ข่าว

"เกษตรกร"ต้องเสียค่าโง่ซ้ำซากตกเป็นเหยื่อเซ่นคดี "ทุจริตลำไย"

"เกษตรกร"ต้องเสียค่าโง่ซ้ำซากตกเป็นเหยื่อเซ่นคดี "ทุจริตลำไย"

22 มิ.ย. 2552

“ลำไย” ผลไม้ขึ้นชื่อของภาคเหนือและสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศที่ถูกผูกโยงกับการเมืองมายาวนาน ตลาดลำไยถูกวงจรคอรัปชั่นเข้ามาฝังรากลึกโดยอาศัยกลไกของรัฐบาล สร้างความเสียหายให้ระบบตลาดและเกษตรกรจนแทบสิ้นหวังกับกระบวนการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยเฉพาะกรณี ”ลำไ

นับตั้งแต่รัฐบาลดำเนินโครงการรับจำนำลำไยอบแห้งปี 2546-2547 ก็มีกลิ่นของความไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่การเปิดรับจำนำลำไยปี 2546 จำนวน 2.1 หมื่นตันต่อเนื่องถึงการว่าจ้างเอกชน คือ บริษัท ป.เฮง อินเตอร์เทรด จำกัด เข้ามารับจ้างอบลำไยจากเกษตรกรส่งให้รัฐบาล เกษตรกรนำลำไยมอบให้ ป.เฮง อบแล้วส่งมอบให้รัฐ เป็นลำไยสด 9 หมื่นตัน แต่ปรากฏว่ามีการส่งมอบลำไยอบแห้งเข้าคลังเพียง 4 หมื่นตัน มีลำไยหายไปถึง 4 หมื่นตัน

 ขณะเดียวกัน อ.ต.ก.ในฐานะหน่วยงานรัฐที่เป็นคู่สัญญาได้ยกเลิกสัญญากับ ป.เฮง พร้อมแจ้งความดำเนินคดี แต่จนถึงปัจจุบันคดีไม่มีความคืบหน้า แม้จะพบว่ามีลำไยหายไปถึง 4 หมื่นตัน และช่วงเวลาใกล้เคียงกันยังพบมีการส่งออกลำไยอบแห้งในจำนวนเท่ากันไปตลาดจีนด้วย

 กระทั่งล่าสุด ครม.มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ให้ทำลายลำไยอบแห้งทั้งหมด พร้อมมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บริหารจัดการดูแลการทำลายลำไยทั้งหมดที่เหลือในสต็อกทั่วภาคเหนือจำนวน 59 คลัง ใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และ ลำปาง แบ่งเป็นคลังขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จ.เชียงใหม่ 2 หมื่นตัน จ.ลำพูน 2 หมื่นตัน จ.เชียงราย 3,000 ตัน จ.ลำปาง 3,000 ตัน และโกดังขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ จ.ลำพูนอีก 606 ตัน
วิธีการทำลายลำไยแม้อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์ แต่แนวทางที่รัฐบาลวางไว้เบื้องต้น คือว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยการทุบเปลือกลำไย หรือบดละเอียดอัดแท่งแล้วขนไปเผาหรือฝังกลบ

 นายวิชาญ จารธรรม รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาลำไยครบวงจรภาคเหนือ มองว่า การเปิดประมูลให้เอกชนเพียงรายเดียวเข้ามาดำเนินการ เกรงจะเป็นการล็อกสเปกเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผลประโยชน์ เพราะวิธีการทำลายต้องขนไปฝังกลบหรือเผา มีโอกาสสูงมากที่ลำไยจะเล็ดลอดออกมาและถูกนำมาปลอมปนกับลำไยอบแห้งในฤดูกาลใหม่

