ข่าว

เส้นทางดนตรีของ'มะเหมี่ยว-พรชดา'

เส้นทางดนตรีของ'มะเหมี่ยว-พรชดา'

22 ก.พ. 2557

ขอเวลานอก : เส้นทางดนตรีของ 'มะเหมี่ยว-พรชดา' มิสทีนไทยแลนด์ ปี56 : เรื่อง ณัฐธิดา ภูผิวผา /ภาพ ศราวุธ รำเพย

 

                        "แม้การทุ่มเทเวลาให้กับกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียน จะมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับกลับมานั้นคือคุณประโยชน์ที่ได้มากกว่า ทั้งเรื่องฝึกความอดทน ช่วยด้านการจดจำ และจากที่เคยเป็นคนเงียบๆ ขี้อาย ไม่ค่อยชอบพูด การเล่นดนตรีช่วยให้เธอได้เจอสังคม ได้ร่วมพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวง ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้นและอะไรคงไม่สำคัญเท่าใจรัก”

                        ดนตรี คือความสุนทรียะทางอารมณ์ที่สามารถสรรค์สร้างความสุข ความเพลิดเพลินใจให้ผู้ที่ได้สัมผัส ทั้งยังช่วยเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ อาทิ ด้านสังคม จิตใจ และสติปัญญา ผู้ที่มีความสนใจทางด้านดนตรีต้องมีการฝึกฝนทักษะ บางคนมีพรสวรรค์ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็กๆ บ้างเล่นเป็นงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เฉกเช่น สาวน้อยวัยทีนเอจ "มะเหมี่ยว" พรชดา เครือคช มิสทีนไทยแลนด์ ปี 2556 กำลังร่ำเรียนชั้น ม.4 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ที่หลงใหลในเครื่องกำเนิดเสียงเพลงมาตั้งแต่จำความได้ หากนับย้อนไปตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยกยันวัยละอ่อนสามารถเล่นได้ถึง 8 ชนิด ทั้งเครื่องดนตรีไทยและสากล

                        "พูดถึงดนตรีหนูมีความชื่นชอบด้านนี้มากๆ ชอบมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ช่วง ป.1-ป.2 คุณแม่เล่าให้ฟังว่า หนูเคยเล่นขิม ตอนนั้นคิดว่าถูกจับให้เล่น ยังเล็กอยู่คงไม่ได้ชื่นชอบอะไรขนาดนั้น โตขึ้นหน่อยเริ่มจำความได้ก็เล่นในวงดนตรีไทยของโรงเรียนจนถึงชั้น ป.4 ขิมเป็นเครื่องตีที่ให้เสียงไพเราะ เด็กผู้หญิงชื่นชอบมาก เพราะดูสวย สง่า มีความเป็นกุลสตรี ต่อมาห้องดนตรีไทยถูกปรับปรุง จึงหันเหความสนใจมาเรียนดนตรีสากล เลือกเล่นเปียโน ทางครอบครัวก็ให้การสนับสนุนดีมาก ซื้อเปียโนมาไว้ให้ซ้อมที่บ้านเลย แต่หนูไม่ค่อยถนัด คิดว่ามันยาก เพราะนิ้วสั้นจะถูกครูดุบ่อยๆ ก็เลยเลิกเล่นไปเลย พอสองปีหลังผันตัวเข้าร่วมวงโยธวาทิตของโรงเรียน เล่นคลาริเนต ตามเพื่อน กระทั่งนิ้วเริ่มใหญ่ขึ้น เวลากดเสียงรู้สึกเจ็บเลยเปลี่ยนมาเล่นแซกโซโฟนแทน คิดว่าง่ายกว่า ด้วยเวลาเป่าใช้ลมน้อยกว่า" สาวน้อยย้อนความถึงถนนต้นสายทางดนตรีของเธอให้เราฟังด้วยน้ำเสียงค่อนข้างเบา

                        ด้วยความที่เป็นคนไม่ค่อยชอบพูด แต่ก็ยังแอบเห็นรอยยิ้ม ขี้เล่นของเธอเวลาหยุดนิ่งคิด สักครู่ก็เริ่มเล่าต่อว่าหลังจบชั้นประถมศึกษาเป็นช่วงก้าวข้ามวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ยังให้ความสนใจด้านดนตรี ชอบดูคลิปในเว็บไซต์ยูทูบ กอปรกับการศึกษาช่วงชั้นมัธยมถึงจุดที่เธอต้องตัดสินใจ ด้วยการเรียนการสอนวิชาดนตรีนั้นให้อิสระแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ คือสามารถเลือกเองได้ว่าจะเรียนดนตรีสากลหรือดนตรีไทย น่าแปลกที่เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเรียนดนตรีสากลมากกว่า ดูจากจำนวนนักเรียนทั้งห้องกว่า 30 คน เลือกดนตรีไทยเพียง 5 คนเท่านั้น

