเดินทาง ผู้ที่ไปเยือนยังต้องพบปัญหาการสื่อสารกับชาวบ้าน และไม่มีระบบสาธารณูปโภคใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา สัญญาณโทรศัพท์
 
                       แต่ความลำบากไม่ใช่อุปสรรค หากมีใจที่กล้าแกร่ง มุ่งมั่น และนั่นคือคุณสมบัติของกลุ่มคนที่เรียกว่า “ครูดอย” ธีระ สมมิตร หรือครูหน่อง ครูนิเทศก์ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงกลุ่มทีผะแหล่ ดูแลศูนย์การเรียนในกลุ่มรวม 6 แห่ง เป็นครูที่นี่มากว่า 10 ปีแล้ว โดย 5 ปีแรกเป็นครูประจำศูนย์ ก่อนเลื่อนตำแหน่งเป็นครูนิเทศก์ แม้จะเคยป่วยเป็นมาลาเรีย 1 รอบ ไทฟอยด์ 2 รอบ จากความอ่อนด้อยของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ ปัญหาสุขอนามัยจึงเป็นคำตอบแรกเมื่อถูกถามว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใด และจากการเดินทางที่ลำบาก ทำให้กว่าที่ชาวบ้านจะตัดสินใจไปรักษาในเมือง ก็อาการเพียบหนักแล้ว เมื่อไปถึงโรงพยาบาลจึงยากจะยื้อชีวิต กลายเป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าถ้าไปโรงพยาบาลแล้วต้องตาย บางครั้งครูที่นี่จึงต้องเหมือนเป็นหมอไปโดยปริยาย เพราะเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยชาวบ้านก็จะวิ่งมาที่โรงเรียนก่อน
 
                       ครูที่นี่ยังต้องเป็นช่างก่อสร้างเองด้วย แม้จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากต้นสังกัดและหน่วยงานต่างๆ อยู่บ้าง แต่เฉพาะค่าขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก็เป็นเงิน 5,000 บาทต่อเที่ยวแล้ว ไม่รวมค่าน้ำมันเครื่องปั่นไฟและอื่นๆ อาคารที่นี่จึงเป็นผลงานของครู ชาวบ้าน รวมถึงเด็กๆ ที่ช่วยกันขนหินขนทรายก่อสร้างขึ้นมาอีกสิ่งที่ครูหน่องอยากให้มีการพัฒนาในพื้นที่ก็คือโครงการเกษตรที่สูง เพราะกว่า 90% ของอมก๋อยเป็นภูเขา ชาวบ้านปลูกข้าวไร่ พริก ถั่วเหลือง เป็นหลัก ซึ่งราคาไม่สูงนัก ยิ่งการเดินทางที่ลำบาก ทำให้ขนส่งไปขายลำบาก หากมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อก็จะถูกกดราคาลงไปอีก ชาวบ้านจึงแทบไม่มีรายได้ ฐานะยากตน หากปรับมาปลูกพืชผักผลไม้ที่หลากหลายและได้ราคาดีกว่านี้ ก็น่าจะช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง
 
                       เมื่อถูกถามว่าลำบากเช่นนี้ ทำไมจึงเลือกเป็นครูดอย ครูหน่องยิ้มแล้วตอบว่าเพราะความรัก วันแรกที่รู้ว่าได้ทำงาน ครูหน่องเดินขึ้นเขามาโดยไม่รอให้ใครมาส่ง มาทั้งที่ไม่รู้ว่าทีผะแหล่อยู่ตรงไหน ถามทางมาเรื่อยๆ ด้วยความตื่นเต้นอยากมาไวๆ แต่เดินเท้าอยู่ 9 ชั่วโมงก็ยังไม่ถึง ต้องขอชาวบ้านนอนพักกลางทาง จนทุกวันนี้ครูหน่องรู้จักทุกดอย เพราะมักจะขี่จักรยานยนต์คู่ใจตรวจดูโรงเรียนในความดูแล รวมถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และแม้เดือนหนึ่งปีหนึ่งจะได้พบหน้าครอบครัวสักครั้ง ครูหน่องบอกว่าไม่มีปัญหา ภรรยาและพ่อแม่เข้าใจ ทั้งนี้เหมือนจะมีปัญหามากมาย แต่อย่าเอาความสุขคนเมืองมาเป็นบรรทัดฐานวัดความสุขคนดอย 
 