 แม้รัฐมองว่าสามารถควบคุมและป้องกันได้ เพราะกำหนดเวลาจะทำหลังหมดฤดูกาลแล้ว แต่อย่าลืมว่าลำไยอบแห้งยังหมุนเวียนในตลาดต้องใช้เวลาขายอย่างน้อย 1 ปี จึงจะหมด ซึ่งลำไยอบแห้งปี 2547 ไม่ได้เสียหายหมดทุกกล่องเหมือนที่รัฐพยายามให้ข้อมูล มิฉะนั้นจะมีความพยายามนำลำไยลอตดังกล่าวออกจากโกดังได้อย่างไร

 นายวิชาญ บอกว่า เกษตรกรไม่ได้คัดค้านการทำลายลำไยอบแห้งเก่า แต่สิ่งที่กังวลคือ ขั้นตอนการทำลายเพราะรัฐอาจสูญเสียงบประมาณโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมา เช่นเดียวกับที่เคยว่าจ้างเอกชนรายเดียวให้อบลำไย แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลกลับสูญเงินก้อนนั้น 

 "เกษตรกรไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอนได้อย่างโปร่งใส การสั่งทำลายลำไยอบแห้งปี 2546-2547 อาจซ้ำรอยเดิมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 และท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบและตกเป็นเหยื่อคือเกษตรกร" นายวิชาญ กล่าว

 นายวิชาญ ยังบอกอีกว่า รัฐบาลควรบดและทุบเปลือกลำไยให้ละเอียดแล้วขายให้เกษตรกรหน้าโกดัง เพื่อนำไปทำปุ๋ยกิโลกรัมละ 50 สตางค์ นอกจากป้องกันลำไยเก่าทั้งหมดปลอมปนกับลำไยใหม่ ยังตรวจสอบสต็อกไปในตัวด้วย
 
 เหตุใดรัฐบาลจึงเลือกทำลายลำไยทั้งหมดด้วยวิธีการนี้ เป็นคำถามที่เกษตรกรหลายคนตั้งข้อสงสัย เช่นเดียวกันนายประเทือง คงรอด ประชาสัมพันธ์คณะกรรมการแก้ไขปัญหาลำไยครบวงจรภาคเหนือ ที่มองว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการทำลายลำไยครั้งนี้คือกลุ่มที่เข้ามารับจ้างรัฐดำเนินการ เพราะได้รับงบทำลายถึงกิโลกรัมละ 1.50 บาท หรือกว่า 90 ล้านบาท ขณะเดียวกันคือกลุมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ทั้งลำไยปี 2546 ที่มีลำไยเก่าปี 2545 ปลอมปนอยู่ และลำไยปี 2547 ที่มีไม่ครบตามจำนวน

 ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังเดินหน้าร่างทีโออาร์เพื่อวางแผนทำลายลำไยอบแห้งค้างสต็อก  เกษตรกรที่ตกเป็นเหยื่อคดีทุจริตลำไยปี 2547 รวมทั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้เซ็นชื่อในใบ ลย.ให้เกษตรกรก็กำลังถูกศาลพิพากษา ซึ่งคดีทุจริตที่เกิดขึ้นมีการดำเนินคดีต่อเกษตรกรใน จ.ลำพูนไปแล้วกว่า 3,000 ราย มีเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งข้าราชการและพนักงานของรัฐระดับ 10 จำนวน 3 คน ระดับ 9 จำนวน 3 คน ระดับ 8 จำนวน  5 คน ร่วมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นนิติบุคคล 5 บริษัท และเป็นบุคคลธรรมดา 20 คน ในจำนวนนี้มีนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังใน จ.ลำพูนเกี่ยวข้องด้วย