                        "พอหนูขึ้นชั้น ม.1 ต้องเลือกว่าจะเรียนดนตรีประเภทไหน เลยชักชวนเพื่อนในกลุ่มอีก 4 คน เทใจให้ดนตรีไทย คิดว่าเป็นดนตรีที่มีเสน่ห์ เสียงบรรเลงที่ดูอ่อนหวานเป็นเอกลักษณ์ อีกอย่างเราเป็นคนไทยก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้ หนูเลือกเล่นระนาด ซึ่งมี 2 ประเภท คือ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม มีความแตกต่างกันที่โทนเสียงและจำนวนลูก ระนาดเอกให้เสียงนุ่มนวลมี 21 ลูก ส่วนระนาดทุ้มมี 17-18 ลูก จะให้เสียงทุ้มต่ำกว่า พอตัดสินใจได้แล้วก็เริ่มเรียนปกติในคาบเรียน เริ่มจากศึกษาประวัติของเครื่องดนตรี การท่องจำตัวโน้ต ที่สำคัญก่อนเล่นทุกครั้งต้องมีการไหว้ครู โดยแขวนมาลัยดอกไม้แล้วก้มกราบเป็นการแสดงถึงความเคารพครูและเครื่องดนตรี" มิสทีนไทยแลนด์แจง

                        นอกจากระนาดแล้ว ช่วง ม.2 ยังมีเพื่อนชวนสาวขี้อายคนนี้ไปเข้าวงออเคสตรา ซึ่งเรื่องดนตรีเธอเองก็ไม่ปฏิเสธ เข้าไปเป็นมือเชลโล พร้อมเรียนรู้ดนตรีชนิดใหม่ โดยใช้คาบพิเศษฝึกซ้อมเป็นการเพิ่มทักษะควบคู่ไปกับการเรียนดนตรีในห้อง ทำให้เห็นความแตกต่างของการเล่นดนตรี 2 ประเภทนี้ชัดเจน อย่างจำนวนผู้เล่นและแนวเพลงในวงออเคสตรานั้น มีผู้เล่นมากกว่า 100 คน เป็นดนตรีแนวโอเปร่า เวลาซ้อมจะค่อนข้างเครียดและจริงจังมาก ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง แต่ดนตรีไทยเล่นในวงซ้อมกับเพื่อนเพียง 5 คน อีกทั้งสามารถเล่นคนเดียวได้ เลยให้อารมณ์จากการเล่นที่แตกต่าง แต่ความสนุกของการเล่นและความน่าทึ่งของเสียงที่บรรเลงออกมานั้นเหมือนกัน

                        นั่นเองคือการบ่มเพาะประสบการณ์ทางดนตรี ที่ทำให้เธอโดดเด่นกว่าใคร เนื่องจากมีพื้นฐานทักษะที่ดีอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นสาวน้อยลุกขึ้นไปหยิบเครื่องดนตรีมา พร้อมบอกกับเราว่า นี่คือ พิณ เป็นดนตรีพื้นบ้านอีสาน เธอรู้จักและเริ่มเรียนตอนชั้น ม.3 ตอนนี้ขึ้นมัธยมปลายก็ยังคงเล่นร่วมกับวงโปงลางของโรงเรียน ประกอบด้วย พิณ เบส โปงลาง กลองชุด และกลองยาว ซึ่งก็คือกลุ่มเพื่อนที่เธอบุกเบิกตั้งแต่แรกเริ่ม

                        "พิณเป็นเครื่องดีดที่เล่นง่ายมาก มีลักษณะคล้ายๆ กีตาร์ มี 4 สาย ใช้ปิ๊กในการดีด เริ่มแรกเรียนการไล่เสียงโดยฝึกจากเครื่องที่มีตัวโน้ตติดไว้ ใช้เวลาเพียง 3 คาบเรียนก็จำการดีดเสียงได้โดยที่ไม่ต้องดูกระดาษที่แปะไว้ จากนั้นก็เริ่มต่อเพลง มีรู้สึกท้อบ้างเวลาต่อเพลงไม่ทันเพื่อน ก็จะทุ่มเทใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาซ้อมเพิ่มเติมคนเดียวจนทัน พอเล่นเก่งแล้วก็หันมาเล่นซึง เครื่องดีดพื้นบ้านของภาคเหนือ เล่นคล้ายๆ พิณแต่ง่ายกว่า เพราะมีแค่ 3 สาย และที่ทำให้รู้สึกปลื้มปริ่มนั้น เวลามีกิจกรรมของโรงเรียนอย่างวันสุนทรภู่ งานเปิดโลกกิจกรรม ก็มีโอกาสได้แสดงฝีมือและยังเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกวดมิสทีนไทยแลนด์ด้วย ส่วนเพลงที่ใช้เล่นประจำคือ เพลงเปิดวง ที่มีจังหวะสนุก ชอบตรงท่อนโซโล เพลงล่องแม่ปิง และเพลงสาวเชียงใหม่ มีจังหวะช้าๆ" สาววัยใสเล่าด้วยน้ำเสียงเปี่ยมความสุข

                        แม้การทุ่มเทเวลาให้แก่กิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนจะมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับกลับมานั้นคือคุณประโยชน์ที่ได้มากกว่า ทั้งเรื่องฝึกความอดทน ช่วยด้านการจดจำ และจากที่เคยเป็นคนเงียบๆ ขี้อาย ไม่ค่อยชอบพูด การเล่นดนตรี ช่วยให้เธอได้เจอสังคม ได้ร่วมพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวงทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้นและอะไรคงไม่สำคัญเท่าใจรัก จากนั้นนางงามวัยทีนก็เริ่มบรรเลงบทเพลงเปิดวงให้เราฟัง...