ข่าว

เมกะโปรเจกท์'ทวาย'ทุนไทย...รุกวิถีชาติพันธุ์

เมกะโปรเจกท์'ทวาย'ทุนไทย...รุกวิถีชาติพันธุ์

17 ก.พ. 2557

เมกะโปรเจกท์'ทวาย' ทุนไทย...รุกวิถีชาติพันธุ์ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

               ล้อรถยนต์บดไปตามถนนลูกรัง ลัดเลาะชายขอบเขาละอองฝุ่นลอยฟุ้งเปลี่ยนใบไม้ป่าสีเขียวสองข้างทางเป็นสีขุ่นเทา เป้าหมายการเดินทางกว่า 100 กิโลเมตร จากด่านชายแดนบ้านน้ำพุร้อน จ.กาญจนบุรี มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองทวาย เขตตะนาวศรี สหภาพเมียนมาร์ "คม ชัด ลึก" ร่วมสำรวจความคืบหน้าและผลกระทบจากโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย !!

               จากร่องรอยการพัฒนาได้นำพาหวาดหวั่นมาสู่ชุมชนสองฝั่งถนนสายใหม่ อย่างที่ "บ้านยองดง" หมู่บ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่คุ้มครองของกองทัพเคเอ็นยู ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ชาวบ้านยังใช้วัวเทียมเกวียน ยังชีพด้วยการทำนา สวนหมาก และมะม่วงหิมพานต์ กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป...

               "ซอโค" ตัวแทนชุมชนบ้านยองดง และสมาชิกเครือข่ายพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ยอมรับว่า เมื่อพม่าเปิดประเทศและมีการเจรจาหยุดยิงกับกองทัพเคเอ็นยู สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ การหลั่งไหลของทุนต่างชาติ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีการตัดถนน อพยพชาวบ้านในพื้นที่โครงการ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับสิทธิค่าเวรคืนที่ดิน 

               จึงเป็นครั้งแรกที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงพุทธ คริสต์ มุสลิม และชาวทวาย จาก 20 หมู่บ้านกว่า 300 คนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนเชื่อมต่อประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Road link) 132 กิโลเมตร มารวมตัวกันปกป้องทรัพยากรและปกป้องสิทธิ์ของพวกเขาด้วยพลังอหิงสา ขึ้นป้ายคัดค้าน "หยุดสร้างมาบตาพุดอีกแห่งในทวาย" และล่าสุดจัดกิจกรรมบวชวังปลาและบวชป่า ริมแม่น้ำ "คะมอทเวย์" เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรักษาทรัพยากรน้ำและป่าไม้แบบดั้งเดิมเอาไว้

               “ตาน ซิน” สมาชิกสมาคมพัฒนาทวาย บอกว่า แม้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายจะดำเนินไปไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากถูกแรงต่อต้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักอนุรักษ์จาก 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการหยุดชะงัก โดยเฉพาะในส่วนท่าเรือน้ำลึกนั้น บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ นอกจากการสร้างหมู่บ้านไว้รองรับการย้ายครัวเรือนกว่า 32,000 ครัวเรือนและการสร้างอาคารสำนักงานเท่านั้น

               ทั้งนี้ ชาวทวายยอมรับว่า พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ แต่ถนนได้ตัดผ่านที่ดินทำกินของพวกเขา โดยไม่ได้เงินชดเชยหรือสิทธิอันชอบธรรมใดๆ ยังไม่นับรวมปัญหาทับซ้อนต่างๆ ทั้งเรื่องมลพิษจากเหมืองถ่านหิน, ท่อก๊าซไทย-พม่า ตลอดจนปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งถูกนายทุนพม่าและต่างชาติ เข้ามาลงทุนปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน

               “อู จอ ติท” อดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของพม่าตั้งแต่ปี 1988 มองว่า การสร้างเส้นทางถนนเชื่อมต่อชายแดนไทย-พม่า นั้น ที่ดินในเขตตะนาวศรีส่วนมากเป็นที่ดินทับซ้อน ซึ่ง "เคเอ็นยู" กับ "รัฐบาลพม่า" ออกกฎหมายเรื่องที่ดินต่างกัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลพม่าก็พยายามขายที่ดินให้นายทุนใช้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งอาจมีนักลงทุนไทยอยู่เบื้องหลังบางส่วน และเมื่อมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเกิดขึ้น ที่ดินก็ปรับราคาสูงขึ้น 8-10 เท่า ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เร่งทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับรัฐบาลพม่า โดยไม่ผ่านความเห็นของกองทัพเคเอ็นยู ส่วนชาวบ้านก็ไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินของตนเอง

               “ซอ แฟรงกี้” หนุ่มนักพัฒนาท้องถิ่น เสริมว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเผชิญจากภัยคุกคามภายนอกมามาก โดยเฉพาะช่วงเปิดประเทศมีทุนต่างชาติเข้ามาหวังผลทางความเจริญแต่แล้วก็กลายเป็นเครื่องมืออันตรายที่ทำลายทรัพยากรชุมชน

               ใกล้อาทิตย์อัสดง..ริมชายหาด "เมามะกัน" แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองทวาย คนไทยอาจคุ้นชื่อชายหาดแห่งนี้ จากข่าวความเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" เคยแวะไปเยือนการก่อสร้าง โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเมื่อต้นปี 2556 ในวันนี้ยังเห็นเด็กๆ เล่นน้ำทะเลกันอย่างสนุกสนาน แต่อีก 6-10 ปีข้างหน้า หากโครงการแล้วเสร็จ...วิถีชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด?!!

“ผีเสื้อกระพือปีก” ที่เขตตะนาวศรี

               ตั้งแต่ปี 2553 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (มหาชน) จำกัด เริ่มพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย บนพื้นที่ 156,250 ไร่ สัมปทาน 75 ปี  ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 10 เท่า ดำเนินโครงการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2554-2558 สร้างท่าเรือน้ำลึกส่วนที่ 1 (ยังไม่ได้ก่อสร้าง) และสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทย (ยังเป็นถนนลูกรัง), ระยะที่ 2 ปี 2556-2561 ก่อสร้างถนนเครือข่ายสาธารณูปโภค ศูนย์การค้า และศูนย์ราชการ และระยะที่ 3 ปี 2559-2563 ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกส่วนที่สอง สร้างรถไฟ ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

                ต่อมาบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ขาดสภาพคล่อง ในปี 2555 รัฐบาลไทย สมัย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ประกาศจะเข้ามาดูแลโครงการทวายเต็มตัว และมีกระแสว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ขอหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ อีก 75 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลรับผิดชอบ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า สภาพัฒน์จะระดมทุนอย่างไร เพราะไม่สามารถนำงบประมาณแผ่นดินไปลงทุนต่างประเทศได้

               ขณะที่สมาคมพัฒนาทวาย ระบุว่า โครงการทวายจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวทวายกว่า 83,000 คน ในบริเวณ 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ 156,250 ไร่ ของท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายในเขตนาบูเล่ ซึ่งมีประชากร 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือนใน 21 หมู่บ้านต้องถูกอพยพ 2.หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งมีแผนจะสร้างเขื่อนที่แม่น้ำตะลายยาร์ มีประชากร 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน ที่ต้องถูกอพยพ และ 3.พื้นที่ก่อสร้างถนนระยะทาง 132 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับบ้านน้ำพุร้อนของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 50,000 คนที่ได้รับผลกระทบ

               นอกจากนี้ ชาวทวายยังกังวลเกี่ยวกับสัมปทานการทำเหมืองถ่านหินของนักลงทุนไทย 2 บริษัท ซึ่งจะดำเนินการส่งถ่านหิน 40 ล้านตัน ผ่านทางชายแดน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเหมืองถ่านหิน 2 แห่งนี้ ได้รับสัมปทานแล้ว 60 เอเคอร์ และกำลังขยายเป็น 8,000 เอเคอร์ ซึ่งจะเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย !!

........................................

(หมายเหตุ : เมกะโปรเจกท์'ทวาย'    ทุนไทย...รุกวิถีชาติพันธุ์ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)