 นายภิรมย์ จามพฤกษ์ เลขาธิการสมัชชาเกษตรกรผู้เดือดร้อนจากคดีทุจริตลำไย จ.ลำพูน กล่าวว่า  มีเกษตรกรถูกดำเนินคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารใบ ลย. แจ้งความเท็จไปแล้วประมาณ 2,000 ราย ถูกศาลตัดสินและเสียค่าปรับแทนการจำคุกรายละ 6,000 บาท บางรายไม่มีเงินต้องกู้ยืมมาจ่ายค่าปรับศาล ยังเหลือเกษตรกรอีกราว 2,000 ราย ที่อัยการทยอยส่งฟ้อง รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านใน 8 อำเภอ ที่เซ็นชื่อรับรองในใบ ลย.ให้เกษตรกรลูกบ้าน ก็ถูกศาลตัดสินจำคุก มีคดีติดตัวคนละไม่ต่ำกว่า 10 คดี เพราะบางรายเซ็นชื่อรับรองให้ลูกบ้านไปกว่า 40-50 คน

 "ขณะนี้นายบันเทิง วงศ์ฝั้น กำนันตำบลตะเคียนปม และอีกหลายตำบลใน อ.ทุ่งหัวช้าง ถูกศาลตัดสินจำคุกเกือบหมดแล้ว ในส่วนของนายบันเทิงอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์-ฎีกาแต่ละคดี และกำลังถึงคิวกำนันผู้ใหญ่บ้านใน อ.แม่ทา ที่ศาลจะเรียกตัวไปฟังคำตัดสิน" นายภิรมย์ กล่าว

 นายภิรมย์ กล่าวอีกว่า เกษตรกรและกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ไม่มีเจตนาทุจริต กลับถูกดำเนินคดี ศาลตัดสินจำคุก แต่ข้าราชการทั้งเกษตรตำบล-เกษตรอำเภอกลับถูกกันเป็นพยานโจทก์ ซัดทอดให้เกษตรกรติดคุกแทน ทั้งที่มีส่วนร่วมในการเซ็นเอกสารและว่าจ้างเกษตรกรรายละ 1,000-3,000 บาท ให้ข้อมูลเท็จเรื่องพื้นที่เพาะปลูกในใบ ลย." นายภิรมย์ กล่าว

 นายภิรมย์ ยังระบุด้วยว่า ในชั้นสอบสวนตำรวจหว่านล้อมให้เกษตรกรเซ็นชื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยระบุว่าจะกันไว้เป็นพยาน แต่สุดท้ายกลายเป็นผู้ต้องหา ส่วนกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เซ็นใบ ลย.ในชั้นอัยการแนะนำให้รับสารภาพโดยอ้างว่าจะได้สาวถึงตัวการ แต่สุดท้ายกลับต้องติดคุก นอกจากข้าราชการจะหลุดพ้นจากคดีทุจริตนี้ ขบวนการทุจริตที่มีกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น-ข้าราชการ-เอกชนรวมอยู่ด้วย กลับยังลอยนวลไม่ถูกศาลตัดสินจำคุก จึงทำให้เกษตรกรขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

 สำหรับคดีทุจริตลำไยอบแห้งปี 2547 มีบริษัทเอกชนร่วมยักยอกลำไยอบแห้งกับบริษัท ป.เฮง ทั้งหมดเป็นคู่สัญญากับ อ.ต.ก.และถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ 5 บริษัท คือ บริษัท บุญทิพย์ฟู้ดส์โปรดักส์ จำกัด มีนางจิราพร จันทร์บรรจบ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท พิสิฐอุตสาหกรรม จำกัด มีนายประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูน เป็นกรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วน ซีเต๋อ มีนางเพ็ญศิริ ขัดมะโน เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท ที .อี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท อโกรโปรดักส์เน็ทเวิร์ค จำกัด มีนายสายันต์ เชื้อเจ็ดตน เป็นกรรมการ หน่วยรับซื้อร่วมทุจริตจำนวน 151 หน่วย ข้าราชการระดับรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไล่มาจนถึงเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. อีกจำนวนหนึ่ง

 นับเป็นเครือข่ายขบวนการโกงที่ฝังรากลึกในวงการลำไยไทยจนยากจะถอนรากถอนโคนได้ จึงเป็นชะตากรรมของเกษตรกรที่ยังหนีไม่พ้นขบวนการโกงระดับชาติ

จันจิรา จารุศุภวัฒน์ 11554139