ข่าว

ผลศึกษาชี้'แฟรคกิ้ง'สะเทือนแหล่งน้ำ

ผลศึกษาชี้'แฟรคกิ้ง'สะเทือนแหล่งน้ำ

07 ก.พ. 2557

ผลศึกษาชี้การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซด้วยวิธีที่เรียกว่า'แฟรคกิ้ง (Fracking)'ในสหรัฐฯ ใช้น้ำปริมาณมหาศาล ซ้ำเติมพื้นที่ภัยแล้งวิกฤติ

 
                   7 ก.พ.57 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการศึกษาของ เซเรส กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในภาคธุรกิจ เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า นับจากปี 2554 มีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่อยู่ใต้ดิน ด้วยวิธีแฟรคกิ้งตั้งแต่รัฐแคลิฟอร์เนียจนถึงรัฐเท็กซัส เกือบ 4 หมื่นแห่ง สามในสี่ตั้งอยู่ในพื้นที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ และร้อยละ 55 อยู่ในพื้นที่ที่กำลังเผชิญภัยแล้ง 
         
                   ทั้งนี้ ไฮดรอลิค แฟรคกิ้ง คือ กระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติที่อยู่ลึกลงไปในชั้นหิน โดยการอัดแรงดันน้ำและสารเคมีทำให้เกิดรอยร้าวในชั้นหิน ซึ่งถูกโจมตีจากนักอนุรักษ์ว่าทำลายสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง 
         
                   โดยผลศึกษาชี้ว่า การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมด้วยวิธีการนี้ ใช้น้ำปริมาณ 9.7 หมื่นล้านแกลลอน และส่วนมากแหล่งที่ตั้งขุดเจาะ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำเรื้อรัง หรือเผชิญภัยแล้งหลายปี จึงจุดประเด็นใหม่เกี่ยวกับต้นทุนที่มองไม่เห็นในกระแสใช้พลังงานแหล่งใหม่ในสหรัฐ
           
                   ครึ่งหนึ่งน้ำ 9.7 หมื่นล้านแกลลอนนี้ ใช้ในการขุดเจาะในรัฐเท็กซัส ที่เผชิญภัยแล้งรุนแรงมานานหลายปี แม้ว่า ขณะนี้ การทำเกษตรและเมือง ยังเป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่สุด แต่รายงานเตือนว่า การขุดเจาะใน อีเกิล ฟอร์ด ศูนย์กลางการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซด้วยวิธีแฟรคกิ้งในช่วงสามปีที่ผ่านมา กำลังส่งผลกระทบต่อชุมชนในชนบทเล็กๆ อย่างหนัก ปัจจุบันชุมชนเล็กๆ จำนวนหนึ่งในเขตที่ตั้งขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในเท็กซัส ไม่มีน้ำใช้ หรือเสี่ยงจะไม่มีน้ำใช้ในอนาคตอันใกล้ สาเหตุมาจากภัยแล้งและความต้องการน้ำเพื่อการแฟรคกิ้งประกอบกัน 
         
                   ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินภัยแล้งเมื่อเดือนที่แล้ว ร้อยละ 96 ของการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซใหม่ๆ ด้วยวิธีการแฟรคกิ้ง ล้วนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการแก่งแย่งใช้น้ำอย่างดุเดือดอยู่แล้ว  ส่วนที่รัฐโคโลราโด บ่อน้ำมันและก๊าซใต้ดินเกือบทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ที่น้ำผิวดินและใต้ดิน ต้องแย่งกันระหว่างเมืองกับการเกษตร 
         
                   รายงานเตือนว่า หากไม่มีกฎระเบียบใหม่ออกมากำกับการใช้น้ำ อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างอุตสาหกรรมพลังงานแหล่งใหม่กับผู้ใช้น้ำอื่นๆ