                       เช่นเดียวกับ ยงยุทธ กิจบรรยงเลิศ หรือครูยุทธ ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียนเรียน กศน.อมก๋อยที่ทิ้งเงินเดือนกว่า 3 หมื่นบาทในบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งตามฝันในวันวานขึ้นมาเป็นครูดอย จากความรักที่ซึมซับมาตั้งแต่ทำค่ายอาสาเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา โดยตลอดเวลาที่ทำงาน 7 ปีก็มักหาโอกาสออกค่าย และพยายามหาข้อมูลว่าที่ไหนเปิดสอน จนมารู้จักครูหน่องผ่านเฟซบุ๊กจึงมาสมัครและได้เป็นครูสมใจ แรกๆ ก็นึกเสียดายอยู่บ้าง เพราะเพื่อนร่วมงานตอนนี้ก็ขึ้นเป็นระดับผู้จัดการหมดแล้ว แต่สุดท้ายการได้ทำงานที่รักนั้นมีความสุขมากกว่า ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่ขัดการตัดสินใจ
 
                       ครูยุทธบอกว่าชีวิตบนดอยนั้นต่างจากคนเมือง จะแวะกินแวะนอนบ้านชาวบ้านหลังไหนก็ได้ และยิ่งเห็นพัฒนาการของเด็กๆ ก็ยิ่งสุขใจ แต่มีข้อจำกัดที่เด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนสูงกว่านี้ เพราะไปข้างนอกลำบาก ส่วนใหญ่ถ้าออกไปก็คือไปทำงาน จึงพยายามเน้นสอนภาษาไทยและคณิตศาสตร์ให้พูดอ่านเขียนได้ คิดเลขเป็น จากนั้นก็คือการพัฒนาด้านความเป็นอยู่และสุขอนามัย
 
                       ครูยุทธบอกด้วยว่า ความจริงเขาต้องไปรับตำแหน่งที่ศูนย์การเรียนอื่นแล้ว แต่ขอผู้บังคับบัญชาอยู่ที่ศูนย์ทีผะแหล่ต่อ เพราะต้องการสานต่อโครงการห้องเรียนสาขาที่บ้านทีตะอึคี ซึ่งเขาเป็นผู้ริเริ่ม ด้วยเห็นว่าเป็นชุมชนปิดบนรอยต่อเชียงใหม่และตาก เมื่อเสนอทำศูนย์การเรียน ทางตากก็แจ้งว่าเป็นพื้นที่เชียงใหม่ ขณะที่ทางเชียงใหม่ก็ขอพิจารณา เนื่องจากมีศูนย์การเรียนนับร้อยแห่งแล้ว กลุ่มครูจึงแก้ปัญหาด้วยการทำเป็นห้องเรียนสาขาของทีผะแหล่ โดยเด็กโตของทีตะอึคีก็เป็นนักเรียนของทีผะแหล่อยู่แล้ว เดินลงมาเรียนกินนอน แต่เด็กเล็กมาไม่ไหว ครูจึงขึ้นไปหาเสาร์อาทิตย์แทน ตอนนี้สิ่งที่อยากได้มิใช่อาคารสถานที่ เพราะชาวบ้านช่วยกันทำแล้ว โดยไม่ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว แม้สภาพจะไม่ต่างจากเล้าหมูแต่ก็ใช้เรียนได้ แต่สิ่งที่วอนขอคือประปาภูเขา เพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำอาบน้ำกิน จะได้มีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น 
 
 
 
-----------------------
 
(ครูดอย...ด้วยรักและอุดมการณ์ : โดย...ติยากรณ์ วงศ์เลิศวาทิก)